ดั่ง “นก” เจ็บ โดย สรกล อดุลยานนท์

กรณี “นกแอร์” ที่เกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทางธุรกิจ


ผมเชื่อว่าถ้าใครบรรยายเรื่อง “Crisis Management” ในช่วงนี้

“นกแอร์” จะเป็นกรณีศึกษาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างอย่างแน่นอน

เพราะชัดเจนที่สุด

Advertisement

งานนี้ไม่รู้ว่า”นกแอร์” จะต้องใช้เวลานานเท่าไรที่จะกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรให้กลับคืนมา

ยิ่งมีปัญหาความขัดแย้งกับกัปตันที่ถูกไล่ออก

เรื่องยิ่งบานปลาย

Advertisement

และเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่ทะเลาะกัน

ทุกคนจะพูดถึงอีกฝ่ายหนึ่งในแง่ลบ

แต่บังเอิญกรณีนี้มีภาพลักษณ์ขององค์กรเกี่ยวข้องด้วย

ยิ่งทะเลาะยิ่งเสียหาย

จากเรื่องการดูแลผู้โดยสารกลายเป็นเรื่องมาตรฐานนักบิน

ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของ”นกแอร์” ก็ไม่ได้ดีนัก

มีข่าวเรื่องเครื่อง “ดีเลย์” ให้ได้ยินอยู่เรื่อย ๆ

จน “คู่แข่ง” กล้าโฆษณาตีกินเรื่อง “ตรงเวลา”

เพราะ “นกแอร์” เปิดจุดอ่อนให้เขาโจมตีได้

ตามหลักการโฆษณา พอเราบอกว่าเราตรงเวลา

ผู้บริโภคจะรู้สึกว่ารายอื่น ๆ ไม่ตรงเวลา

บอกว่าเราใจดี

คู่แข่งจะใจร้ายทันที

ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดของ “นกแอร์” ในกรณีนี้ก็คือ เขาไม่สามารถจัดการวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เหตุเกิดขึ้นตอนบ่าย

ปัญหาทับถมมาหลายเที่ยวบิน

แต่กว่าจะแก้ปัญหาได้ก็ตอน 4 ทุ่ม

การตัดสินใจแก้ปัญหาเรื่องนี้ช้ามากครับ

ในมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติเหตุ

แต่เป็นความจงใจสร้างปัญหาขึ้นมา

ผู้บริหาร “นกแอร์” กว่าจะรู้ปัญหาที่แท้จริงก็ใช้เวลานานพอสมควร

แต่เรื่องที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ “นกแอร์” ก็คือ ระบบการจัดการกับความรู้สึกของลูกค้าไม่ดีเลย

อย่าลืมว่าปัญหาเครื่องดีเลย์ ไม่ใช่ครั้งแรกของ “นกแอร์”

ที่ผ่านมาปัญหาเครื่องดีเลย์เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก

ที่สำคัญก็คือไม่ค่อยมีข่าวในแง่บวกถึงการดูแลผู้โดยสารให้ได้ยินเลย

มีแต่แง่ลบ

เหมือนกับว่าผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่ำเกินไป

เพราะถ้าเขาสามารถจัดการปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ

พอเกิดเรื่องใหญ่ก็ยังพอมีแนวทางที่ให้เดินได้

เหมือนรู้วิธีดับไฟตั้งแต่เป็น “กองไฟ”

พอเกิดไฟลุกลามใหญ่ขึ้นก็ยังมีแนวทางปฏิบัติ

ผมไม่รู้ว่า “นกแอร์” วางแผนเรื่องทีมที่เข้าไปดูแลผู้โดยสารในกรณีที่เครื่องดีเลย์อย่างไร

เพราะส่วนใหญ่ที่เจอมักจะปล่อยให้พนักงานที่อยู่หน้างาน 3-4 คนจัดการ

สู้กับอารมณ์คนไม่พอใจเป็นร้อยคน

ถ้ามีทีมเฉพาะที่ฝึกปรือมาเพื่อรับมือกับความไม่พอใจ

เกิดเหตุเมื่อไร เข้าเทกแอ็กชั่นทันที

“นกแอร์” จะสามารถแปร “ปัญหา” ให้เป็น “โอกาส” ได้

เพราะผู้โดยสารจะรู้สึกผิดคาด

อะไรที่เกินความคาดหวังจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี

และถ้าเขาส่งข้อความในด้านบวกผ่านโซเชียลมีเดียก็จะกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ “นกแอร์” ไปในตัว

แต่พอดับไฟกองเล็ก ๆ ไม่เป็น

เจอไฟโหมใหญ่ขึ้นมาจึงลุกลามใหญ่โต

งานนี้เสียหายหนักมากครับ


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image