ซีพีเอฟ เดินหน้า ขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุก พร้อมจับมือทุกภาคส่วนปราบปลาหมอคางดำ ตั้งเป้ากำจัด 5 หมื่นตัน
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าบูรณาการร่วมกับกรมประมง ขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกจัดการปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเต็มกำลัง ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
จากรายงานข่าว ระบุว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำปี 2567-2570 และถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้งบประมาณ 450 ล้านบาท โดยกรมประมงได้บูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันกำจัด เพื่อหยุดการแพร่พันธุ์ของประชากรปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน (5 ล้าน กก.) ในแหล่งนํ้า 19 จังหวัดภายในปี 2570 นั้น
นายอดิศร์เผยว่า ทาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนกรมประมงได้ระดมทุกสรรพกำลัง ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหานี้ ทาง ซีพีเอฟ จะยังคงเดินหน้าบูรณาการขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุก ภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมประมง ภาคประชาสังคม คณาจารย์และนักวิชาการ เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำและควบคุมประชากรปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง เพื่อส่งผลให้ปริมาณปลาหมอคางดำในลดลงในหลายพื้นที่
โดย 5 โครงการเชิงรุกที่ ซีอีเอฟ เร่งดำเนินการ ได้แก่
1.โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2 ล้านกิโลกรัม ปัจจุบันร่วมมือกับในราคา 15 บาทต่อ กก. เพื่อนำมาผลิตเป็นปลาป่น ที่ผ่านมาบริษัทได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก “โรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี” จ.สมุทรสาคร ช่วยรับซื้อปลา พร้อมกับสร้างเครือข่ายแพปลาเป็นจุดรับซื้อและอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรสามารถนำปลามาขายได้ ถึงวันนี้ โรงงานปลาป่นในสมุทรสาคร จัดซื้อปลาไปแล้วกว่า 750,000 กิโลกรัม และทางซีพีเอฟยังคงขยายจุดรับซื้อต่อเนื่อง
2.โครงการปล่อยปลานักล่า 2 แสนตัว สู่แหล่งน้ำ ตามแนวทางของกรมประมง ปัจจุบันส่งมอบปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้วขึ้น ไปแล้ว 64,000 ตัว กับ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี และระยอง โดยพบว่าพื้นที่สมุทรสงครามมีจำนวนปลาหมอคางดำลดลงไปกว่า 80%
3.โครงการสนับสนุนกรมประมง ‘ลงแขกลงคลอง’ เปิดปฏิบัติการไล่ล่าปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง เพื่อ เร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งนํ้าโดยเร็วที่สุด โดยซีพีเอฟร่วมกับประมงจังหวัด 12 จังหวัด ด้วยการมอบอุปกรณ์จับปลา สนับสนุนกำลังคน อาหาร และน้ำดื่ม พร้อมสนับสนุนโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4.โครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสนับสนุนในการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปไปใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆได้หลากหลายเมนู
5.โครงการที่ 5 ร่วมสนับสนุนการทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสจล. เพื่อหาแนวทางหรือนวัตกรรมควบคุมประชากรปลาและหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ในระยะยาว และยังขยายความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
นอกจากนี้ บริษัท ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมสนับสนุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขับเคลื่อนมาตรการจัดการปลาหมอคางดำ โดยนำถังพลาสติกใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตรจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ส่งให้กับสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด เพื่อใช้ในโครงการผลิตนํ้าหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมประมง เร่งกำจัดปลาหมอคางดำ หนุนชุมชนผลิตปลาร้า คิกออฟจ.เพชรบุรี 7 ต.ค.
- กรมประมง เข้มกำจัดปลาหมอคางดำ ตรวจสอบที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหากผิด พร้อมดำเนินการตามกฎหมายทันที
- เผยผลศึกษา หมอคางดำ พบเอกชน 1 ราย นำเข้า-ที่มา แหล่งเดียวกัน ‘วาโย’ ลั่นไม่จบแค่นี้ ‘ณัฐชา’ จี้เอาผิด
- DNA ปลาหมอคางดำใกล้เคียง 2 ประเทศ กำลังบอกอะไร?