คิดเห็นแชร์ : AI และสมาร์ทโฟน ผลักดันอุปสงค์สินค้าเทคโนโลยี

คิดเห็นแชร์ : AI และสมาร์ทโฟน
ผลักดันอุปสงค์สินค้าเทคโนโลยี

ปัจจุบันไต้หวัน ถือได้ว่าเป็น 1 ในประเทศยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ และฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) ได้มุ่งเน้นการวิเคราะห์แนวโน้ม และภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั้งของที่ไต้หวันและทั่วโลกมาตลอด บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจึงอยากจะแชร์งานวิจัยฯ ของ บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) ล่าสุด โดยฝ่ายวิจัยฯ ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอนาคตมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ AI server และสมาร์ทโฟน ซึ่งผมประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับตัวของภาคธุรกิจ บทความนี้จะวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก ผลกระทบต่อประเทศไทย และโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ยอดขายของบริษัทฮาร์ดแวร์ไต้หวันส่วนใหญ่เติบโตทั้ง MoM และ YoY ในเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ AI server มียอดขายเติบโตกว่า 20% YoY ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ความต้องการ AI server ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของยอดขายในซัพพลายเชนฮาร์ดแวร์ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนระบายความร้อน ชิ้นส่วนเครื่องกล แหล่งจ่ายไฟ และ PCB เป็นต้น สำหรับตลาดโน้ตบุ๊ก คาดการณ์ว่ายอดขาย 3Q67 จะทรงตัว แต่จะปรับตัวดีขึ้นใน 4Q67 ถึงปี 2568 จากการเปิดตัวโมเดลใหม่ที่รองรับ AI ของ Intel และ AMD ทั้งนี้ คาดว่ายอดจัดส่ง PC ทั่วโลกจะเติบโต 3% ในปีนี้ และ 5-6% ในปี 2568 ในส่วนของสมาร์ทโฟน การเปิดตัว iPhone 16 ของ Apple และสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของ Huawei จะช่วยกระตุ้นความต้องการในครึ่งหลังของปี 2567 โดยคาดว่ายอดการผลิต iPhone 16 จะอยู่ที่ 85-90 ล้านเครื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน นอกจากนี้ Apple ยังจะเปิดตัว Apple Intelligence ในเดือนตุลาคม ซึ่งจะส่งผลดีต่อซัพพลายเชนของ iPhone นอกจากนี้ การเติบโตของ AI ยังส่งผลให้เกิดความต้องการด้าน data center เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทต่างๆ กำลังเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI และ machine learning โดยเฉพาะในส่วนของ hyperscale data center

การเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับตัวของภาคธุรกิจ ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์อย่างมาก การเติบโตของความต้องการ AI server และสมาร์ทโฟนจะส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีโอกาสขยายกำลังการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ที่เป็น 1 ในวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนโรงงาน PCB ในไทยปี 2566 ที่สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีการลงทุนโรงงาน PCB ในไทยมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตจากต่างชาติ ในภาวะที่ผู้ประกอบการบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่เริ่มมองถึง

Advertisement

การขยายการลงทุนมายังประเทศอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และรวมไปถึงโอกาสที่จะเกิดสงครามการค้าในอนาคต

ในแง่ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ความต้องการ AI server ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของศูนย์ข้อมูล (Data Center) และเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี AI และการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว และเปิดโอกาสให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเราเริ่มเห็นการประกาศแผนการลงทุน Data Center ในไทยที่เป็นระดับ Hyperscale ทั้งจากผู้ประกอบการในไทยและบริษัทข้ามชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเติบโตของอุตสาหกรรม AI อย่างรวดเร็วจะส่งผลให้ภาคธุรกิจในประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ ธุรกิจไทยจะต้องเร่งพัฒนาและนำเทคโนโลยี AI และ IoT มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Transformation) ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิต การเงินการธนาคาร การค้าปลีก และการบริการ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโลยีอย่างรวดเร็วนี้ อาจส่งผลกระทบ ต่อผู้ประกอบการและแรงงานไทยที่อาจะปรับตัวได้ไม่ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องของ Digital Disruption เช่นกัน

Advertisement

กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เมื่อเราวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะด้าน AI ที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผมประเมินกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับอานิสงส์เชิงบวก ได้แก่ 1) กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมฯ ที่จะเห็นการย้ายฐานการผลิตมาไทยอย่างต่อเนื่องใน 1-2 ปีนี้ 2) กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากคาดจะมีอุปสงค์สำหรับสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3) กลุ่มค้าส่ง ค้าปลีกสินค้าและอุปกรณ์ไอที เนื่องจาก คาดวัฏจักรการเปลี่ยนอุปกรณ์ไอที (คอมพิวเตอร์-สมาร์ทโฟน) ใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยี AI 4) กลุ่ม System integration ที่จำเป็นต่อการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และ 5) กลุ่มสื่อสารและผู้ให้บริการ Data Center

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image