ม.หอค้าเผยหนี้ครัวเรือนสูงสุดรอบ16 ปี 6 แสนบ.ต่อครัว ชี้ปัญหาสังคมน่ากังวลว่าเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 กันยายน ถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย จากประชาชน 1,300 ตัวอย่าง ระหว่าง 1-7 กันยายน พบว่า 99.7% ของกลุ่มสำรวจระบุครัวเรือนมีหนี้สินใกล้เคียงจากปี 2566 โดยหนี้อันดับแรก 60% ระบุเป็นหนี้จากบัตรเครดิต ตามด้วยใช้จ่ายเพื่อยานพาหนะ/เดินทาง และหนี้ส่วนบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภคประจำวัน ซภาพรวมหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 606,378 บาท ส่วนใหญ่ 69.9% เป็นหนี้ในระบบ และมีภาระผ่อนชำระต่อเดือน 18,787 บาท อีก 30.1% เป็นมีหนี้นอกระบบ และผ่อนชำระต่อเดือน 6,518 บาท ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ และมองว่ายังต้องแบกภาระเป็นหนี้ในปัจจุบันไปอีก 1 ปี สาเหตุที่การเป็นหนี้เพิ่มขึ้น คือ รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย มีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงิน ค่าครองชีพสูง และภาระทางการเงินในครอบครัวสูงขึ้น ส่งผลให้ 71.6% ประสบปัญหาขาดการผ่อนชำระหนี้หรือผิดนัด และมองว่าในระยะ 6-12 เดือนจากนี้ ส่วนใหญ่ 34.2% มองว่ายัง มีโอกาสประสบปัญหาผ่อนมาก ผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่สอดคล้องรายจ่าย ดอกเบี้ยสูง ภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนมาก รายได้ลดลง และหางานทำไม่ได้
“การสำรวจพบว่าปี 2567 คนไทยมีภาระหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 16 ปีนับจากที่ได้ทำสำรวจปี 2552 ที่เฉลี่ยกว่า 6.06 แสนบาท และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% ยังสูงสุดติดอันดับ 7 ของโลก หรือคิดเป็น 90.4-90.8% ของจีดีพีประเทศ ดูจากสาเหตุเป็นหนี้ยังไม่ถือว่าบั่นทอนภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดจากความจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน และเจอปัญหาสะสมตั้งแต่เกิดโควิดระบาด สงครามการค้าสหรัฐกับจีนสงครามภูมิรัฐศาสตร์ ดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจโลกถดถอย ภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ ดังนั้น การที่นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการลดภาระหนี้ครัวเรือนถือเป็นเรื่องที่ดี โดยควรมีชำแหละว่าคนไทยเป็นหนี้จากอะไร และสิ่งที่รัฐใช้นโยบายช่วยเหลือนั้น มีผลต่อการโยกหนี้นอกระบบเข้าระบบ และการปรับโครงการหนี้มีประสิทธิภาพอย่างไร อยากให้รัฐบาลกระตุ้นคลินิกแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รู้ว่าหนี้ประชาชนเกิดจากส่วนใหญ่ และมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้นตรงจุดแท้จริง เช่น การพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ตรงจุดจริง หรือ มีอะไรที่ปรับปรุง ” นายธนวรรธน์ กล่าว
“เศรษฐกิจจากนี้ไม่น่ากังวลเท่าภาคสังคม น่าห่วงมากกว่า เพราะไทยกำลังเผชิญเรื่องปัญหายาเสพติด การเคลื่อนย้ายทุนต่างชาติ แรงงานไทยจะลดลงอัตราคนเสียชีวิตสูงคนเกิดใหม่ ต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานป้อนอุตสาหกรรมยุคใหม่ และแรงงานไทยอาจขาดแคลนในอนาคต จะเป็นจุดเสียเปรียบต่อการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ เรื่องนี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะมีการออกนโยบายเพื่อรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ” นายธนวรรธน์ กล่าว