ฟ้าหลังฝน‘กุลธรเคอร์บี้’
ชักธง3ปี รายได้เทิร์นอะราวด์
เดินทางมาถึงทศวรรษที่ 6 แล้ว บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์ ธุรกิจใต้ปีกตระกูล “สิมะกุลธร” ที่สร้างอาณาจักรจากธุรกิจห้องแถวแบบซื้อมาขายไป จนสามารถขยับขยายฐานธุรกิจสู่บริษัทมหาชน มีลูกค้าครอบคลุมทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แต่กว่าจะมายืนอยู่แถวหน้าได้ ต้องพลิกตำราฟันฝ่าปัญหาที่ถาโถมจากหลายวิกฤต
สุภาณี จันทศาศวัต ทายาทรุ่นที่สองและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการตลาด บริษัท กุลธรเคอร์บี้จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งกระทบกับเรามากพอสมควร เพราะใช้เงินกู้ต่างประเทศ ต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้เป็นทุน ขายทรัพย์สินบางส่วน เพื่อกอบกู้ธุรกิจขึ้นมา ต่อมาปี 2561 เจอวิกฤตสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด หลังภาษีนำเข้าคอมเพรสเซอร์ลดลงจาก 30% เหลือ 0% ภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นจาก 60% เหลือ 5% เราไม่มีทางสู้ได้ ทั้งกำลังการผลิต ราคา มาถึงจุดต้องตัดสินใจจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เลยคิดว่าแนวทางที่จะไปได้ จึงขออนุมัติเงินลงทุนจากคณะกรรมการบริษัท 500 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ที่ใช้กับแอร์
“กำลังจะเดินหน้า บังเอิญโรงงาน Bristol ผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์รุ่นใหญ่จากอเมริกาปิดกิจการ จึงตัดสินใจนำเงินก้อนนั้นไปซื้อกิจการ เพราะมองว่าคุ้มกว่า ได้ทั้งแบบพิมพ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและได้แบรนด์ด้วย จึงนำมาทำการผลิตในไทย และส่งกลับไปขายที่อเมริกา เราหนีจีน ที่มาตีตลาดไทย มาสู้กับตลาดรุ่นเล็ก ไปทำตลาดรุ่นใหญ่แทน และย้ายการผลิตคอมเพรสเซอร์รุ่นเล็กไปที่บริษัทในเครือ ปัจจุบันจึงผลิตคอมเพรสเซอร์รุ่นใหญ่เพื่อส่งออก” สุภาณีกล่าว
สุภาณีเล่าอีกว่า ผลจากการซื้อโรงงาน ทำให้ดูดซับสภาพคล่องไปพอสมควร เราต้องใช้เงินทุนใส่เข้าไปอีก 300 ล้านบาท ยังมีวิกฤตโควิด การขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศลำบาก ประกอบกับไม่มีคำสั่งซื้อ ทำให้รายได้เริ่มลดลง มีการปรับลดคนจาก 2,000 คน เหลือ 1,000 คน แต่ปัจจุบันไม่มีการลดคนแล้ว เราปรับวิธีการทำงานใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทุกคนต้องทำได้หลายหน้าที่
ถามว่าตอนนี้ บริษัทมีภาระหนี้อยู่เท่าไหร่ สุภาณีเล่าว่า เมื่อ 10 ปีก่อน บริษัทมีหนี้กว่า 9,000 ล้านบาท และมีการปรับโครงสร้างหนี้มาตลอด ถึงปัจจุบันเหลือหนี้ระยะยาว 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเกินจำนวนหนี้ แต่หนี้ระยะสั้น 2,500 ล้านบาท ธนาคารยังไม่ปล่อยให้ จึงเป็นเหตุผลเราปิดโรงงาน 7 วัน เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2567 นี้ แต่ล่าสุดมีแนวโน้มที่ดี ธนาคารเข้าใจในปัญหาแล้ว และในเร็วๆ นี้น่าจะมีข่าวดี ที่ธนาคารจะปล่อยวงเงินให้ แต่ไม่ได้ปล่อยก้อนใหญ่ทีเดียว จะค่อยๆ ปล่อย เพื่อให้เรานำเงินซื้อวัตถุดิบมาผลิต ขณะที่ทางครอบครัวซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ให้เงินสนับสนุนอีกกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งการที่เราหยุดไป มาจากเหตุผลนี้ เพราะของไม่มา เราก็ไม่เอาแรงงานมานั่งเฉยๆ ตอนนี้กลับมาผลิต 100% แล้ว
“หลังเคลียร์วิกฤตได้แล้ว เรามุ่งมั่นผลิตสินค้าให้ได้เดือนละ 40,000-80,000 ตัว เพื่อเคลียร์ออเดอร์ที่ค้างอยู่ 6-8 เดือน หรือประมาณ 4 แสนตัว เป็นตลาดต่างประเทศทั้งหมด เราต้องทำให้ได้เดือนละ 40,000-80,000 ตัว จากปัจจุบัน 30,000 ตัว ต้องค่อยๆ เพิ่ม ถ้าได้วงเงินสนับสนุนจากธนาคาร จะมีกำลังพอซื้อวัตถุดิบมาผลิตได้มากขึ้น คาดว่าทำให้รายได้ปี 2567 นี้ แตะ 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 เพิ่มขึ้น แต่ยังติดลบอยู่ คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ จะดีขึ้นและพลิกกลับมีกำไรได้” สุภาณีกล่าว
