ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว นับถอยหลังจากนี้เหลือ 4 เดือนสุดท้ายจะหมดปี 2567 เรียกว่ากว่าจะฝ่าฟันผ่านมาได้ในแต่ละเดือนนั้น “หืดขึ้นคอ” กันเลยทีเดียว
โดยเฉพาะมรสุมลูกใหญ่อย่างวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่ผันผวนไม่หยุดหย่อน ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศไทยเองยังมีวิกฤตถาโถม ทำให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ใจปรารถนา
แม้รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ จะออกมาบอกว่า “เศรษฐกิจไทย” มีแนวโน้มฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าคำพยากรณ์จากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มองว่าตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2567 ออกมา 2.3% ถือว่าตรงกับที่มองไว้แบบเป๊ะๆ
แม้ไส้ในจะมีบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามคาด อย่างการลงทุนภาคเอกชน ที่มีปัจจัยเฉพาะส่งผลกระทบบ้างจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นการคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ในภาพรวมยืนยันเศรษฐกิจเหมือนเดิม ฟื้นตัวในภาพใหญ่ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินไตรมาส 3/2567 จะเติบโตใกล้เคียง 3% ก่อนจะปรับขึ้นมาใกล้เคียง 4% ในช่วงไตรมาส 4/2567
⦁ลุ้นนโยบาย‘รัฐบาลแพทองธาร’
ขณะที่การประเมินภาพในระยะถัดไป มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจาก “การท่องเที่ยว” และอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอตัวลงบ้าง หลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และฟื้นตัวแตกต่างกันตามความสามารถของการปรับตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยที่เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงเกิดความทุลักทุเลในการเอาตัวรอดของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจมากพอสมควรตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งจากสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย ผสมโรงด้วยปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะความไม่แน่นอน “ทางการเมือง” ที่ปะทุขึ้นเป็นระยะๆ
ล่าสุด มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก เศรษฐา ทวีสิน เป็น แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มารับไม้ต่อเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ ที่กำลังเผชิญคลื่นลูกใหญ่และบนความคาดหวังของประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังเฝ้าเกาะติดอย่างใจจดจ่อ ทั้งการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่และนโยบายที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าและระยะยาว
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีการปรับทัพใหม่ ต้องมีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่ต้องการส่งไปถึงรัฐบาลใหม่เพื่อนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยเฉพาะ “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำหน้าที่เป็น “เดอะแบก” ของเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันและในปีต่อๆ ไป ถ้าหากรัฐบาลยังไม่สามารถหาเครื่องยนต์ใหม่เข้ามาทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะโลกเดือด จากสงครามที่ยังสู้รบกันยืดเยื้อ มีกูรูเศรษฐกิจหลายสำนักกังวลจะมีผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวให้แผ่วลงน่าจะเป็นอีกโจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่ที่ต้องหาทางรับมือ
⦁ททท.ลุยปั้นท่องเที่ยวตามเป้า
สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในปี 2567 ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพว่าปี 2567 ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยอยู่ที่ 40 ล้านคน ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่ง ททท.กำลังพยายามเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างสุดความสามารถ แม้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหลักของประเทศ ทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เชื่อว่าไม่มีผลต่อภาคการท่องเที่ยว
