ดึงดาวเทียมพัฒนาอุตฯอ้อยยั่งยืน เพิ่มผลผลิต-ลดพีเอ็ม2.5

ประเทศไทยเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตของการเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 (เดือนธันวาคมพฤษภาคม) ที่มีค่าสูงเกินมาตรฐานบ่อยครั้งและเป็นปัญหาในหลายจังหวัด 

หนึ่งในต้นเหตุหลักคือการเผาไหม้ชีวมวล (Biomass Burning) เช่น การเผาวัสดุทางการเกษตร และการลักลอบเผาเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อย 

ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ระบุว่า ในฤดูการผลิตปี 2566/2567 มีปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลอยู่ที่ 82.17 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นอ้อยสดจำนวน 57.81 ล้านตัน (คิดเป็น 70.36%) และอ้อยไฟไหม้จำนวน 24.35 ล้านตัน (คิดเป็น 29.64%) 

Advertisement

เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการผลิตปี 2565/2566 ที่มีปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล 93.89 ล้านตัน แบ่งเป็นอ้อยสดจำนวน 63.63 ล้านตัน (คิดเป็น 67.78%) และอ้อยไฟไหม้จำนวน 30.78 ล้านตัน (คิดเป็น 32.78%) 

จะเห็นได้ว่าปริมาณอ้อยไฟไหม้มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี คิดเป็นลดลง 3.14% จากปีการผลิตก่อนหน้า

Advertisement

เป็นผลมาจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับในการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำนโยบายและมาตรการต่างๆ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้รถตัดอ้อย เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม เพื่อยกระดับในการขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ เพื่อลดการลักลอบเผาอ้อย วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการ สอน. ได้วางแผนที่จะนำเอาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียมเข้ามาใช้ในการติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย 

โดยนำเอาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ และแจ้งเตือนการเผาในพื้นที่ปลูกอ้อยรวมถึงการวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกอ้อย และการคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบ ในพื้นที่ต้นแบบระดับจังหวัดเพื่อขยายผลนำไปใช้งานทั่วประเทศได้ต่อไป

ช่วงต้นปีคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย เลขาฯวิฤทธิ์ ได้ประชุมรับฟังการนำเสนอเทคโนโลยีระบบดาวเทียมในการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย โดยเฉพาะแนวทางการตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้ในไร่อ้อย จากดาวเทียมสำรวจของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

โดยเทคโนโลยีระบบดาวเทียมสามารถประเมินภาวะ PM2.5 ได้โดยการวัดค่าการส่งผ่านรังสีของดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหมอกและฝุ่นละอองแล้วนำมาแปลงเป็นค่า PM2.5 

และยังสามารถติดตามจุดความร้อนและรอยเผาไหม้ หรือที่เรียกว่า Thermal sensors สำหรับการนี้มีอยู่ด้วยกัน 26 ดวง ที่มีขีดความสามารถในการตรวจจับและวิเคราะห์ร่องรอยการเผาไหม้ พร้อมภาพความเปลี่ยนแปลงจากการเผาไหม้ในแปลงอ้อย หรือพื้นที่เกษตรอื่นๆ 

นอกจากนั้น ยังสามารถเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มต่างๆ และสามารถระบุพื้นที่ได้ละเอียดถึงระดับรายแปลง จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งการติดตามประมวลผลรายงานค่า PM2.5 ระบุได้แม่นยำในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงสามารถคำนวณขนาดพื้นที่เผาไหม้กี่ไร่ และจะแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบจุดความร้อนในพื้นที่ได้ด้วย

โดยการตรวจสอบการเผาในพื้นที่ปลูกอ้อย เลขาฯวิฤทธิ์ ระบุว่า จะใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ 2 รูปแบบ

1.ข้อมูลจากดาวเทียมตรวจจับความร้อน (Thermal data) เพื่อวิเคราะห์จุดความร้อน (Hotspots)

2.ข้อมูลจากดาวเทียมภาพถ่ายมัลติสเปกตรัม (Multispectral imagery) เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นดัชนีระบุพื้นที่เผาไหม้ (Burn Area Index) หรือแสดงรอยเผาไหม้ (Burn Scar)

สาเหตุที่นำข้อมูล 2 รูปแบบมาใช้ร่วมกัน เนื่องจากหากพื้นที่ที่มีการเผาอ้อย แล้วดาวเทียมไม่ได้โคจรผ่านพื้นที่ตรงนั้น ณ เวลานั้น จะไม่มีข้อมูลปรากฏบนดาวเทียมว่าพื้นที่นั้นเกิดความร้อน (มีการเผาอ้อย) 

สอน.จึงได้นำภาพถ่ายมัลติสเปกตรัมที่แสดงรอยเผาไหม้ของพื้นที่นั้นเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง แม่นยำ เพื่อระบุพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการเผา เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย/มาตรการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สอน.ได้มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาในไร่อ้อยอย่างยั่งยืนไว้ 3 ด้าน

1.ด้านข้อมูล

แสดงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศไทย และรายจังหวัด อำเภอ ตำบล

แสดงข้อมูลตำแหน่งการเกิดจุดความร้อน (Hotspots) และรอยเผาไหม้ (Burnt areas) ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย (รายจังหวัด อำเภอ ตำบล และรายแปลง)

แสดงข้อมูล PM2.5 ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย (รายตำบล)

แสดงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานการณ์ภัยพิบัติ และข้อมูลแปลงปลูกอ้อย

2.ด้านการวางแผนโดยใช้ AI เข้ามาช่วย

สร้างแบบจำลอง และประมวลผลข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา

แสดงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ที่มีประวัติการเผาย้อนหลัง 3 ปี

แสดงแผนที่ความเสี่ยงต่อการเผา ในแต่ละพื้นที่

เชื่อมโยงข้อมูลโดยตรงกับโรงงานน้ำตาล และเกษตรกร

พัฒนาข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น การคาดการณ์ผลผลิต

3.ด้านระบบ

ค้นหาข้อมูลรายพื้นที่ : รายแปลง รายเขตการปกครอง (จังหวัด อำเภอ ตำบล)

ข้อมูลอัพเดตอย่างต่อเนื่องและใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

ระบบแจ้งเตือนพื้นที่เผา และจุดความร้อนต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

รองรับการเชื่อมต่อ API และฐานข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร โรงงานน้ำตาล และอื่นๆ

รวมทั้งนำข้อมูลทั้ง 3 ด้าน มาใช้เชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ

เชิงนโยบาย

เพื่อวางแผน บริหารจัดการ กำหนดนโยบายต่างๆ

ระบุพื้นที่เป้าหมายเพื่อวางมาตรการป้องกันการเผา และการเกิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ปลูกอ้อย

ระบุพื้นที่เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการเผา และเงื่อนไขการสนับสนุน (โดยอิงจากประวัติความร่วมมือในการงดเผาอ้อย)

ใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร และให้คำแนะนำเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล

เชิงปฏิบัติ

การแจ้งเตือนจุดเกิดไฟแก่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครเกษตรกร และเกษตรกรเจ้าของพื้นที่เกิดไฟ เพื่อการป้องปรามและระงับเหตุ

การระบุพื้นที่และเกษตรกรเป้าหมาย เพื่อเข้าร่วมโครงการและกิจกรรม เช่น ส่งเสริมการตัดอ้อยสด และไม่เผาเศษวัสดุทางการเกษตร สำหรับพื้นที่เสี่ยงแต่ละระดับ

เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ที่น่าติดตามผลดำเนินการนับจากนี้!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image