วันนี้ผมขอมาแชร์เรื่องงานของทาง TK Park ที่กำลังพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้ในรูปแบบที่เรียกว่า “รู้อดีต เชื่อมอนาคต” ที่ตั้งใจจะสร้างแรงบันดาลสำหรับการนำต้นทุนของ Local Wisdom เพื่อการก้าวสู่อนาคต ซึ่งทาง TK Park กำลังจะไปทดลองจัดกระบวนการที่จังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้ธีมงาน “คอน NEXT” ในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1,800 ปี ของนครศรีธรรมราชแสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมืองของเมืองนี้ตลอดมา ซึ่งยังคงส่งผลต่อบทบาทและความสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน และผมเชื่อว่าในอนาคตเมืองแห่งนี้ก็จะไม่ได้ลดความสำคัญลงแต่ประการใด เพราะ “คนคอน” มีความภาคภูมิใจในมรดกทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ซึ่งพวกเขามีความปรารถนาที่จะรักษามรดกอันมีค่านี้ให้สืบทอดต่อไป
คอน Next
ผมได้มีโอกาสสัมผัสจากผู้ที่รู้จักและการพบปะกับ “คนเมืองคอน” พบว่าส่วนใหญ่มีความภูมิใจในประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่น นอกจากนี้ คนเมืองคอนยังมีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะกับแขกผู้มาเยือน และเปิดกว้างในการรับวัฒนธรรมใหม่ๆ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ ซึ่งทำให้คนคอนมีอัตลักษณ์โดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ มากด้วยความสามารถด้านศิลปะ อีกทั้งยังมีเรื่องของการ “มู” ความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผสมผสานความเชื่อทางพุทธศาสนา
สิ่งที่น่าชื่นชม คือ คนนครฯไม่ว่าจะเป็นบุคคล ภาคประชาสังคม ผู้นำทางศาสนา และองค์กรต่างๆ ยังเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งต่างมีความประสงค์ที่จะส่งต่อมรดกเหล่านี้ไปสู่คนรุ่นต่อไป และด้วยความเป็นเมืองของ
นักปราชญ์ นักคิด นักเขียน ศิลปิน ครูช่าง ครูการแสดง ทำให้เราได้เห็นบุคคลเหล่านี้ เปิดบ้านตนเองให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ การนำภูมิปัญญามาต่อยอดให้เป็นสินค้าและบริการที่สร้างสรรค์ เช่น การนำภาษาปักษ์ใต้มาทำดนตรี มีการเสวนาในประเด็นต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
นี่จึงเป็นที่มาของงานเทศกาลการเรียนรู้นครศรีธรรมราช Learning Fest Nakhon 2024 ที่มีธีมว่า “คอน next รากนครเชื่อมต่ออนาคต” ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2567 ซึ่ง TK Park ร่วมมือกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เชิญชวนภาคีเครือข่ายนักสร้างการเรียนรู้ ร่วม 30 เครือข่าย มาร่วมจัดงาน เพื่อสร้างพลังความคิด ส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมือง ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ และเชื่อมต่อให้เมืองนครศรีธรรมราชก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยมีพื้นที่จัดงานรวม 13 จุดทั่วเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีการจัดกิจกรรม กว่า 50 รายการ เพื่อให้ได้รับความรู้ควบคู่กับความสนุกสนานเพลิดเพลิน การเรียนรู้เช่นนี้ จะส่งเสริมให้เกิดความรักที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต
ไฮไลต์กิจกรรมของคนคอน
1.การแกะสลักหนังตะลุง ที่พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ที่ทายาท ครูวาที ทรัพย์สิน ได้สานต่อมรดกที่ทรงคุณค่า เปิดบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง ที่บางตัวมีอายุเป็นร้อยกว่าปี มีการแสดงหนังตะลุงและเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง มีการทดลองแกะหนังตะลุง เป็นต้น
2.เวิร์กช็อป “วาดท่าวัง” โดยการเดินย่านท่าวัง พร้อมวาดรูป ประกวดผลงานและให้รางวัล รวมทั้งกิจกรรม “แลหนัง
นั่งแหลง” ชมภาพยนตร์สั้น เกิดจากดิน และร่วมรำลึกเหตุการณ์มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก พร้อมฟังเสวนา เรื่องเล่าพื้นถิ่น สู่ Digital Content รวมทั้งชมนิทรรศการศิลปะ “จากแมรี่แลนด์ถึงเมืองนคร” โดย บินหลาชัย ทั้งหมดนี้ จัดขึ้นที่ “บวรนคร” ซึ่งมีนายแพทย์บัญชา พงษ์พาณิช ชุบชีวิตให้อาคารเก่าที่เรียกว่า
ตึกยาว เพื่อให้เป็นแหล่งมั่วสุมทางปัญญา ให้กับคนรุ่นต่างๆ
3.นิทรรศการ “พาน้องมองเมืองคอน” ผลงานเยาวชนที่ออกไปเดินมองเมืองจนพัฒนาเป็นผลงานสร้างสรรค์ เพราะความรู้ไม่จำกัดเพียงรอบรั้วโรงเรียน แต่อยู่ทั่วทุกแห่งรอบตัว ทำให้เยาวชนมองเมืองที่เคยเห็น ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
4.เวิร์กช็อป ที่จะสร้างแรงบันดาลให้เข้าสู่อาชีพดนตรี ในกิจกรรม “เปิดบ้านหว่านเมล็ดพันธุ์ให้ฝันงอกเงย” โดยบินหลาแจ๊ซ ( Binlhajazz) ศิลปิน Local Artist ที่นำภาษาใต้เข้ามาใส่ในเพลงแจ๊ซหรือฟังก์ที่สนุกสนาน จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเพลงสนุกๆ ยกระดับเพลงพื้นบ้านให้ไปสู่สากล
5.การเสวนา หัวข้อ “กรรมกรประวัติศาสตร์” จากผู้ค้นหาสมุดไทยที่บันทึกประวัติศาสตร์เมืองนครซึ่งถูกเอาขึ้นไปเก็บไว้กว่าร้อยปีก่อน นักวิจัยที่สืบหาความเป็นนคร และอัตลักษณ์นคร ผ่านการค้นหาจากภาคสนาม และเอกสารโบราณและนักพัฒนาคอนเทนต์ประวัติศาสตร์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และต่อยอดความรู้ไปสู่การสร้างรายได้ นอกจากนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่ ที่มาพูดคุยกันในหัวข้อ “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ที่มองว่าอาหารการกินบอกเรื่องราวของผู้คนได้ บอกถึงการอพยพโยกย้าย บอกถึงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติได้ การนำทักษะ Food Stylist มาชูความโดดเด่นของอาหารถิ่นและอาหารใต้ การใช้ไอเดียสร้างสรรค์นำโกโก้ มาเปิดร้านเครื่องดื่มสุดฮิตหน้าพระธาตุยามค่ำคืน และการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาผสมผสานในอาหารตะวันตก แล้วมาปรุงรสชาติ ให้ตรงกับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ และเปิดพื้นที่ฟาร์มของครอบครัวให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในสวน
งานเทศกาลการเรียนรู้นครศรีธรรมราช 2567 แสดงให้เห็นว่า การเชื่อมโยงอดีตกับอนาคตของนครศรีธรรมราชไม่ใช่เพียงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม แต่เป็นการใช้รากฐานทางประวัติศาสตร์เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองให้ก้าวหน้าอย่างมีเอกลักษณ์ การเข้าใจและเรียนรู้จากอดีต จะช่วยให้เราสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองสำหรับชาวนครศรีธรรมราชและผู้มาเยือนทุกคน
ร่วมติดตามเทศกาลการเรียนรู้นครศรีธรรมราช ได้ที่เฟซบุ๊ก LearningFestThailand
https://www.facebook.com/LearningFestThailand
แล้วพบกันที่ ‘เมืองคอน’ นะครับ
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD