เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงกรณีผู้ประกอบการจากประเทศจีน หรือ ‘ทุนจีนเทา’ เข้ามาเปิดบริษัทและประกอบธุรกิจครบวงจรในประเทศไทยเป็นจำนวนมากจนสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทย ว่า จะมีการแข่งขันด้านราคา ผู้ซื้อจะได้ประโยชน์จากการได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง แต่มุมการเข้ามาของชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจมรประเทศไทย ผลประโยชน์สุดท้ายจะไปตกอยู่ที่ใคร
รัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้กลยุทธ์ ในการปรับสมดุลทางการค้าให้อยู่ในกรอบความพอดี เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการชาวไทยจนถูกเอารัดเอาเปรียบและเดือดร้อน ถือว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐควรให้ความสำคัญ
นายนณริฏ กล่าวว่า หน่วยงานรัฐบาลสามารถแก้ไข 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1.สถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจจะต้องเท่าเทียมกัน ถ้าผู้ประกอบการต่างชาติ ไม่ว่าจากประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆ ต้องการเข้ามาเพื่อแข่งขันทางการค้ากับผู้ประกอบการประเทศไทย จะต้องมั่นใจว่ามีการกำหนดมาตรฐานสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม เช่นสินค้าในภาคอุตสาหกรรม หรือจากภาคอื่น
หน่วยงานรัฐบาลจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนในเรื่องการเท่าเทียมกันทั้งผู้ประกอบการชาวไทยและชาวต่างชาติให้อยู่ในกรอบในการประกอบธุรกิจที่ถูกต้อง ทั้งการผลิตสินค้าและบริการ จะต้องเข้มงวดเรื่องของคุณภาพ
รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเช็คผู้ประกอบการชาวต่างชาติ ว่าธุรกิจที่ประกอบอยู่นั้น ทำเรื่องยื่นขอจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และสินค้าที่นำเข้าหรือผลิตนั้น มีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่
นายนณริฏ กล่าวว่า 2.การเข้มงวดมาตรฐานการเสียภาษี โดยผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ควรมีมาตรฐานการเสียภาษีเช่นเดียวกัน ไม่ควรมีใครได้รับการยกเว้น ควรเดินหน้า ร่าง พ.ร.บ. Global minimum tax ซึ่งจะบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน 2.8 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้หน่วยงานรัฐจะต้องตรวจสอบว่าผู้ประกอบการต่างชาติเสียภาษีการนำเข้า หรือเสียภาษีตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ ต้องเช็คให้ละเอียดว่าบริษัทมีการหลบภาษีหรือไม่ เพราะการเลี่ยงภาษีจะเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบมาก
3. จะต้องมีการคุมกระบวนการจัดการการผลิตเพื่อให้สินค้าและบริการ มีความโปร่งใส และถูกกฎหมาย และหน่วยงานรัฐควรจะต้องให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ได้มากที่สุด โดยผู้ประกอบการทุกฝ่ายต้องมีการเคารพสิทธิทางด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ทำผิดกฎหมาย และจะต้องไม่มีนอมินีเข้ามาแบบผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน
นายนณริฏ กล่าวว่า หากหน่วยงานรัฐสามารถนำ 3 ภาคส่วนดังกล่าวไปปรับใช้ได้จะทำให้การแข่งขันธุรกิจอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ลดการเสียเปรียบ ถ้าสภานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจเป็นมาตรฐานเดียวกันก็ไม่ต้องสร้างมาตรการอื่นมาแก้ไขปัญหาตรงนี้อีก เพราะโดยส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยที่ต้องกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วอุ้มแต่ธุรกิจไทย เพียงแต่ทุกอย่างต้องปรับให้มีการแข่งขันที่สมดุล จึงจะเกิดประโยชน์
นายนณริฏ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มทุนจีนธุรกิจที่เข้ามาประกอบธุรกิจสีเทานั้น อย่างแรกต้องแยกกับธุรกิจสีขาวก่อน ธุรกิจสีขาวคือการนำเข้ามาเพื่อมาแข่งขันกับธุรกิจประเทศไทย อาทิ แพลตฟอร์ม เทมู (Temu) หรือเข้ามาโดยการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนธุรกิจสีเทานั้นคือธุรกิจที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ดังนั้น หน่วยงานรัฐจะต้องมีการเข้มงวดมากขึ้น ตนเองเคยได้ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มธุรกิจสีเทามักจะมาแบบขบวนการ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ จำพวกบ่อน การพนันออนไลน์ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะหาช่องโหว่ในการทำธุรกิจ อาจจะไปร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในประเทศไทย
ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือหน่วยงานรัฐจะต้องทำหน้าที่ปกป้องผู้ประกอบการไทยที่จะเสียเปรียบกลุ่มคนแบบนี้ ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานตำรวจ ทหาร ที่เข้ามาช่วยกันกำจัด โดยสิ่งที่เป็นอันตรายไม่อยากให้เกิดขึ้นที่สุดในอนาคตคือการที่กลุ่มนายทุนสีเทาเหล่านี้เข้ามาแทรกซึมครอบงำหน่วยงานพิทักษ์สันติราษฎร์และดึงเข้ามาเป็นพวกเดียวกันเพราะกลายเป็นว่าจะประเทศไทยจะเสียเปรียบและสามารถนำไปสู่วิกฤตของชาติได้