‘สภาพัฒน์’ คงจีดีพีปี 67 ที่ 2.5% แนะแนวทางบริหารศก. 8 ข้อ รอรัฐบาลใหม่เคาะแจกเงินดิจิทัล เชื่อปลายปีมีมาตรการกระตุ้นออกมาแน่
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์เปิดเผยถึง.รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสแรกของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา รวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9%
นายดนุชา กล่าวว่า โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัว 2.3% มาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่บริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชะลอลงและภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายขั้นสุดท้ายรัฐบาล และการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว ขณะที่การอุปโภค บริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลง และการลงทุนลดลงต่อเนื่อง
“อย่างไรก็ดี ในส่วนของการลงทุนนั้น ที่ลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ โดยการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ที่ชะลอตัวลง อันเนื่องมากจากการเข้มงวดของธนาคารในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มากขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยมียอดขายลดลง ขณะที่การก่อสร้างโรงงานยังขยายตัวต่อเนื่อง” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2567 สภาพัฒน์ คาดว่าจะขยายตัว 2.3-2.8% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) ซึ่งเท่ากับการแถลงแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งก่อน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 แต่มีปรับกรอบให้แคบลง จาก 2.0-3.0% ในครั้งก่อน
“การคาดการณ์นี้ มีเพียงก็ขยายกรอบในแคบลง โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะโตไม่ต่ำกว่า 2.3% แน่นอน และหากช่วงที่เหลือของปีมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาเพิ่มเติม ก็เชื่อว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 2.5%” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 0.3% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 2.0% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.4 – 0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของจีดีพี
นายดนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก 1. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 3.การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจาก การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ 4.การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ส่วนปัจจัยเสี่ยง หรือข้อจำกัด ได้แก่ 1.หนี้สิ้นครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3.ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 1. การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ โดย 2.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน 3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม เคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี
นายดนุชา กล่าวว่า 4.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และช่วยแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง 5. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็เงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และการเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า
นายดนุชา กล่าวต่อว่า 6.การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฎการณ์ลานีญา 7.การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ และ 8.การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ ความรุนแรงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก
นายดนุชา กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ ที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร โดยถ้าหากรัฐบาลจะไม่ดำเนิกโครงการดิจิทัล วอลเล็ตก็ควรมีมาตรการอื่นมาเพิ่มเติม เพื่อช่วงพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
“ขณะนี้ยังพูดคุยมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ยังไม่ได้มีการแถลงนโยบาย โดยมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตก็ต้องดูว่าจะปรับเปลี่ยนแปลงแบบไหน ผมคิดว่า อย่างไรรัฐบาลคงต้องออกมาตรการอะไรสักอย่าง อย่างน้อย 1 มาตรการ เพื่อช่วยภาคประชาชน ทั้งนี้เรื่องของแนวทางของมาตรการ ต้องดูทรัพยากรที่มี เครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ เพื่อให้มาตรการที่จะออกมา ทำงานได้รวดเร็ว และต้องดูช่ววเวลาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนการเปลี่ยนรัฐบาลนั้น ไม่มีผลต่อการเบิกจ่ายของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 หากไม่ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีผลต่อกระทบงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 และ เงินงบประมาณปี 2568 ที่ปรับเพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ เรื่องนี้ต้องพูดคัยกันระดับนโยบายว่ารัฐบาลจะมีแนวนโยบายอย่างไร
นายดนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ ทางสภาพัฒน์เองได้ เตรียมพิจารณาจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอรัฐบาลของ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร” เพื่อพิจารณาโดยจากนี้จะนัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า มาตรการที่จะเสนอให้กับรัฐบาลใหม่นั้น จะมีมาตรการอะไร และช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทย