ผู้เขียน | พิภพ แซ่ตั๊น |
---|
เจาะงานวิจัยกรมประมง กรณีปลาหมอคางดำ
การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชนกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในมูลค่าสูงถึง 2,400 ล้านบาท ยังคงเป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานว่าปลาที่ระบาดดังกล่าว อาจเกิดจากเอกชนรายหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง สมมุติฐานนี้จะถูกต้องหรือไม่ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกยาวนาน โดยหนึ่งในข้อพิจารณาที่หนักแน่นน่าจะเป็นเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์เช่นการตรวจสอบ DNA ของปลา
กรมประมง เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับ DNA ออกมา 2 ฉบับ ได้แก่ 1.เรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมกับพันธุปฏิทรรศน์ของการระบาดปลาหมอสีคางดำในประเทศ ปี 2563 และ 2.เรื่องการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดําในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร ปี 2565 ซึ่งสองฉบับนี้มีบทสรุปต่างกัน โดยฉบับแรกบ่งชี้ว่า ปลาจากทั่วประเทศ อาจมาจากการนำเข้าพื้นที่มากกว่า 1 ครั้ง ขณะที่การกระจายต่างพื้นที่ที่อยู่ห่างกัน น่าจะไปโดยการนำพาเข้าไปของมนุษย์มากกว่าที่จะไปโดยธรรมชาติ ส่วนฉบับที่ 2 สรุปว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน ซึ่งน่าจะเกิดจากการอ่าน “บทคัดย่อ” มากกว่าการวิเคราะห์ผลการวิจัยจริงๆ จากนักวิทยาศาสตร์ที่รู้จักเทคนิคการวิจัยทั้ง 2 รูปแบบนี้
เมื่อครั้ง อนุกรรมาธิการ อว. เข้าเยี่ยมชมกรมประมง นักวิจัยกรมประมงได้ชี้แจงถึงงานวิจัยให้ฟังว่า “เรื่องการวิเคราะห์เส้นทางแพร่ระบาด เราเก็บตัวอย่างจากพื้นที่แพร่ระบาด 7 จังหวัดมาวิเคราะห์ ดังนั้น วิเคราะห์เส้นทางแล้วผลการศึกษาพบว่าความเกี่ยวข้องของประชากรทั้ง 7 จังหวัดมีความคล้ายคลึงกันของประชากร และขอบเขตการแพร่กระจายมีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำอยู่ 2 ลักษณะคือ 1.จากคลองที่เชื่อมต่อกัน 2.จากการขนส่งเคลื่อนย้ายโดยมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แล้วเกิดการหลุดรอด เพราะเราพบการแพร่กระจายเป็นหย่อมๆ ไม่ใช่คลองที่เชื่อมต่อถึงกัน เช่น ชายฝั่งทะเล” … อาจจะเป็นคำอธิบายสั้นๆ ที่วิเคราะห์ผลได้ไม่ครบถ้วนนัก
ขณะที่ นักชีววิทยาโมเลกุล ที่ศึกษาเกี่ยวกับ DNA ได้อ่านงานวิจัยดังกล่าวและมองเห็นจุดเด่น-จุดด้อย พอสังเขปดังนี้
1. จุดเด่นในด้านวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน งานวิจัยทั้งสองชิ้นมีวัตถุประสงค์หลักในการตรวจสอบว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่มีการระบาดนั้น มีโครงสร้างประชากรทางพันธุกรรม โดยแบ่งเป็นประชากรย่อยหรือไม่ มีการนำเข้ามาในประเทศไทยพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์รองว่า ประชากรปลาหมอสีคางดำดังกล่าวมีความหลากหลายทางพันธุกรรมในระดับใด
2. มีการศึกษาทางพันธุกรรมส่วน microsatellites (การศึกษาปี 2563) และ mitochondrial DNA ส่วน D-loop (การศึกษาปี 2565) ซึ่งสามารถชดเชยข้อด้อยและเสริมข้อดีของเครื่องหมายดีเอ็นเอแต่ละแบบ
แต่ก็ยังมีข้อด้อยที่น่าจะนำไปพัฒนาให้งานวิจัยสมบูรณ์ขึ้นได้ ดังนี้
1. ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาปี 2563 และการศึกษาปี 2565 เป็นคนละชุดกัน ทำให้การชดเชยข้อด้อยและเสริมข้อดีของเครื่องหมายดีเอ็นเอต่างชนิดกันมีประสิทธิภาพที่ลดลง