เนื่องจากไม่มีสุญญากาศทางการเมือง ทุกอย่างสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะในเชิงนโยบายสามารถเดินไปได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ททท.พร้อมดำเนินการตามนโยบายเหมือนเดิมเพราะมีหลายเรื่องที่เริ่มต้นทำมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ การกระตุ้นเมืองรอง กระจายนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมเยือนวิถีชุมชนมากขึ้น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทย ที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวต่อไป จึงเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่นโยบายหลักจะสานต่ออย่างแน่นอน
“เรื่องท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่หยุดไม่ได้ เพราะเป็นภาคของการบริการ นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและคนไทยยังต้องการออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อรับบริการที่ดีมีคุณภาพ รวมถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต ทำให้เราต้องเดินหน้าต่อตามนโยบายด้านท่องเที่ยวที่เริ่มต้นทำมาอย่างต่อเนื่อง ภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ได้ถูกกระทบอะไร เพราะหากไม่ได้มีเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินส่วนบุคคล ก็จะมีผลกระทบน้อยต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว” ฐาปนีย์กล่าว
⦁อ้อนรัฐบาลใหม่ทำงานเชิงรุก
ในส่วนของภาคเอกชน นำโดยตลาดต่างประเทศ ที่เป็นสัดส่วนหลักในการสร้างเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในประเทศไทยนั้น ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่สุญญากาศทางการเมืองจบลงอย่างรวดเร็ว มีนายกรัฐมนตรีใหม่เข้ามาสานต่อในการบริหารประเทศแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนอยากฝากถึง ยังเป็นเรื่องของการดำเนินงาน ที่อยากให้ใส่ใจเรื่องท่องเที่ยวต่อไปโดยดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้นกว่าที่ทำมา
“ต้องยอมรับว่านายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ทำไว้ได้ดี ในเรื่องการทำนโยบายเชิงรุกที่ออกนโยบายหลายเรื่องได้เร็ว อาทิ วีซ่าฟรีที่อำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาได้เป็นอัตราที่เร็วมาก แต่เชื่อว่าภาคท่องเที่ยวยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนามากขึ้น อาทิ โครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งสานต่องานเชิงรุกทันที” ศิษฎิวัชรกล่าว
พร้อมกับย้ำว่า มาตรการวีซ่าฟรี ที่อำนวยความสะดวกในการเข้ามาเที่ยวไทยได้มากขึ้น ถือเป็นแรงส่งได้บางส่วน เพราะแม้ขณะนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยในอัตราที่เร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่ากลับไปเทียบเท่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิด เนื่องจากสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ปัจจัยแวดล้อมแตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น พูดง่ายๆ เหมือนคนไทยที่ยังมีความสามารถในการท่องเที่ยว ก็จะยังเที่ยว แต่ประหยัดเงินมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีกำลังมากพอก็ต้องหยุดเดินทางท่องเที่ยวไปก่อน เพื่อนำเงินที่มีใช้จ่ายในสิ่งที่มีความจำเป็นมากกว่าแทน
⦁เร่งแก้‘ทุนต่างชาติ’ทุบตลาดไทย
นอกจากนี้ “ศิษฎิวัชร” ยังกังวลถึงสิ่งที่ตามมาหลังมีวีซ่าฟรี ในเรื่องของเงินทุนต่างชาติ ที่เข้ามาผ่านการท่องเที่ยว แต่ความจริงแล้วเป็นการเข้ามาหาลู่ทางทำธุรกิจในประเทศไทย อย่างช่วงที่ผ่านมารวมถึงตอนนี้ก็เจอปัญหา “ทัวร์ทุบตลาด” ทำทัวร์นำเที่ยวในราคาต่ำกว่าทุน เอาจำนวนหัวเยอะๆ ไว้ก่อน เพื่อทุบให้กลไกตลาดพัง จากนั้นจึงเข้ามาครอบครองตลาดในภายหลัง ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในภาพรวม และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือกลุ่มที่ทำดีอยู่แล้ว แต่กลับต้องมาถูกมองในแง่ลบจากนักท่องเที่ยวที่ได้รับประสบการณ์ไม่ดีผ่านกลุ่มทัวร์เหล่านี้
ถือเป็นเรื่องที่ต้องฝากให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ปล่อยให้กลุ่มทุนผิดกฎหมายจากทุกประเทศเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในประเทศไทย รวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานของทุกนโยบายที่จะออกมาต่อจากนี้ อยากให้มีเอกสารมอบหมายงานอย่างเป็นทางการ เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเห็นภาพมาตลอดว่า หากรัฐบาลมีนโยบายอะไรลงไปในระดับหน่วยงาน มีหลายครั้งที่บางหน่วยงานที่ไม่ทำตาม ไม่ตอบสนองอะไรทั้งสิ้น ทั้งที่นโยบายเกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ใช้วิธีโยนไปหน่วยงานอื่นแทน ซึ่งพอเกิดลักษณะนี้แล้วก็ทำให้นโยบายที่ควรเห็นผลเชิงบวกรวดเร็ว กลายเป็นเห็นผลช้า หรือถึงขั้นไม่เห็นผลในบางครั้งด้วย
⦁ไทยเที่ยวไทยลืมไม่ได้เด็ดขาด