ส่วนทิศทางในอนาคต สุภาณีย้ำชัดในช่วง 3-4 ปีจากนี้ เป็นช่วงที่กำลังฟื้นตัวเทิร์นอะราวด์ จึงยังไม่มีการลงทุนใหญ่ๆ คาดว่าบริษัทจะสามารถเทิร์นอะราวด์ได้ในปี 2570 ด้วยรายได้ 6,000-7,000 ล้านบาท ตอนนี้เราอยู่ได้ด้วยลูกค้ากับลูกน้องสนับสนุน ถ้าหากเราคืนออเดอร์ได้หมด จะได้รับออเดอร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอเมริกา ยังมีพื้นที่ให้เราเข้าไปทำตลาดอีกมาก รวมถึงพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่อยู่ในแผน คือ คอมเพรสเซอร์ใช้กับตู้แช่ แอร์ และน้ำยาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราต้องพัฒนาให้ทันกับตลาด คาดใน 1-2 ปีจากนี้ จะนำมาทำตลาดได้
สุภาณียอมรับว่า การทำธุรกิจในยุคนี้ มีความยากลำบากพอสมควร แต่ว่าด้วยความที่สินค้าเราเป็นสินค้ากลางน้ำ ลูกค้าที่ใช้ จึงยังมีความต้องการ ยังได้รับการซัพพอร์ตจากซัพพลายเออร์ และยังไปได้ แต่ก็ลำบากนิดหนึ่งสำหรับธุรกิจในประเทศ เพราะว่าคนมีเงินน้อยลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เขายอมซื้อของที่คุณภาพไม่สูงมาก แต่ว่าราคาย่อมเยา เราถึงอยากเน้นว่า ซื้อของถูกได้ แต่ต้องได้คุณภาพ เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า
“ถามว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศขาลงหรือยัง ยังไปได้ ถ้าอยากจะไปต่อ ยังมีพื้นที่ให้เล่น ไม่ปฏิเสธว่าปัจจุบันมีปิดโรงงานไปบ้างที่สู้จีนไม่ไหว แต่ต้องปรับตัว หาเวย์ของตัวเอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า คนที่ทำแบบนี้ถึงจะไปได้ ในทุกๆ ธุรกิจมีโอกาสและทางออกเสมอ แม้ปี 2567 ภาพรวมตลาดจะดร็อปลงไปบ้าง แต่ปี 2568 น่าจะดีขึ้น เพราะธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าโตตามตลาดอสังหาฯ ที่สร้างใหม่ คาดว่าปีหน้า 2568 ตลาดอสังหาฯจะดีขึ้น”
นอกจากนี้ สุภาณีประเมินภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลัง 2567 มีปัจจัยทำให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น หลังมีความแน่นอนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะความแน่นอนทางการเมืองที่มีความมั่นคงระดับหนึ่ง เมื่อได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีรัฐบาลชุดใหม่ คงไม่มีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ แม้อาจยังไม่มีความเสถียรภาพมากนัก คิดว่านโยบายคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิม อย่างแจกเงินสดดิจิทัลวอลเล็ต ให้กลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือว่าดี เพราะตอนนี้คนไม่มีเงิน ต้องใช้เงิน ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐเร่งผลักดันและสานต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะได้มีการเริ่มต้นโครงการแล้ว อย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
สำหรับประเด็นร้อนในวันนี้ คือ ปัญหาสินค้าจีน ซึ่งสิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งทำในระยะสั้น คือ ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการควบคุม การได้ของไม่ตรงปก เน้นเรื่องคุณภาพสินค้าให้ผ่านมาตรฐานและมี มอก. เราสู้กับเขาตรงๆ คงไม่ได้ เพราะเขามาด้วยวอลุ่ม อาจต้องเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ แทนที่จะสู้กับเขาตรงๆ เราทำธุรกิจร่วมกับเขา ร่วมทุนกับเขา เปลี่ยนวิธีคิดจากคู่แข่งเป็นคู่ค้า เช่น ถ้าอยากมาขายในประเทศ ขอให้ขายผ่านผู้แทนขายคนไทยได้หรือไม่ ไม่ใช่ใครก็เข้ามาได้
สุภาณีได้สะท้อนมุมมองต่อการปรับขึ้นค่าแรงรายวันขั้นต่ำ 400 บาท ควรต้องจ่ายตามทักษะที่มี หรือเพย์บายสกิล เพราะถ้าขึ้นเท่ากันหมด คนที่แฮปปี้สุด คือ คนงานก่อสร้างที่เป็นต่างด้าว ยอมรับว่าค่าแรงมีผลกระทบแน่นอนต่อธุรกิจ เพราะเมื่อค่าแรงขั้นต่ำขึ้น คนจบปริญญาตรีก็ต้องขึ้นตามไปด้วย คงจ่ายเท่าค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ น่าห่วงที่สุดคือธุรกิจรายเล็กที่เป็นเอสเอ็มอี
ในส่วนของเราเอง ได้มีการเตรียมรับมือและปรับโครงสร้างพนักงานภายใน เพื่อรองรับค่าแรงแล้วตามทักษะฝีมือ เช่น พนักงานคนนี้พูดได้หลายภาษาเราจ่ายเอ็กซ์ตราให้
ซึ่งหลังจากนี้คงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงอย่างเป็นทางการแล้ว