เปิดหนังสือชี้ชวน กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง ปันผลปีละ 2 ครั้ง ผลตอบแทน 3-9%
ทันทีที่กระทรวงการคลัง ประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ในวันที่ 16-20 กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 18-20 กันยายน โดยนักลงทุนจะสามารถทราบผลการจัดสรรหน่วยลงทุนได้ภายในวันที่ 23 กันยายน นี้้ ส่งผลดัชนีหลักทรัพย์ (หุ้น) ปรับขึ้นต่อเนื่อง 2 วันรวมกว่า 74 จุด
เปิดไทม์ไลน์ช่วงขายหน่วยลงทุนกองทุนวายุภักษ์ 1 ประเภท ก.
วันที่ 16-20 ก.ย.67 เปิดขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ให้ประชาชนรายย่อยจองซื้อ
วันที่ 18-20 ก.ย.67 เปิดขายหน่วยลงทุนให้นักลงทุนสถาบัน
วันที่ 23 ก.ย.67 ทราบผลการจัดสรรหน่วยลงทุน แบบ Small Lot First
วันที่ 1 ต.ค.67 กองทุนฯ เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นไทย
วันที่ 15 ต.ค.67 หน่วยลงทุน VAYU1 เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น
ทั้งนี้้ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) รายงานข้อมูล “กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง” (Vayupak Fund 1) และจากเอกสารส่วน Factsheet ซึ่งเผยแพร่ ณ วันที่ 6 ก.ย.2567 มีสาระสำคัญดังนี้
โดยกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง มีความเสี่ยงระดับ 5 มีนโยบายลงทุนทั้งเชิงรุก และรับเน้นหุ้นสามัญ 88% สำหรับประเภท ก. ที่รายย่อยซื้อได้ จองขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท กำหนดผลตอบแทน 10 ปีแรก 3-9% ต่อปีปันผลปีละ 2 ครั้ง คุ้มครองเงินต้นถ้าถือครบเงื่อนไข
นโยบายลงทุน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1.หลักทรัพย์สภาพคล่อง อาทิ ตราสารภาครัฐ ตราสารหนี้ระยะสั้น ตราสารการเงิน หรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ที่เสนอขายทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนเงินฝาก
2.หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุน รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ
3.หลักทรัพย์อื่นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ กองทุนรวมอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน
สัดส่วนการลงทุนแบ่งออกเป็นประเภทหลักทรัพย์ต่างๆ ตามข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2567
1. หุ้นสามัญ 88.36% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV)
2. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 7.01%
3. ตั๋วเงินคลัง 1.48%
4. เงินฝากธนาคาร 1.07%
5. หุ้นกู้ 0.62%
6. สินทรัพย์ และหนี้สินอื่นๆ 0.45%
7. หน่วยลงทุนตราสารทุน 0.32%
8. พันธบัตรรัฐบาล 0.27%
9. หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 0.18%
10. ตั๋วแลกเงิน 0.16%
11. หุ้นบุริมสิทธิ 0.05%
12. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 0.02%
สำหรับเฉพาะหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน 5 อันดับแรกที่ลงทุนมากที่สุดเรียงได้ดังนี้ บมจ. ปตท. 35.07%, บมจ.เอสซีบี เอกซ์ 25.03%, ธนาคารทหารไทยธนชาต จํากัด (มหาชน) 5.54%, ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) 3.36%, บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น 3.03% (% เทียบกับสัดส่วน NAV รวม)
ประเภทและคุณสมบัติของผู้ลงทุน
บริษัทจัดการจะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ให้แก่นักลงทุนทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมสหกรณ์ มูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น โดยจะไม่เสนอขายให้นักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ ประเภทของผู้จองซื้อ ได้แก่ 1.ผู้ลงทุนรายย่อย และ 2.ผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม
ชนิดหน่วยลงทุน และสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนแยกตามชนิดของหน่วยกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. กับ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข.
ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หมายถึง ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นนักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์ มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ เป็นต้น โดยบริษัทจัดการจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้ทุกวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. หมายถึง กระทรวงการคลัง และอาจประกอบด้วยนักลงทุนภาครัฐ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุนของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ นักลงทุนภาครัฐ หมายถึงรัฐวิสาหกิจนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม เป็นต้นกองทุนที่จัดตั้งตามความจำเป็นของหน่วยงานรัฐหรือตามนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังหรือกฎหมายว่าด้วยวิธีการประมาณ แล้วแต่กรณี
ผลตอบแทนการลงทุนสำหรับผู้ที่จองซื้อหน่วยลงทุน
แม้เป็นกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่งมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และไม่มีกำหนดอายุโครงการแต่สําหรับผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี หากลงทุนระยะสั้นกว่านั้นแล้วต้องการขายหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด สามารถขายหน่วยลงทุนได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม ราคาหน่วยลงทุนในตลาดอาจสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (10 บาทต่อหน่วย)
กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดให้จองซื้อสำหรับรายย่อยในช่วงเปิดเสนอขายเพียงครั้งเดียว โดยผู้ที่ต้องการลงทุนในหน่วยลงทุนประเภท ก. จะต้องทำการจองซื้อขั้นต่ำที่ 10,000 บาท หน่วยลงทุนประเภท ก. จะถูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ถือสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการหลังจากจบช่วงการเสนอขาย
ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นี้จะได้รับสิทธิในการจ่ายเงินปันผล จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี และอัตราสูงสุด 9% ต่อปี ตลอดระยะเวลาการลงทุน 10 ปีแรก
และผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่กองทุนมีมูลค่าลดลง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหน่วยประเภท ข.
ส่วนผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ข. จะถูกคำนวณจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน หักลบด้วยผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. อาจไม่ได้รับเงินปันผลหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
บริษัทจัดการ-ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุน ประกอบด้วย
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) www.mfcfund.com โทร.02-649-2000 กด 0
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) www.ktam.co.th โทร.02-686-6100 กด 9
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด www.finansa.com โทร.02-697-3800
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) www.kasikornbank.com โทร.02-888-8888 ต่อ 869
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) www.bangkokbank.com โทร.1333 หรือ 02-645-5555 ตรวจสอบผลการจัดสรร กด *555
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) www.krungthai.com โทร.02-111-1111
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) www.krungsri.com โทร.1572
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) www.scb.co.th โทร.02-777-6784
ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th โทร.1115 กด 5