ด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ถือเป็นอีกส่วนที่สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ โดย ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่า การท่องเที่ยวในประเทศ หรือตลาดไทยเที่ยวไทย ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลลืมไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเกี่ยวพันกับคนจำนวนมากไม่แตกต่างจากตลาดต่างชาติเที่ยวไทย
โดยฝากถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผ่านความเชื่อมั่นว่านโยบายการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบาย “อิกไนต์ ไทยแลนด์ ทัวริซึ่ม” ที่จะยังเป็นเป้าหมายหลักในการเดินหน้าท่องเที่ยวไทย สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทุกคน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดียวที่ยังสามารถขับเคลื่อนต่อได้ดีที่สุดในเวลานี้
“สิ่งที่เป็นห่วง คือ การท่องเที่ยวของไทยยังคงขับเคลื่อนได้ในเชิงปริมาณ ซึ่งเชื่อว่าสามารถถึงเป้าหมาย 36-37 ล้านคนได้แน่นอน แต่ในเชิงของรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น อาจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในวันนี้ ยังเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะดีมานด์ในตลาดเป้าหมายมีเยอะมาก เพียงแต่เราต้องหาวิธีที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแล้ว มีความประทับใจกลับประเทศต้นทางไปด้วย นำมุมมองที่ดีที่ได้รับไปบอกต่อได้อย่างไรบ้าง ถือเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแบบไม่ต้องออกแรงเลย” ชำนาญกล่าว
⦁ขอเวทีทำงานร่วม‘รัฐ-เอกชน’
“ชำนาญ” กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องการเสนอและมองว่าสำคัญมากในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ มีเพียงท่องเที่ยวเป็นเชื้อเพลิงเดียว คือ รัฐบาลต้องดึงเอกชนเข้าไปร่วมขับเคลื่อนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกัน และต้องทำให้เกิด Customer Journey ที่ดีในทุกกระบวนการของการเดินทาง ตั้งแต่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากระทั่งกลับบ้านไป อาทิ ได้รับความสะดวก ปลอดภัย โรงแรมและอาหารต้องดีมีมาตรฐาน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพให้คนตัวเล็กหรือเอสเอ็มอีท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี หากไม่รีบทำจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะการต้องแข่งขันต่อสู้ทั้งจากธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ และนายทุนเงินหนาต่างชาติที่เข้ามามากขึ้นในปัจจุบันด้วย
โดยโจทย์ความท้าทายหลักที่ต้องเร่งแก้ไข เป็นเรื่องการดันรายได้นักท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนมากได้นำเสนอผ่านสภาท่องเที่ยวมาว่า หากรัฐบาลต้องการขับเคลื่อนด้านเป้าหมายรายได้จำเป็นต้องให้ความสำคัญใน 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การมุ่งเน้นการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะการตอบโจทย์ความต้องการที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลให้ได้มากที่สุด การดึงกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาช่วยทำเรื่องมาตรฐานของธุรกิจสุขภาพและความงามอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากมีมาตรฐานจะทำให้ตลาดของนักท่องเที่ยวกลุ่มเวลเนสทัวริซึ่ม หรือนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาล จะมีโอกาสและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ส่วนอีก 2 เรื่อง “ชำนาญ” อธิบายว่า เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับซัพพลายไซด์ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในทุกเซ็กเตอร์ ทั้งแหล่งท่องเที่ยว และบุคลากรในภาคธุรกิจท่องเที่ยว และการวางแผนพัฒนาเมืองรองให้เป็นเมืองน่าเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเพียงชื่อเรียกเท่านั้น เพราะเปลี่ยนแล้วก็ไม่ได้กลายเป็นเมืองน่าเที่ยวแบบที่เรียกกันในทันที โดยช่วงแรกอาจต้องอาศัยผู้ประกอบการทัวร์นำเที่ยวของไทย ในการจัดทำแพคเกจท่องเที่ยวเชื่อมเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการทำความรู้จัก เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น ก็จะสามารถเดินไปได้ด้วยตัวเองแบบที่ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนน้อยลง
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทาย ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ฝากถึง “รัฐบาลแพทองธาร 1” ส่วนจะได้รับการผลักดันมากน้อยขนาดไหน คงต้องลุ้น!