ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
เมื่อ “หนี้” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ สะเทือนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฉุดรั้งให้โตแบบแคระแกร็น แม้จะไม่มีปาฏิหาริย์ แก้ให้เบ็ดเสร็จในเร็ววัน แต่น่าจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
หลัง “รัฐบาลแพทองธาร 1” ส่งสัญญาณ เร่งแก้หนี้ทั้งระบบเป็นนโยบายแรก ด้วยการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ควบคู่เพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ
รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย “นายกฯแพทองธาร” นั่งหัวโต๊ะคุมการขับเคลื่อนเอง
ว่ากันว่าแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนที่รัฐบาลจะนำมาใช้นั้น ต้องงัดทั้งมาตรการการเงินและมาตรการการคลังมาใช้ควบคู่กันไป เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้การจ่ายคืนหนี้เงินต้นมากขึ้น การยืดเวลาชำระหนี้การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารหนี้รองรับการแฮร์คัตหนี้ของประชาชน
ดังนั้น การประชุมนัดแรกของ “นายกฯแพทองธาร” ที่จะมีขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จึงเป็นที่จับตาว่าจะมีหมัดเด็ดแก้หนี้ครัวเรือนไทยที่สูงกว่า 90% ของจีดีพี ให้ทุเลาด้วยวิธีการไหนได้บ้าง ขณะเดียวกันยิ่งน่าสนใจมากขึ้น พลันที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามรอยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประกาศปรับลดไป 0.50% เมื่อคืนวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
⦁ผงะเอ็นพีแอลแตะ1.2ล้านล้าน
สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า คงตอบยากว่าแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล จะไหลขึ้นหรือลง ต้องรอดูแพคเกจการแก้หนี้ทั้งระบบของรัฐบาลที่จะออกมา ถ้ารัฐบาลมีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วหรือมีปาฏิหาริย์มาช่วยก็น่าจะลดลงได้ แต่ถ้ารัฐบาลปล่อยไว้เหมือนเดิม จะมีโอกาสไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้นจาก ณ เดือนกรกฎาคม ประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท แตะ 1.2 ล้านล้านบาทเร็วขึ้นก็ได้ ตอนนี้สถานการณ์หนี้ของประเทศเลยคำว่า “ห่วง” ไปแล้ว มันน่าจะถึงจุดที่ต้องมาดูว่าจะแก้ยังไงดี เพราะมีหลายแฟกเตอร์ สิ่งสำคัญสุดคือมาตรการรัฐที่จะออกมา จะส่งผลได้ประมาณไหน
“สุรพล” อัพเดตสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยดูจากข้อมูลสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 หรือ 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนในฐานข้อมูลสถิติเครดิตบูโรอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากดูหนี้เอ็นพีแอลพบว่าขยับขึ้นต่อเนื่องจาก 1.16 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 1.19 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.7% ของหนี้รวม และเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนและมีแนวโน้มไหลต่อไปถึง 1.2 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 3 นี้ โดยหนี้เอ็นพีแอลมากสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ สินเชื่อบ้าน 228,447 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนใหญ่เป็นราคาต่ำ 3 ล้านบาท ราคา 3-5 ล้านบาท เริ่มมีราคา 10-20 ล้านบาทบ้าง สินเชื่อรถยนต์ 262,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% บัตรเครดิต 69,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% ซึ่งหนี้บ้านและรถยนต์น่าเป็นห่วง เพราะตลาดแย่พอๆ กัน
นอกจากนี้ ยังกางหนี้กลุ่ม SM หรือหนี้ที่ค้างชำระ 31-90 วัน จะเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย พบว่าเดือนมิถุนายนปรับลดลงมาจากไตรมาสก่อนอย่างมากจนเหลือกว่า498,669 ล้านบาท แต่ผ่านไป 1 เดือน เข้าเดือนกรกฎาคมกลับเพิ่มขึ้น 34.5% เป็นกว่า 670,928 ล้านบาทหรือเพิ่มกว่า 172,259 ล้านบาท ในนี้มาจากสินเชื่อบ้านเพิ่มจาก 143,152 ล้านบาท เป็น 169,007 ล้านบาท โตขึ้น 18.1% สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มจากกว่า 84,928 ล้านบาท เป็นกว่า 113,127 ล้านบาท โตขึ้น 33.2% สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจโดยมีลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดาหรือคนตัวเล็กตัวน้อยกู้จากกว่า 26,153 ล้านบาท เพิ่มเป็นกว่า 44,281 ล้านบาท โตขึ้น 69.3% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตนิ่งๆ และเริ่มลดลง แต่ยังน่ากังวลไม่แพ้สินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยมองว่าหนี้กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่ระบบหนี้เสียมากขึ้น
