ส่องสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ 9 ก.ย. น้ำเก็บกักในอ่างใช้การได้แค่ 47%
เมื่อวันที่ 9 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 กันยายน 2567 เวลา 07.00 น. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่
- ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (92 มม.)
- ภาคใต้ : จ.สตูล (86 มม.)
- ภาคเหนือ : จ.ตาก (72 มม.)
- ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (62 มม.)
- ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (57 มม.)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (9 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน เริ่มมีกำลังอ่อนลงเป็นกำลังปานกลาง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน ‘ยางิ’ ปกคลุมบริเวณประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางพื้นที่
คาดการณ์ ช่วงวันที่ 10-13 กันยายน 2567 ร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม ปริมาณน้ำรวม 64% ของความจุเก็บกัก (51,307 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 47% (27,125 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3-9 กันยายน 2567 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
- พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ
อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล - เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
- เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา
บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในห้วงปัจจุบัน พร้อมประสานการปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุกทภัยในห้วงต่อไป ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทุกภาคส่วน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
สำหรับสถานการณ์ในห้วงต่อไป ช่วงเดือนกันยายน 2567 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น เนื่องด้วยอิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง และอาจได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทย อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและบริเวณที่เกิดภาวะน้ำท่วมขังเป็นประจำ กรมป้องกันและ
บรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้เน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 8 กันยายน 2567 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่
- จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล และพญาเม็งราย)
- จ.สุโขทัย (อ.ศรีสำโรง คีรีมาศ และกงไกรลาศ)
- จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ)
- จ.นครสวรรค์ (อ.ชุมแสง)
- จ.อ่างทอง (อ.โพธิ์ทอง แสวงหา วิเศษชัยชาญ และป่าโมก)
- จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล บางปะหัน ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และบางปะอิน)