อาหารกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการตื่นตัวกันมากขึ้น โดยประชากรโลกตื่นตัวกับการลดกินเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ด้วยมองว่า 70% คาร์บอนฟุตพรินต์โลกมาจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมถึงลดการกินอาหารแปรรูปหรือมีขั้นตอนการผลิตมาก เพราะมองว่ายิ่งผ่านขั้นตอนมากยิ่งปล่อยคาร์บอนมาก ทำให้กลุ่มบริโภคที่ตั้งใจมั่นจะช่วยลดปัญหาโลกร้อน แสวงหาอาหารที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์
อาหารจากพืช หรือ Plant-Based Food จึงถูกมองเป็นทางเลือกของอนาคตอาหารโลก
จึงเป็นที่มาของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ดำเนินโครงการจัดทำภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช หรือ Plant-Based Food เพื่อศึกษา วิเคราะห์ศักยภาพ โอกาส แนวโน้มทิศทาง และจัดทำภาพอนาคต หรือ Foresight สินค้าอาหารจากพืช รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าอาหารจากพืช เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน เปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจ พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการจัดทำ Foresight ว่า ได้ภาพอนาคตสินค้า Plant-Based Food ของไทย 4 ฉากทัศน์ โดยฉากทัศน์ของอนาคตที่เป็นไปได้ (Probable Future) คือ ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพของโลก เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออกอาหารสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีอนาคตทางเลือก (Alternative Future) อีก 3 ฉากทัศน์ ได้แก่
1.ฉากทัศน์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรยั่งยืน คือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเทศกาลวัฒนธรรมและเกษตรยั่งยืนของคนไทยและชาวต่างชาติ
2.ฉากทัศน์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ คือ ไทยเป็นแหล่งของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ประยุกต์วัฒนธรรมอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่นร่วมกับธุรกิจอาหารในทุกมุมของประเทศ
3.ฉากทัศน์ของสินค้าอาหารแปรรูป Plant-Based Food ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่เกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นผู้นำในการผลิต และส่งออกสินค้า Plant-Based ที่มีคุณภาพ และมูลค่าสูง เพื่อตอบรับความต้องการของตลาดโลก
จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าอาหารจากพืชของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ดังนี้
1.ด้านการผลิตและแปรรูป ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม Plant-Based Food ที่สำคัญของโลก ผ่านการส่งเสริมคุณภาพการผลิต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทักษะด้านต่างๆ ให้มีความพร้อม
2.ด้านการตลาด ส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและการส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเพิ่มการเข้าถึงของลูกค้า ขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเทศกาลวัฒนธรรม เชิงเกษตรยั่งยืนและเชิงสุขภาพ รวมทั้งสร้างแบรนด์สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้โดดเด่นและให้ชุมชนมีส่วนร่วม
3.ด้านวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้าน Plant-Based Food ระดับโลก ผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และเผยแพร่องค์ความรู้ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยพัฒนา
4.ด้านฐานข้อมูล ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและ Plant-Based Food เพื่อใช้วางแผนการพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลพืชศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม Plant-Based Food ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
5.ด้านการลงทุน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพสินค้า และสร้างความยั่งยืนในกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากร อาทิ 1.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรและอีคอมเมิร์ซ 2.ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม Plant-Based Food สร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีศักยภาพ และ 3.สนับสนุนเงินทุนและการวิจัยพัฒนาให้กับ SME เพื่อมุ่งเน้นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
6.ด้านกฎหมาย ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และ Plant-Based Food เพื่อสร้างกรอบที่ชัดเจนและทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตอบสนองความต้องการของตลาด อาทิ การจัดทำข้อกำหนดฉลากอาหารจากพืชของไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค และพิจารณาทบทวนการปรับลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพิจารณาทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี GMO
“สนค.จัดทำแผนที่นำทางหรือโรดแมป สำหรับการพัฒนาสินค้าอาหารจากพืชของไทย ปี 2567-2576 ที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่กล่าวมาข้างต้น แบ่งเป็นระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย รวมถึงหน่วยทุนและหน่วยสนับสนุนทางการค้า สตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี ใช้เป็นข้อมูลและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาสานต่อการสร้างภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารแห่งอนาคตระดับโลก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้กับคนไทยและพลเมืองโลก ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ มีความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะมอบสิ่งนี้ให้กับโลก” พูนพงษ์กล่าว

⦁สินค้าอาหารอนาคตครึ่งปีโต14%
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงอนาคต Plant-Based Food ของไทยว่า จากตารางแนวโน้มการบริโภคอาหารอนาคตและโปรตีนทางเลือกของไทย สะท้อนตัวเลขแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 2/2567 กลุ่มที่มีสัดส่วนมากและยังคงเติบโตได้ดี ได้แก่ อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น ตามมาด้วยกลุ่มอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล กลุ่มโปรตีนทางเลือกและผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง
จากแนวโน้มการส่งออกกลุ่มโปรตีนทางเลือก 6 เดือนแรก ปี 2567 มีมูลค่าการส่งออก 3,043 ล้านบาท หดตัว 9% โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็น Plant Based และ Insect Based ความท้าทายในปี 2567 นี้ มีหลากหลายๆ ด้าน ทั้งสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการใช้เงินและกำลังซื้อของผู้บริโภค ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ ต้นทุนค่าระวางเรือ การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว แนวโน้มการเลือกรับบริโภคของผู้บริโภคในปัจจุบันคือ สุขภาพ ราคาความคุ้มค่า และความอร่อย อีกทั้งปัจจุบันมีหลากหลายแบรนด์ หลากหลายรูปแบบ สินค้าอาหารจากพืชออกมาในท้องตลาดจึงเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
สำหรับไตรมาส 3/2567 และทั้งปี 2567 ยังคงต้องติดตามประเด็นความเสี่ยงที่ยังมีความท้าทาย ซึ่งในกลุ่มโปรตีนทางเลือกจากพืช ยังคงต้องติดตามกระแสเทศกาลกินเจปี 2567 นี้ ว่าจะกระตุ้นการส่งออกและตัวเลขการค้าในกลุ่มสินค้านี้ให้เพิ่มขึ้นอย่างไร
ซึ่งเทศกาลกินเจ 2567 ตรงกับวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567 รวมเป็นเวลา 9 วัน โดยผู้บริโภคที่รับประทานเจมักให้ความสำคัญกับเรื่องอิ่มกาย อิ่มใจ ได้สุขภาพและได้บุญไปพร้อมกันโดยยังคำนึงถึงความอร่อย และด้วยเศรษฐกิจในช่วงนี้ ราคาย่อมมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้า มุมมองใน Plant-based ตลาดโลก อนาคตของสินค้า Plant-based Food ยังมีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ
“ในอนาคตเราจะเห็นสินค้า Plant-based Food เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีการปรับปรุงรสชาติและราคา และการปรับรูปแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ Plant-based Meat ยังคงเติบโตได้ในอนาคต” วิศิษฐ์กล่าว
ซึ่งจากคาดการณ์ตลาดของ Meat Alternatives ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% คาดการณ์ช่วงปี 2567-2571 คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากช่วงปี 2566 ที่คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเติบโต เฉลี่ยปีละ 12% จากคาดการณ์ไว้ปี 2567-2571 โดยตลาดหลักอยู่ที่ภูมิภาคยุโรป ตามด้วยเอเชียแปซิฟิก และอเมริกาเหนือ ตามลำดับ