มจพ.เร่งผลิตนศ.ป้อนพีซีบี-เปิดสอนเสริมอัพสกิล-รีสกิล

มจพ.เร่งผลิตนศ.ป้อนพีซีบี-เปิดสอนเสริมอัพสกิล-รีสกิล

น.ส.เพียรพูล กมลจิตว์ประภา คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า มจพ.ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก ซึ่งประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมPCB โดยทั้ง 2 อุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ.เริ่มพัฒนาหลักสูตรด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2561 ได้แก่หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นผลิตกำลังคนด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีนักศึกษาจบการศึกษาไปแล้ว 3 รุ่น และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาชาฟิสิกส์อุตสาหกรรมเน้นผลิตกำลังคนด้านอุตสาหกรรม PCB โดยทั้ง 2 หลักสูตรสามารถผลิตนักศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ประมาณหลักสูตรละ 50 คนต่อปี

“สำหรับหลักสูตรที่ทางคณะพัฒนาขึ้น ได้รับความร่วมมือจากทางบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านนี้โดยตรง เข้ามาช่วยจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงนำบุคลากรที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมจริงเข้ามาช่วยสอนนักศึกษา ขณะเดียวกันทาง มจพ. ยังส่งตัวอาจารย์หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำองค์ความรู้มาสอนนักศึกษาเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการสหกิจศึกษาที่จะส่งตัวนักศึกษาชั้นปีที่4 เข้าไปฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการณ์จริงซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้เรียน โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากโจทย์การทำงานและประสบการณ์จริงจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน” น.ส.เพียรพูลกล่าว

Advertisement

น.ส.เพียรพูล กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มจพ.ได้รับความร่วมมือจากบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ โดยในส่วนของห้องปฏิบัติการทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ของคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ.นั้นได้รับความร่วมมือจากบริษัท ยูแทคไทย จำกัด ซึ่งยังมีอีกหลายบริษัทในประเทศที่เข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งบุคลากรในอุตสาหกรรมด้านนี้ถือว่า ขาดแคลนค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงมีบริษัทจากต่างประเทศหลายแห่งแสดงความประสงค์ในการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรด้านนี้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งปัจจุบันและอนาคต

Advertisement

น.ส.เพียรพูล กล่าวต่ออีกว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม PCB และ ทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ ถือว่าขาดแคลนเป็นอย่างมาก ผู้ที่เข้ามาเรียนส่วนมากจะหางานได้ก่อนจบการศึกษา ผ่านโครงการสหกิจศึกษาของทางมหาวิทยาลัย แต่ในขณะเดียวกันทาง มจพ.ไม่สามารถส่งนักศึกษาให้เพียงพอได้ เนื่องจากแต่ละบริษัทมีความต้องการที่สูง ประกอบกับมีบริษัทที่เริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้น ผู้ที่เรียนด้านนี้นอกจากจะสามารถหางานได้ง่ายแล้ว งานที่ทำยังมีความมั่นคงเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นของโลกยุคใหม่และมีอัตราเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง

“อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรม PCB กำลังต้องการบุคลากรในตำแหน่งต่างๆ มากกว่าหมื่นอัตรา ซึ่งถ้าเทียบกับอัตรากำลังคนที่ มจพ.ผลิตออกไปได้ถือว่าไม่เพียงพอ ขณะที่ยังต้องเร่งผลิตกำลังคนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมผ่านหลักสูตรอื่นๆ ด้วย รวมถึงการ อัพสกิล รีสกิล ให้กับผู้ที่สนใจในทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนถึงระดับเจ้าหน้าที่เทคนิค ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ในศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทรัพยากมนุษย์เพื่ออุตสาหกรรม หรือเทรนนิ่งเช็นเตอร์คาดว่าวิธีนี้จะสามารถผลิตกำลังคนให้กับทั้ง2 อุตสาหกรรมได้ประมาณ 2,000 คนต่อปี ถือเป็นวิธีที่เร็วกว่าวิธีการผลิตนักศึกษาที่จะต้องเรียนเป็นอย่างน้อย 4 ปีอย่างมาก” น.ส.เพียรพูลกล่าว

น.ส.เพียรพูล กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้อุตสาหกรรมด้านนี้ยังต้องการกำลังคนที่ไม่ใช่เพียงแค่ระดับวิศวกรเท่านั้น โดยเฉลี่ยวิศวกร 1 คนจะต้องการช่างเทคนิคประมาณ 4 คนร่วมทำงาน หากต้องการบุคลากรระดับวิศวกร 1,000 คนจะต้องการช่างเทคนิคถึง 4.000 คนเช่นกัน ซึ่งทางมจพ.เล็งเห็นความต้องการอย่างเร่งด่วนของอุตสาหกรรมด้านนี้จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ยูแทค ไทย จำกัด และโรงเรียนช่างฝีมือทหารในการทำหลักสูตรระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้น(ปวส.) เพื่อผลิตกำลังคนระดับช่างเทคนิคโดยจะเริ่มขึ้นในปี 2568 ซึ่งหลักสูตรนี้จะเป็นต้นแบบให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ผลิตกำลังคนให้อุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์และ PCB ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image