ถามว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลดีต่อยอดหนี้ลดลงหรือไม่ “สุรพล” ประเมินว่า จากท่าทีของผู้ว่าการ ธปท.ที่ออกมาระบุประเทศไทยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดนั้น จึงมองว่าคงจะเร็วไปที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ หากลดดอกเบี้ยลงได้ ถือว่าดีต่อผู้เป็นหนี้ แต่คนที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว ยังไงก็ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ถึงจะลดดอกเบี้ยก็ช่วยไม่ได้ เพียงแต่ว่าคนที่กำลังมีปัญหาอยู่ถ้าดอกเบี้ยลดจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ง่ายขึ้น แต่ก็กลับมาปัญหาเดิม มีรายได้เพิ่มหรือไม่ ถ้ารายได้เท่าเดิม ปัญหาก็วนกลับมาเหมือนเดิม
“การแก้หนี้ติดหล่มเรื่องรายได้ เพราะการจะทำให้คนเป็นหนี้เสียกลับเป็นหนี้ดีโดยอัตโนมัตินั้นไม่ง่ายเพราะการปรับโครงสร้างหนี้เท่ากับต้องเริ่มต้นขอสินเชื่อใหม่ ต้องมีการพิสูจน์สถานะการเงิน เพราะกติกากำหนดไว้ต้องมีรายได้เพียงพอที่จะมาชำระหนี้ให้เป็นไปตามที่ตารางกำหนด ถ้าหากรายได้ไม่กลับมาถือเป็นเรื่องยากหรือจะให้ธนาคารยกเว้นหนี้ให้ก็ยากเช่นกัน การคุมหนี้เอ็นพีแอลยาก ตอนนี้ทุกคนเป็นห่วง หลังน้ำท่วมจะเกิดจำนวนหนี้สูงขึ้นหรือไม่ ต้องดูข้อมูลที่จะออกมาในเดือนตุลาคมนี้” สุรพลย้ำ
⦁หนี้เสีย‘เอสเอ็มอี’พุ่งไม่หยุด
ด้าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ฉายภาพธุรกิจเอสเอ็มอีเผชิญปัญหาหนี้เรื้อรังมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันที่ส่งผลต่อภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รายได้ลด ผลประกอบการสะดุด อีกทั้งค่าครองชีพและต้นทุนวัตถุดิบ ไฟฟ้า น้ำมันเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้
จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า เอสเอ็มอีมีปัญหาและมีความต้องการสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนสูงถึง 91% สัดส่วนหนี้ในระบบของเอสเอ็มอีมีการเคลื่อนตัวไหลลงสู่กลุ่มหนี้ในและนอกระบบ และหนี้นอกระบบที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากไตรมาส 4/2566 มีหนี้ในระบบอยู่ที่ 57% หนี้ในและนอกระบบ 21% หนี้นอกระบบ 22% ไตรมาส 1/2567 หนี้ในระบบ 53% หนี้ในและนอกระบบ 11% หนี้นอกระบบ 36% ล่าสุด ไตรมาส 2/2567 หนี้ในระบบ 40% หนี้ในและนอกระบบ 21% หนี้นอกระบบ 39%
“ปัญหาหนี้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว จะทำให้เอสเอ็มอีติดกับดักหนี้แบบถาวรกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากมหาอุทกภัยภาคเหนือและจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคอื่นๆ จะส่งผลต่อการเพิ่มภาระหนี้ของเอสเอ็มอี เกษตรกร และประชาชนจากการฟื้นฟูอาคารสถานที่ประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์ และพื้นที่เกษตร” แสงชัยกล่าว
⦁กระทุ้งธปท.ลดดอกเบี้ย
พร้อมกับย้ำว่าเอสเอ็มอีสนับสนุนนโยบายการแก้หนี้ทั้งระบบของรัฐบาลและต้องการให้ดำเนินการออกแบบกลไก โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักและบูรณาการ การแก้ปัญหา ทั้งมาตรฐานการดำเนินการ งบประมาณ ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติ ผลลัพธ์ตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบมีการสร้างภูมิคุ้มกันวินัยทางการเงินโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนร่วมกับการยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือนให้นำไปใช้เกิดความยั่งยืนคุ้มค่า
สิ่งสำคัญ คือ กระบวนการแก้หนี้ต้องต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาทักษะ สมรรถนะ ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการและแรงงานควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งช่องทางการเพิ่มรับรู้และเพิ่มโอกาสเข้าถึงมาตรการส่งเสริมที่ดีของภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิ การเข้าถึงมาตรฐานสินค้าและบริการของเอสเอ็มอี การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์พัฒนาสินค้าและบริการ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
กรณีเรื่องอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลยังไงต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอี จากการสำรวจของ สสว. พบว่าสถานการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีและแนวโน้มรายภูมิภาคของธุรกิจเอสเอ็มอีเดือนสิงหาคม 2567 โดยทุกภูมิภาคมีดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ภาคเหนือลดลง 1.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 0.1 ภาคตะวันออกลดลง 0.3 ภาคกลางลดลง 0.7 กรุงเทพฯและปริมณฑลลดลง 0.2 และภาคใต้ลดลง 0.3
หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นรายภาคธุรกิจของเอสเอ็มอีก็ลดลงถึง 3 ใน 4 ภาคธุรกิจ คือ ภาคการผลิตบวก 2.6 ภาคการค้าลดลง 1.2 ภาคการบริการลดลง 1.8 และภาคธุรกิจเกษตรลดลง 1.8 อีกทั้งปัญหาภาระหนี้สินเอสเอ็มอีและประชาชนทวีความรุนแรงไหลสู่หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น อัตราการปล่อยสินเชื่อติดลบกว่า 5% อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนปะทุสูงที่ยังไม่รวมหนี้สหกรณ์ กองทุนเข้ามาจะสูงเกิน 91% ของจีดีพีอย่างแน่นอน ซึ่งการลดดอกเบี้ยไม่ได้กระตุ้นการกู้ยืม เพราะสุดท้ายการพิจารณาและประเมินยังเป็นเรื่องของสถาบันการเงิน แต่การลดดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินเอสเอ็มอีและทุกภาคส่วน ปัญหาการทุ่มตลาดและการเข้ามาจากทุนข้ามชาติกลืนกินเศรษฐกิจและผู้ประกอบการรวมทั้งเกษตรกรไทย
“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีมุมมองจากการลดดอกเบี้ยของเฟด 0.5% ในครั้งนี้ว่า ถึงเวลาที่ กนง.ต้องทบทวนการลดดอกเบี้ยนโยบายที่คำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากจากสถานการณ์จริงของเศรษฐกิจไทย ให้ความเป็นธรรมกับการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนและเอสเอ็มอีเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยขึ้นตาม เฟดคงอัตราดอกเบี้ยคงตามเฟดลดดอกเบี้ย ผู้ว่าการ ธปท. บอกไม่จำเป็นต้องตาม ขณะที่ประเทศชาติ ประชาชน เอสเอ็มอี ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งราคาสินค้าที่ถูกลง ต้องเป็นกลางไม่ใช่เล่นกลเกมเพื่อกลุ่มทุนโดยมีเศรษฐกิจไทยฐานรากเป็นตัวประกัน” แสงชัยตอกย้ำ
⦁แห่ขายที่ดิน-บ้านโปะหนี้
อีกดัชนีที่ชี้วัดต่อสถานการณ์หนี้ของคนไทย คือ การประกาศขายบ้านมือสอง โดย ปรีชา ศุภปิติพร นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวว่า สถานการณ์บ้านมือสองที่เข้าสู่ตลาดมี 2 ประเภทคือ เจ้าของขายเองกับถูกบังคับให้ขายเพราะเป็นหนี้เสียซึ่งมีเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปี หลังโควิด เพราะหมดมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้เป็นหนี้เสียถูกบังคับให้ขายชำระหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีปัญหา เริ่มนำที่ดินมาฝากขายมากขึ้น ส่วนคนมีรายได้ระดับกลาง เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่ายก็เริ่มเป็นหนี้เสีย จะนำบ้าน ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียมมาฝากขายมากขึ้นเช่นกัน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล
“ทรัพย์มือสองเริ่มเป็นที่สนใจของบริษัทรับซื้อหนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันและซื้อหนี้แพงขึ้น โดยเฉพาะบ้านต่ำ 5 ล้านบาท ที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ในทำเลที่ดี ขณะที่ราคาขายไม่สูงมากสมเหตุสมผลกับภาวะเศรษฐกิจ จึงทำให้บ้านมือสองมีการซื้อขายเปลี่ยนมือคล่องกว่าบ้านมือหนึ่งที่กู้ไม่ผ่านสูง แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ทำให้ตลาดเริ่มชะลอตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก การเมืองไม่เสถียร นโยบายเศรษฐกิจเดินได้ไม่เต็มที่ แต่หวังว่าเมื่อรัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน น่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น คนมีรายได้เพิ่มขึ้น” ปรีชากล่าว
คงต้องรอดูฝีมือ “รัฐบาลแพทองธาร 1” จะสกัด “หนี้เสีย” และ “หนี้กำลังจะเสีย” ที่กำลังไหลเข้าสู่ระบบ ได้มากน้อยขนาดไหน เพื่อให้เศรษฐกิจหลุดพ้นกับดักหนี้เรื้อรัง ที่วันนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติฉุดรั้งเศรษฐกิจโตช้า ไม่ทำลายบรรยากาศการลงทุนไปมากกว่านี้