ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
เดือนสิงหาคม 2567 ถือเป็นเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองครั้งใหญ่
เริ่มจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบ พรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี ขณะที่สมาชิกพรรคที่เหลือต่างย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ ชื่อว่า พรรคประชาชน
ห่างกันหนึ่งสัปดาห์ ต่อด้วยเหตุการณ์สำคัญที่หลายคนคาดไม่ถึงคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรี ของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ละเมิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
⦁‘แพทองธาร’ขึ้นแท่นนายกคนที่ 31
ช็อกไปตามๆ กัน แต่ครั้งนี้ ฟากการเมืองเดินเกมเร็วด้วย กำหนดเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 16 สิงหาคม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ผลการประชุมสรุป แพทองธาร ชินวัตร ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาด้วยคะแนน 319 เสียงให้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของไทยและเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
โดยเข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ คนที่ 31 เช้าวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา
หลังจากนี้คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์ จะได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และได้เห็น นายกฯแพทองธาร แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้ สิ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายที่ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อคราวรับตำแหน่ง จนถึงทุกวันนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังไม่ได้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
⦁ลุ้นเงินดิจิทัลไปต่อหรือพอแค่นี้
ยิ่ง เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ทำให้เกิดคำถามในสังคมว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไปต่อหรือไม่อย่างไร
โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ครม.เศรษฐา ได้อนุมัติครั้งแรกและครั้งเดียว โดยเป็นการอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 รายละเอียดเบื้องต้น ได้แก่ กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 8.4 แสนบาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท โดยมีจำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท
แหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการนั้น ได้แก่ 1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 จำนวนประมาณ 1.52 แสนล้านบาท การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนประมาณ 1.75 แสนล้านบาท และ 3.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวนประมาณ 1.72 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 5 แสนล้านบาท
แต่ในการแถลงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตครั้งใหญ่ วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง
คือ การเตรียมวงเงิน สำหรับโครงการเหลือ 4.5 แสนล้านบาท ลดลงจาก 5 แสนล้านบาท และปรับเรื่องของแหล่งเงินงบประมาณ เป็นจาก 2 แหล่ง คืองบประมาณปี 2567 ทั้งการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 4.3 หมื่นล้านบาท และจากงบประมาณปี 2568 วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 1.32 แสนล้านบาท และตัดการใช้เงินจาก ธ.ก.ส.ออกไปก่อน
⦁จุดบอดที่รอความชัดเจน
ส่วนรายละเอียดการใช้จ่าย ตามหลักการนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ประชาชนทั่วไป ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face)
ส่วนร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า และร้านค้าที่รับเงินมาเป็นทอดที่สาม และต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ได้แก่ 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) หรือ 2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ 3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยมีความชัดเจน คือ แอพพลิเคชั่นสำหรับการใช้จ่าย ที่รัฐบาลตั้งใจพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ Open Loop สรุปง่ายๆ คือ ระบบใช้จ่ายการเชื่อมโยงแอพพ์ ที่ใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต กับระบบของธนาคาร และกลุ่มกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเอกชน เข้าด้วยกัน ซึ่งยังมีคำถามเกี่ยวกับความพร้อม และความปลอดภัย ทำให้เรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเสียที
เพราะเมื่อเทียบกับโครงการรัฐบาลก่อนหน้าที่เคยทำมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกันที่ใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่เป็น Close Loop คือระบบปิดภายในแอพพ์เดียว มาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านแอพพ์ “ทางรัฐ” ล่าสุด ยอดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1-15 สิงหาคม 2567 หรือ 15 วันนั้น มีประชาชนลงทะเบียนแล้วประมาณ 30 ล้านคน ถือว่ามีผู้สนใจเกินครึ่งหนึ่งของกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 45-50 ล้านคน
⦁นักวิชาการคาดเพื่อไทยเดินหน้าต่อ
เกิดกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยในนามแกนนำรัฐบาลใหม่ อาจจะทำการยกเลิกโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น หลายฝ่ายได้ออกมาให้ความเห็น
เริ่มจากฝั่งนักวิชาการ โดย สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ระบุว่า ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลยังเป็นพรรคเดิม คือพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้น คาดว่านโยบายกว่า 60-70% ยังคงอยู่ต่อ อาทิ นโยบายเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อน มาตรการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่สานต่อมาจากรัฐบาลก่อนหน้า นโยบายอิกไนต์ ไทยแลนด์ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ หรือมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เมืองหลัก เมืองรอง ส่วนนโยบายที่จะผลักดันต่อหรือไม่ คือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก คงมีการทบทวน แต่พรรคเพื่อไทยอาจจะผลักดันต่อ
ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายหลักของเพื่อไทย ต้องยอมรับว่าผู้ที่ผลักดันมาตลอดคือ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ความเสี่ยงทางข้อกฎหมายของโครงการจะหมดไปแล้ว อาทิ เรื่องวิธีทางงบประมาณ ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง หรือการใช้เงินนอกงบประมาณ แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่เหลืออยู่คือ ความเสี่ยงทางการคลัง คือการไปเพิ่มหนี้สาธารณะประเทศ
“คนของพรรคเพื่อไทยบางส่วน ก็คงไม่อยากจะทำก็ตาม แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายหลักของพรรค อย่างน้อยที่สุดคิดว่าน่าจะมีความพยายามของพรรคเพื่อไทยออกมาให้เห็น เพราะเป็นเรื่องของสัญญาประชาคม ต้องผลักดันโครงการต่อไป สุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่ต้องรอดู สำหรับพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อไทยนั้น อาจจะถูกกระทบมากกว่าพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคเพื่อไทยอาจจะใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลงก็ได้เช่นกัน” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองระบุ
⦁เอกชนประสานเสียงไม่มีเงินดิจิทัลก็ไม่เป็นไร
ด้านตัวแทนจากภาคเอกชน โดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า กรณีโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ควรจะมีต่อไปหรือไม่นั้นตอบไม่ได้ โครงการนี้เป็นเรือธงของเพื่อไทย เป็นโครงการที่คนคัดค้านไม่น้อย
สมมุติรัฐบาลชุดใหม่ไม่ทำต่อ ถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพื่อไทยต้องทำความเข้าใจให้กับคนที่คาดหวัง และลงทะเบียนรอเข้าร่วมโครงการหลายสิบล้านคน สิ่งสำคัญคือถ้ายกเลิกโครงการ ต้องออกมาตอบคำถามกับผู้ที่มาลงทะเบียนไว้ และต้องหามาตรการอื่นทดแทน แต่หากเลือกจะไปต่อ ก็ดำเนินการตามแผนเดิมที่วางไว้
“ในฐานะภาคเอกชน ส.อ.ท.อยากให้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่เร็วที่สุด เพื่อกลับมาบริหารบ้านเมืองต่อ ขณะนี้ปัญหาในด้านเศรษฐกิจรุมเร้าทุกด้าน รอการแก้ไขโดยด่วนอยู่ และอยากเห็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ นิ่ง มีความต่อเนื่อง เพื่อไม่ทำให้นักลงทุนภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศรู้สึกไม่มั่นใจ” ประธาน ส.อ.ท.ระบุ
ขณะที่ภาคเอกชนอีกส่วนเสนอรัฐบาลปรับเปลี่ยนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจเป็นห่วงเรื่องการใช้เงินค่อนข้างมาก และกรอบระยะเวลาเหลือแค่ 4 เดือน ประกอบกับเจอสถานการณ์การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี จึงคิดว่า ถ้าหากจะสานต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ให้ใช้ภายในปี 2567 ไม่น่าทัน
“อยากแนะนำว่า ถ้าจะสานต่อโครงการนี้ รัฐบาลต้องมีการทบทวนกติกาใหม่ และมีการปรับกติกาให้เหมาะสม มองว่าดิจิทัลวอลเล็ตเหมาะช่วยเหลือคนที่ยากจนและขาดสภาพคล่องทางการเงินมากกว่า หรือควรปรับรูปแบบให้คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง หรืออาจจะออกเป็นคูปอง มองว่าอาจจะช่วยได้มากกว่ากติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน” รองประธานอีคอนไทยระบุ
เช่นเดียวกับ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ ส่วนตัวตนเชื่อว่าถึงไม่มีการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทางรัฐบาลก็ยังมีหลายวิธีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การส่งออกการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยว โดยงบประมาณปี 2568 จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2567 ดังนั้น หากมีการยกเลิกดิจิทัลวอลเล็ตจริง จะไม่ได้ส่งผลกับเศรษฐกิจไทยนัก เพราะยังมีทางเลือกอื่นอีกมาก ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น
รองประธานกรรมการหอการค้าไทยระบุอีกว่า ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยไม่ควรเป็นสุญญากาศนาน ต้องมีนายกรัฐมนตรีทันที ต้องมีผู้นำในการตัดสินใจ เริ่มดำเนินโครงการใหม่ๆ ต้องทันเหตุการณ์โลก หวังว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคณะรัฐมนตรีชุดที่จะเข้ามาสานต่อการบริหารประเทศ สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้ด้วยดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง
⦁รอลุ้นรัฐบาลใหม่เคาะนโยบาย
อย่างไรก็ดี ฝั่งรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง หน่วยงานตั้งต้นทำโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลว่า ไม่สามารถตอบได้ว่ายกเลิกหรือไม่ยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากมีอีกหลายขั้นตอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ต้องรอแถลงนโยบายรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้ง
“ผมขอไม่พูดอะไรอีกเกี่ยวกับเรื่องเงินดิจิทัล จนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา” รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทิ้งท้าย
ล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงอนาคตโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ แน่นอนว่าปีที่แล้วที่เราหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้โครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น เป็นโครงการที่เราศึกษาและสังเคราะห์นโยบายมาเป็นอย่างดีแล้ว
“แต่ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป เราจะต้องศึกษาและรับฟังความคิดเห็น แน่นอนว่าต้องอยู่ในกรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปและรายละเอียดต้องมีความชัดเจน รวมถึงต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ความตั้งใจนี้ยังต้องอยู่แน่นอน” นายกฯแพทองธารเน้นย้ำ
การเดินทางของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขลุกขลักมาเนิ่นนาน จนมาเจออุปสรรคใหญ่
หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร น่าติดตาม!!