สทนช. เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ มั่นใจไม่เหมือนปี 54

สทนช. เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ มั่นใจไม่เหมือนอุทกภัยปี 2554

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม เวลา 12.00 น. ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำ ครั้งที่ 5/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายสุรสีห์ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้หารือร่วมกันเพื่อวางแผนบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยขณะนี้ ทางภาคเหนือหลายพื้นที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว เช่นที่ จ.แพร่ และหลายพื้นที่ของ จ.น่าน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในระยะนี้ยังคงมีฝนตกลงมาเพิ่มเติม จึงทำให้ในพื้นที่ อ.เวียงสา ยังมีปริมาณน้ำสูงกว่าตลิ่งอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งได้เร่งระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง

โดยมวลน้ำใน จ.น่าน จะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ พร้อมกันนี้ เขื่อนสิริกิติ์ได้ปรับลดการระบายน้ำลงเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในลุ่มน้ำน่าน และรองรับน้ำจากลุ่มน้ำยมที่จะผันเข้ามาเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ที่กว๊านพะเยา จ.พะเยา ซึ่งก่อนหน้านี้มีปริมาณน้ำเกินความจุ ปัจจุบันกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน โดยปริมาณน้ำที่ท่วมในพื้นที่ได้ระบายผ่านแม่น้ำอิงไปทาง จ.เชียงราย ลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งศักยภาพของแม่น้ำอิงยังคงรองรับปริมาณน้ำได้อยู่ แต่ในอีก 1-2 วันข้างหน้า อาจเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในปริมาณไม่มากนัก จึงได้มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่แล้ว

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม นายสุรสีห์ กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากมีฝนตกหนักทั้งในฝั่งไทยและ สปป.ลาว โดย สทนช. ได้คาดการณ์พบพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชายขอบริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่วันนี้ -1 ก.ย. 67 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย มุกดาหาร นครพนม หนองคาย บึงกาฬ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อประสานงานกับผู้ว่าราชจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ประชาชน

นอกจากนี้ สทนช. ได้ส่งหนังสือด่วนไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เพื่อประสาน สปป.ลาว และประเทศจีน และหนังสือถึงศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำแม่โขง – ล้านช้าง (LMC Water Center) พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง และปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยด้านท้ายน้ำริมฝั่งแม่น้ำโขงด้วย

ADVERTISMENT

ในส่วนของ จ.สุโขทัย ได้มีมวลน้ำสูงสุดไหลผ่านแล้ววานนี้ (27 ส.ค. 67) มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ปัจจุบันลดลงเหลือ 1,300 ลบ.ม. ต่อวินาที และมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ซึ่ง สทนช. ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคเหนือ ณ จ.สุโขทัย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในการตัดยอดน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัยโดยใช้ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ระบายน้ำผ่านทางคลองยม – น่าน และคลองยมสายเก่า พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจาก จ.สุโขทัย ซึ่งจะเคลื่อนผ่าน จ.พิษณุโลก และพิจิตร ไปยังเขื่อนเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ อาจส่งผลให้พนังกั้นน้ำบางจุดชำรุดเสียหายและ มีน้ำล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร

จึงได้วางแผนล่วงหน้าเพื่อป้องกันและลดความเสียหายให้แก่เกษตรกร โดยได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงเร่งเก็บเกี่ยว พร้อมระดมกำลังพลและเครื่องจักรเครื่องมือเข้าให้ความช่วยเหลือ โดย จ.พิษณุโลก ได้เปิดศูนย์ประสานงานบริการรถเกี่ยวข้าวเพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ด้วย ในส่วนของการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้อยู่ในอัตรา 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยจะควบคุมไม่ให้เกิน 1,400 ลบ.ม. ต่อวินาที

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำที่อาจได้รับผลกระทบ รับทราบปริมาณน้ำที่จะระบายและระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเสริมแนวป้องกันชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เพื่อเตรียมรับภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 67 ตามที่ สทนช. ได้ประกาศเฝ้าระวังด้วย

“กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. คาดการณ์ว่าฝนจะตกเพิ่มมากขึ้นในเดือน ก.ย. 67 และมีโอกาสที่อาจจะมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาทางภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง สทนช. ได้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไม่ประมาท โดยการเตรียมพร้อมพร่องน้ำออกจากแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับมวลน้ำที่จะมาเพิ่ม เช่น เขื่อนภูมิพล ปัจจุบันยังรองรับน้ำได้อีกประมาณ 6,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ รองรับน้ำได้อีกประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อย รองรับน้ำได้อีกประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รองรับน้ำได้อีกประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. บึงบอระเพ็ด รองรับน้ำได้อีก 150 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น รวมทั้งในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมที่ จ.สุโขทัย เพื่อหาแนวทางในการเร่งระบายน้ำท่วมขังและระบายน้ำออกจากลำน้ำ” นายสุรสีห์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสุรสีห์ กล่าวว่า ตนยังได้มอบหมายให้ สสน. และ GISTDA ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) และภาพถ่ายดาวเทียม เป็นเครื่องมือชี้เป้าพื้นที่น้ำท่วมขังเพื่อวางแผนเร่งระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยืนยันว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเหมือนอุทกภัยเมื่อปี 54 แน่นอน พร้อมกันนี้ ยังได้พิจารณาวางแผนบริหารจัดการน้ำในกรณีที่ฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์หรือไม่มีพายุจรพัดผ่านเข้ามาประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการกักเก็บน้ำให้มีเพียงพอใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image