2. สถิติสำหรับการตรวจโครงสร้างประชากรทางพันธุกรรมว่าแบ่งเป็นประชากรย่อยหรือไม่ และมีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง จะใช้สถิติชนิด FST (หรือสถิติที่เทียบเคียงกับ FST) ระหว่างคู่ประชากร และ Analysis of Molecular Variance (AMOVA) เป็นหลัก หากผลการทดสอบทางสถิติมีนัยสำคัญ จะสรุปว่าพันธุกรรมของประชากรปลาหมอสีคางดำ มีความแตกต่างกัน โดยประเด็นของความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาที่ตรวจสอบจากแหล่งต่างๆจะเป็นปัจจัยเสริมเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า น่าจะมีการนำปลาหมอสีคางดำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้ง
2.1 การศึกษาทางพันธุกรรมส่วน microsatellites (การศึกษาปี 2563) มีการใช้ สถิติที่เทียบเคียงกับ FST คือ ตรวจสอบว่าการกระจายขนาดอัลลีลของ microsatellites แต่ละตำแหน่ง (locus) ของแต่ละคู่ของประชากร มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ พบว่ามีความแตกต่างกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้ทดสอบค่าดังกล่าวในลักษณะรวมทุกตำแหน่ง (overall loci) และไม่ได้ทดสอบ AMOVA ซึ่งเป็นมาตรฐานของการศึกษาเครื่องหมายไมโครแซทเทไลต์ว่ามีผลอย่างไร
2.2 การศึกษาทางพันธุกรรมของ mitochondrial DNA ส่วน D-loop ได้ทดสอบ AMOVA พบว่ามีความแตกต่างของประชากรที่พบในราชอาณาจักรไทยอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P < 0.0001) ซึ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามีการแบ่งโครงสร้างประชากรเป็นหลายกลุ่ม แต่ผู้วิจัยไม่ได้ทำการตรวจสอบ FST ระหว่างคู่ประชากรว่า คู่ประชากรจากแหล่งใดมีความแตกต่างกัน และมีความแตกต่างกันในระดับใด อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยได้ให้ความสำคัญกับค่าแตกต่างทางระหว่างประชากรที่มีค่าต่ำ นำไปสู่การสรุปในบทคัดย่อว่าแต่ละประชากรย่อยไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมากนัก ทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยที่ผลการทดลองบ่งชี้ว่าตัวอย่างที่ทำการศึกษามีพันธุกรรมที่แตกต่างกันตั้งแต่ต้นแล้ว
2.3 ไม่ได้นำข้อมูล mitochondrial DNA ส่วน D-loop เข้าในระบบฐานข้อมูล GenBank จึงไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเทียบกับฐานข้อมูล และไม่สามารถเทียบข้อมูลการระบาดปัจจุบันกับข้อมูลของการศึกษาในปี 2565
เอาแค่นี้ก็พอจะเห็นว่าความเข้าใจของผู้อ่านบางคนที่คิดว่าปลามาจากแหล่งเดียวจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปมาก ส่วนการเคลื่อนย้ายของปลาที่เกิดจากฝีมือมนุษย์นั้นค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น หากกรมประมงจะขยายผลงานวิจัยตามคำแนะนำข้างต้น ก็น่าจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ ครบถ้วน และเกิดประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นายกฯอิ๊งค์เผยดึง ‘เต้น’ กุนซือ ไทม์มิ่งเหมาะ เจ้าตัวแจงเหตุกลับลำ เรืองไกร ยื่นกกต.สอบทันที
- ลูกเด้งสาวไทยพ่ายฮ่องกง ตกรอบศึกชิงแชมป์เอเชีย
- ‘อนุทิน’ ตอบแล้ว ‘เนวิน’ เข้าจันทร์ส่องหล้า กินมื้อเย็นฉลองวันเกิด ยันไม่มีนายกฯคนละครึ่ง
- ‘อนุทิน’ จัดทัพโยกสลับ 25 บิ๊กมท. ‘ไชยวัฒน์’ คุมปค. ‘นฤชา’ นั่งสถ. ผู้ว่าฯปทุมผงาดปภ.