ฐากร ชูอุตสาหกรรมพีซีบี หัวใจหลักเปลี่ยนผ่านสู่ศก.ดิจิทัล หวังเพิ่มขีดแข่งขัน-ยกคุณภาพชีวิตประชาชน

ฐากร ชูอุตสาหกรรมพีซีบี หัวใจหลักเปลี่ยนผ่านสู่ศก.ดิจิทัล หวังเพิ่มขีดแข่งขัน-ยกคุณภาพชีวิตประชาชน
 
วันที่ 17 กันยายน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมสภาผู้แทนราษฎร (กมธ. อว.) กล่าวในงานสัมมนา ปลุกไทยฝ่าวิกฤตปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน ที่จัดโดยมติชน ว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย เพราะไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนในระยะยาว คณะกรรมาธิการ อว.จึงมีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาและศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จากกรอบอำนาจหน้าที่ดังกล่าว คณะกรรมาธิการจึงกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งส่งเสริมและพัฒนาระบบการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นวิจัยนำ นวัตกรรมตาม เพื่อยกระดับภาคการศึกษา ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาและส่งเสริมแผ่นวงจรพิมพ์ หรือ พีซีบี ถือเป็นภารกิจและนโยบายหลักของคณะกรรมาธิการในด้านการส่งเสริม การวิจัย และนวัตกรรม โดยอุตสาหกรรมพีซีบีของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างรายได้ในประเทศไทย รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เข้าสู่โลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป โดยในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พีซีบีถือเป็นหัวใจ สำคัญหลักในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ อาทิ อุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งอนาคตอย่างคอมพิวเตอร์ ยานยนต์อัจฉริยะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เอไอเซิร์ฟเวอร์ และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม โดยพีซีบีจะทำหน้าที่เป็นฐานในการประกอบหรือเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถทำงานได้ พีซีบีจึงถือเป็นกระดูกสันหลังหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดก็ว่าได้ ทำให้อุตสาหกรรมพีซีบีมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่โลกยุคดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

“ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกพีซีบีประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของตลาดโลกที่มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านบาท เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเพิ่มมูลค่าการส่งออกของพีซีบีให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพราะคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือช่วงปี 2569 ตลาดพีซีบีโลก จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 5.3 แสนล้านบาท ประเทศไทยจะทำอย่างไรในการรับอานิสงส์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ได้” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า จากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายในด้านนี้ ภายใต้หัวข้อรัฐบาลจะต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจากการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ให้ความสนใจพีซีบี เป็นกรณีพิเศษตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าที่จะขึ้นมารับตำแหน่งแล้ว ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องและเป็นแนวทางเดียวกันกับทิศทางการขับเคลื่อนของคณะกรรมาธิการ อว. ซึ่งจากข้อมูลสถานภาพของอุตสาหกรรมพีซีบีในประเทศไทย หากภาครัฐร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ทั้ง 3 หน่วยงานนี้มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ การจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเปิดโรงงานอุตสาหกรรมพีซีบีในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

นายฐากร กล่าวว่า หากประเทศไทยนำนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 50 ราย เชื่อว่าจะทำให้ส่วนแบ่งของตลาดพีซีบีของไทยเทียบกับตลาดโลกโตขึ้นเป็น 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับประเทศมากแล้วยังสามารถนำพาประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่รัฐบาลประกาศไว้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้เราต้องร่วมมือกันจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น

“การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการ อว. สภาผู้แทนราษฎร มีความคาดหวังว่า จะเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาล ภาคเอกชนและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันปลุกไทยฝ่าวิกฤติ ปั้นพีซีบีเศรษฐกิจจากแสนล้านที่มีอยู่เดิม ขอเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ให้ความสำเร็จเกิดขึ้นให้ได้ เพราะผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น คงไม่ใช่การสร้างรายได้ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในหลายด้านด้วย” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ยกตัวอย่าง 4 ด้านที่สำคัญ อาทิ 1.ทำให้เกิดการสร้างงานและการจ้างงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น เพราะอุตสาหกรรมพีซีบีเป็นแหล่งสร้างงานให้กับแรงงานไทยจำนวนมากโดยประมาณ 120,000 คน ตั้งแต่แรงงานในสายการผลิต วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาภาคส่วนนี้จะเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงงานที่มีรายได้สูงขึ้น และมีความมั่นคง ส่งผลให้ครอบครัวและชุมชนได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

2. เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานและการศึกษา มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้คนไทยมีทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และมีความต้องการสูง เป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอาชีพที่มั่นคง และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น 3.การเติบโตในด้านเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน เกิดการกระจายรายได้ และการกระจายตัวในอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ สร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศได้ในระยะยาว และ 4.การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายฐากร กล่าวว่า อุตสาหกรรมพีซีบีมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ยานยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีสื่อสารแห่งอนาคต ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การคมนาคม การสื่อสารที่สะดวกยิ่งขึ้น

การสัมมนาในวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพีซีบีให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สามารถนำพาประเทศไทยให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้ นำไปสู่การสร้างรายได้เข้าประเทศไทยในภาพรวมที่ดี อีกทั้งนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป รวมถึงคาดหวังว่าเวทีสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมพีซีบีให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image