ดูเหมือนธุรกิจสวนน้ำ-สวนสนุกในประเทศไทย กำลังจะกลายเป็นธุรกิจขาลง ท่ามกลางการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป หลังวิกฤตโควิดขณะที่กำลังซื้อก็ไม่เหมือนเดิม ทำให้ภาพรวมธุรกิจ จากยุครุ่งโรจน์ มีนักลงทุนหน้าใหม่ตบเท้าเข้ามาไม่ขาดสาย ในหัวเมืองยอดฮิต ทั้งหัวหิน ภูเก็ต พัทยา เข้าสู่ยุคร่วงโรยมานานนับปี
จึงเห็นหลายแห่งที่สายป่านสั้น แบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ยอมยกธงขาว ประกาศขายกิจการอย่างที่เป็นทางการและเป็นการภายใน โดยเมื่อปลายปี 2566 โครงการ “ซานโตรินี พาร์ค ชะอำ” ขึ้นป้ายขายกิจการพร้อมที่ดินเนื้อที่ 60 ไร่ ตั้งราคาขายไม่รวมเครื่องเล่น 580 ล้านบาท แต่ถ้ารวมเครื่องเล่นด้วยอยู่ที่ 800 ล้านบาท และยังคงมีอีกหลายแห่งตามมา
“วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ผู้ประกอบกิจการสยามอะเมซิ่งพาร์ค (สวนสยาม) และนายกสมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสวนน้ำและสวนสนุกในไทย รายได้โดยรวมของธุรกิจลดลง 30-40% จากภาวะเศรษฐกิจ คนระมัดระวังการใช้เงิน โดยเฉพาะกลุ่มกลาง-ล่างที่กำลังซื้อหายไปมาก ขณะที่รูปแบบการท่องเที่ยวก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้มาใช้บริการไม่มากเหมือนเมื่อก่อน
“หากเป็นสวนน้ำสวนสนุกที่มีการบริการแบบผสมผสาน เช่น มีโรงแรมและห้องประชุมด้วย ยังคงไปได้จากลูกค้าองค์กรที่เข้ามาใช้บริการ แต่ถ้าเป็นธุรกิจสวนน้ำสวนสนุกแบบเดี่ยวๆ อาจจะลำบากบ้าง แต่ที่น่าจะไปได้ดี คือ สวนน้ำสวนสนุกอยู่ในศูนย์การค้า เพราะลูกค้ามีกำลังซื้อสูง” นายวุฒิชัยกล่าว
แล้วสวนสนุกที่ปิดตัวไป ยังมีค่าหรือประเมินค่าได้หรือไม่ มีมุมมองจาก “โสภณ พรโชคชัย” ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ที่มองว่า สวนสนุกที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้บริการแก่เด็ก ครอบครัวหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ให้เข้าไปเล่นเพื่อความสนุกสนาน ในประเทศไทยที่มีการพัฒนามานาน เช่น แฮปปี้แลนด์ แดนเนรมิต สวนสนุกเหล่านี้บ้างก็ตั้งอยู่เฉพาะตัว หรือบ้างก็อาจอยู่ในศูนย์การค้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่หลากหลายและครบเครื่อง
เริ่มจาก “แฮปปี้แลนด์” เป็นสวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 เขตบางกะปิ เปิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2516 ถึง 9 กันยายน 2522 มีเครื่องเล่น ได้แก่ ชิงช้าสวรรค์ รถไฟเหาะ เรือหรรษา ปาเป้า ม้าหมุน ชิงช้า กระดานหก บ้านผีสิง หลังปิดไปได้นำพื้นที่พัฒนาเป็นหมู่บ้านจัดสรร “หมู่บ้านสินธร” ตามมาด้วยตลาดสด ตึกแถว อาคารชุดในนาม “แฮปปี้แลนด์ กรุ๊ป”
“แดนเนรมิต” เป็นสวนสนุกกลางแจ้งแห่งที่สองของไทย อยู่ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เยื้องเซ็นทรัลลาดพร้าว มีพื้นที่ 33 ไร่ เปิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2519 ลงทุนกว่า 70-80 ล้านบาท มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิด มีความโดดเด่นตรงปราสาทเทพนิยายตั้งอยู่ด้านหน้า ภายในมีเครื่องเล่น เช่น รถไฟเหาะ รถไฟรางเดี่ยว เรือไวกิ้ง ยังมีส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี หลังหมดสัญญาเช่าเมื่อปี 2543 ก็ถูกทิ้งร้าง จนต่อมาได้พัฒนาเป็น “จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต” เปิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 เน้นเป็นที่ถ่ายรูป ที่ท่องเที่ยว ธีมยุโรปวินเทจ และตั้งแต่ 4 เมษายน 2567 ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็น “ตลาดนัดรถไฟ” ขณะที่ผู้ประกอบการหลังหมดสัญญาเช่า ก็ไปทำสวนสนุกแห่งใหม่ “ดรีมเวิลด์”
“สยามอะเมซิ่งพาร์ค” หรือสวนสยามเดิม เปิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2523 ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การค้า สวนสนุก และสวนน้ำ อยู่ถนนสวนสยาม เขตคันนายาว กรุงเทพฯ เนื้อที่กว่า 300 ไร่ มีจุดเด่น คือ ทะเลเทียมขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของฉายา “ทะเลกรุงเทพ” ยังถูกบันทึกว่าเป็นทะเลเทียมที่ใหญ่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท อมรพันธ์นคร-สวนสยาม จำกัด ถือเป็นทั้งสวนน้ำและสวนสนุกที่ใหญ่ที่สุดของไทย นอกจากนี้ยังมีรางน้ำวน สปาพร้อมเครื่องเล่นทางน้ำครบครัน สไลเดอร์
ที่สูงเท่ากับตึก 7 ชั้น ซุปเปอร์สไปรัลรางน้ำคดเคี้ยว รถไฟเหาะวอร์เท็กซ์ รถไฟเหาะบูมเมอแรง และเครื่องเล่นอื่นๆ อีก 40 ชนิด มีห้องสัมมนาจัดเลี้ยงรับรองสำหรับการประชุม กิจกรรมต่างๆ อีกด้วย
“ดรีมเวิลด์” เป็นสวนสนุกกลางแจ้งขนาดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ กม.ที่ 7 บนถนนรังสิต-นครนายก มีเนื้อที่กว่า 160 ไร่ บุกเบิกโดย “ตระกูลกิติพราภรณ์” ที่เห็นว่าสวนสนุกแดนเนรมิตจะหมดสัญญาเช่า จึงซื้อที่ดินแถบชานเมืองสร้างสวนสนุกแห่งที่ 2 ใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท จึงเกิดเป็น “สวนสนุกดรีมเวิลด์” เปิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2536
“โสภณ” กล่าวว่า ปัจจุบันสวนสนุกในไทย ยังคงเปิดบริการอยู่หลายแห่ง ได้แก่ 1.สยามอะเมซิ่งพาร์ค 2.ดรีมเวิลด์ 3.Pororo AquaPark Bangkok อยู่ชั้น 6 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา บางนา 4.Columbia Pictures Aquaverse ต.นาจอมเทียน จ.ชลบุรี 5.Ramayana Water Park ต.นาจอมเทียน จ.ชลบุรี 6.Pattaya Park Beach Resort หาดจอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี 7.Vana Nava Water Jungle อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 8.Splash Jungle Water Park Phuket ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
“เห็นได้ว่าสวนสนุกกลุ่มใหญ่จะอยู่กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่พื้นที่อื่น โอกาสการทำสวนสนุกจะจำกัด เพราะมีประชากรกลุ่มน้อยกว่ามาก” โสภณกล่าว
ยังวิเคราะห์บทเรียนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาในทวีปอเมริกาเหนือ มีอัตราความล้มเหลว 31% จากสวนสนุก 23 แห่ง เปิดในปี 2498-2552 เกิดจากวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินที่ผิดพลาด โดยจะเห็นได้ว่าสวนสนุกที่ประสบปัญหา เกิดจาก 4 สาเหตุ 1.มีหนี้มากเกินไป 2.ความพึงพอใจของลูกค้าต่ำ 3.ความกดดันทางการเงิน 4.บางแห่งมีพื้นที่จำกัดสำหรับการขยาย ทำเลที่ตั้งไม่ดี ไม่สามารถรองรับความต้องการเครื่องเล่นและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ
“กรณีสวนสนุกหมดสัญญาหรือไม่สามารถทำต่อได้ เพราะธุรกิจไม่ดี สวนสนุกเหล่านี้ มีทางเลือก 1.ขายอุปกรณ์การเล่นให้สวนสนุกอื่นหรือขายทิ้งเป็นเศษเหล็ก 2.ขายที่ดินหรือพัฒนาเป็นอย่างอื่น เช่น โครงการอสังหาฯ 3.สวนสนุกส่วนมากไม่อาจทำต่อได้หรือพัฒนาขึ้นมาใหม่ได้ เพราะอุปกรณ์เสื่อมโทรม ไม่มีคุณภาพ ไม่ทันสมัย จึงจำเป็นต้องเริ่มการพัฒนาใหม่ต่อไป” โสภณกล่าว
หากเจ้าของต้องการขายกิจการ ต้องประเมินค่าทรัพย์สินสวนสนุกอย่างถี่ถ้วน ซึ่ง “โสภณ” วิเคระห์ไว้ 4กรณี 1.กรณีสวนสนุกยังเปิดอยู่ มูลค่าของกิจการขึ้นอยู่กับกำไรสุทธิแต่ละปีตามระยะเวลาสัญญาเช่าหรือเวลาของกิจการนั้นๆ ถ้ามูลค่ากิจการน้อยกว่าราคาที่ดินหรือใกล้เคียงราคาที่ดิน แสดงว่ากิจการอาจไม่เหมาะสมกับที่ตรงนั้นแล้ว อาจต้องเลิกกิจการ หรือทำเป็นกิจการชั่วคราวเท่านั้น
2.กรณีสวนสนุกที่ไม่ประสบความสำเร็จ โอกาสจะพัฒนาขึ้นใหม่ก็เป็นไปได้ โดยต้องขยายพื้นที่ ขยายเครื่องเล่น ส่งเสริมการขายใหม่ รวมถึงวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินว่าเพียงพอหรือไม่
และ 3.กรณีที่ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ ขาดความเป็นไปได้ทางการเงิน ก็อาจไม่มีมูลค่า สิ่งที่พอมีราคา คือ สังหาริมทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่ เช่น เครื่องเล่น ชิงช้า ที่จะขายได้ในราคา “ของมือสอง” ที่มีค่าเสื่อมอยู่ตามสมควรและอาจมีค่าขนย้ายด้วย และ 4.สำหรับที่ดินจะขายได้ตามราคาตลาด หรืออาจใช้เช่าทำกิจการอื่น เช่น ศูนย์การค้า อพาร์ตเมนต์ ซึ่งสามารถตีค่าตามราคาตลาดนั่นเอง