ปตท.เร่งกักเก็บคาร์บอน-ผลิตไฮโดรเจน มุ่งองค์กรยั่งยืน ดันไทยเน็ตซีโร่
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษ Time for Action(1) ในงานสัมมนา PRACHACHAT ESG FORUM 2024 Time for Action : พลิกวิกฤตโลกเดือด จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ณ แกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) ว่า ปตท.ต้องแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน มีภารกิจหลักคือสร้างความมั่นคงพลังงาน อยากให้คนไทยภูมิใจในการเป็นบริษัทโลก ผลิตภัณฑ์ของ ปตท.ต้องสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ ปตท.ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ ไฮโดรคาร์บอนและนอน-ไฮโดรคาร์บอน โดยไฮโดรคาร์บอนมีธุรกิจหลักคือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก
นายคงกระพันกล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่ 50% แหล่งเมียนมา 20% และนำเข้าต่างประเทศ 30% ดังนั้น ปตท.ต้องสร้างความมั่นคงพลังงานผ่านการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะความคืบหน้าพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (โอซีเอ) ปตท.จะผลักดันโอซีเอ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทั้งหมดนี้จะสร้างความมั่นคง เพื่อรองรับภาวะที่พลังงานโลกผันผวน รองรับกรณีจีโอโพลิติกส์ ขณะเดียวกันก็ต้องมุ่งพลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอน อย่างพลังงานหมุนเวียน ทั้งโซลาร์ ลม เพื่อสร้างสมดุลและทำให้ไทยมุ่งสู่เน็ตซีโร่
นายคงกระพันกล่าวต่อว่า ปตท.กำหนดแนวทางลดคาร์บอนผ่านสูตร C3 (ซียกกำลังสาม) คือ Climate-Resilience Business ลดคาร์บอนต่อหน่วยการผลิต Carbon Conscious ใช้พลังงานสะอาดขึ้น และ Coalition co-creation and Collective Effort for all ปล่อยเท่าไหร่ก็เก็บให้หมด เช่น ปลูกป่า นอกจากนี้ ปตท.มีแผนจะลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนผ่านการทำธุรกิจ Carbon Capture and Storage (CCS) หรือโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่กับลงในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน ถือเป็น 2 แนวทางสำคัญที่ ปตท.จะเดินหน้า
นายคงกระพันกล่าวด้วยว่า CCS จะทำให้คาร์บอนในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง ปตท.ทำงานร่วมกับภาครัฐ ต้องมีกฎหมายรองรับ อยู่ระหว่างการวางโรดแมปเก็บคาร์บอนจากบริษัทในกลุ่ม ซึ่งการเก็บไม่ใช่แค่ปล่อยแล้วเก็บ อาจเก็บตั้งแต่ยังไม่ปล่อย ต้องมีเทคโนโลยีรองรับ โครงการนี้ ปตท.จะบริหารภาพรวมทั้งหมด โดยต้องลงทุน ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน คาร์บอนที่ดักจับต้องอัดลงในหลุมก๊าซที่ไม่ใช้แล้ว หรือหลุมเปล่าที่มีศักยภาพ ซึ่งในส่วนนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีความเชี่ยวชาญ ถือเป็นปลายทาง โดย ปตท.เป็นกลาง และบริษัทลูกที่ปล่อยคือต้นทาง
นายคงกระพันกล่าวว่า ขณะที่ธุรกิจผลิตไฮโดรเจน พลังงานสะอาด ช่วงแรกเน้นนำเข้าก่อน พร้อมเดินหน้าผลิต เมื่อต้นทุนถูกลงจะผลิตเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ จากกลยุทธ์ ปตท.ต้องแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย ดังนั้น ในด้านสังคม ปตท.จึงแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน ช่วยเหลือสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจ วงเงิน 24,000 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม เอ็นจีวี ตลอดจนค่าไฟ