คิดเห็นแชร์ : คาด GDP ไทย 2Q-3Q จะโตต่อเนื่อง

คาด GDP ไทย 2Q-3Q จะโตต่อเนื่อง

คาด GDP ไทย 2Q-3Q จะโตต่อเนื่อง

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ผมจะแชร์งานวิจัยฯ ของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่คาดการณ์แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะรายงาน GDP 2Q/2567 ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอฯ คาด GDP 2Q/2567 จะขยายตัวบวก 2.8% YoY เร่งตัวขึ้นจากบวก 1.5% YoY ใน 1Q/2567 และแนวโน้ม GDP 3Q/2567 มีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจาก 2Q/2567

ปัจจัยบวกที่ช่วยให้ GDP 2Q/2567 ขยายตัวเด่น คือ

Advertisement

1.การใช้จ่ายภาครัฐใน 2Q/2567 แตกต่างจากหลายไตรมาสที่ผ่านๆ มา ที่เป็นปัจจัยลบถ่วงอัตราการขยายตัว GDP แต่หลังจากรัฐบาลสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนเป็นต้นมา ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนให้คาดการณ์ว่า GDP 2Q/2567 ถึง 2Q/2568 จะสามารถกลับมาขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

2.การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่เริ่มชะลอตัวลงเนื่องจากฐานที่สูงขึ้น หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับแรงซื้อในประเทศที่ซบเซาลงมาก เนื่องจากฐานการเงินของคนในประเทศไทยมีแนวโน้มแย่ลงสะท้อนจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

Advertisement

3.ดุลบัญชีเดินสะพัด 2Q/2567 เกินดุล 9.365 หมื่นล้านบาท (2.552 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1Q/2567 ที่เกินดุล 9.359 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 2.612 พันล้านดอลลาร์)

4.ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน 2Q/2567 เพิ่มขึ้น 1.0% เทียบปีต่อปี สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย การลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นในระดับต่อเนื่องจากการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 57.8% อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่ถ่วงการขยายตัว GDP 2Q/2567 คือ ผลผลิตภาคการเกษตรลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและร้อนมากจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย 3Q /2567 คาดว่าปัจจัยหนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยหนุนให้ GDP 3Q/67 เติบโต YoY ได้ต่อเนื่อง เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และการเร่งเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ คือ ช่วงเดือนกันยายน และสำหรับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้หลังจากเดือนกันยายนเป็นไปต้นไป อย่างไรก็ตาม ต้องดูผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่จะมีต่อการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในครั้งถัดไป

กลับมาที่มุมมองด้านการลงทุน เมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวของ GDP ไทย ที่คาดจะเห็นการขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 2Q/2567-3Q/2567 รวมทั้งปัจจัยบวกจากต่างประเทศ คือการเริ่มต้นวัฏจักรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยนักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอฯ คาดว่าวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ถึง 2.0% ในช่วงปี 2567 ถึงปี 2568 กล่าวคือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจลดได้ถึง 0.75-1.0% และในปี 2568 อีกราว 1.0-1.25%

ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าจะเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในปี 2568 และคาดว่ามีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ถึง 1.0% ในช่วงปี 2568 วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงนี่เองจะเป็นอีกปัจจัยบวกที่จะหนุนให้เกิดเม็ดเงินลงทุนรอบใหม่เข้าสู่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging market รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย และรวมไปถึงผลบวกในเชิงปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยลดรายจ่ายอัตราดอกเบี้ยของบริษัทจดทะเบียน

สำหรับภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผมประเมินว่า Valuation ในปัจจุบันที่ถูกมาก หุ้นพื้นฐานดีหลายตัวกลับไปซื้อขายในระดับ Price to book (PBV) ที่เทียบเคียงได้กับวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต แม้แต่ดัชนี SET index เองที่ปัจจุบัน PBV ต่ำเพียงราว 1.2 เท่า ใกล้เคียงกับวิกฤตโควิด-19 (ปี 2563) ซึ่ง PBV ของ SET index ต่ำสุดที่ราว 1.1 เท่า ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ผมจึงประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันที่ต่ำกว่า 1,300 จุด น่าจะใกล้ผ่านจุดต่ำสุดของวัฏจักรรอบนี้แล้วหนุน โดยการขยายตัวของ GDP ไทยที่จะเริ่มทยอยปรับดีขึ้น วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง และรวมไปถึงเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย จากกองทุนวายุภักษ์ มูลค่าราว 1 แสนถึง 1.5 แสนล้านบาท

คาดจะเริ่มขายหน่วยลงทุนในเดือนกันยายน 2567 จึงเป็นโอกาสในการเข้าทยอยสะสมหุ้นไทย สำหรับนักลงทุนระยะกลาง (ช่วง 3-6 เดือนจากนี้)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image