อมรเทพ มองบาทแข็งค่าแรงทะลุเป้า ไม่ถึงเดือนลดฮวบ 1.30 บาท ชี้มีโอกาสอ่อนค่าได้
เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนถือว่าค่าเงินบาทไทยปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เอาแค่เดือนกันยายนนี้ก็ถือว่าแข็งค่าขึ้นมาแบบทะลุเป้าแล้ว เทียบจากวันที่ 1 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34.19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 24 กันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 32.98 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และระหว่างทางมีการปรับลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 32.89 บาทต่อเหรียญสหรัฐด้วย
นายอมรเทพกล่าวว่า สาเหตุเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์จันทร์ทมิฬ หรือแบล๊กมันเดย์ (Black Monday) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีแรงเทขายทิ้งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากมีภาวะตื่นตระหนก (แพนิก) จากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าสหรัฐจะลดอัตราลงเบี้ยลงแรงระดับ 0.50% ตอกย้ำความกังวลภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
“ภาพความกังวลทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากสหรัฐกลับมาในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยด้วย ถือว่ายังไว้ใจไม่ได้ เพราะเป็นการไหลเข้าไปในตลาดพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์) สะท้อนถึงความกังวลเรื่องความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ เมื่อมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดไทยด้วย ค่าเงินบาทจึงได้อานิสงส์ในส่วนนี้ ปรับแข็งค่าขึ้นมา แต่ไม่ได้บอกว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดเทียบกับประเทศไทยในภูมิภาค เพราะพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา สกุลเงินริงกิตถือว่าเป็นค่าเงินที่แข็งค่าที่สุดเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ” นายอมรเทพกล่าว
นายอมรเทพกล่าวว่า ประเทศไทยมีปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นคือราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยและสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองทองคำมากขึ้น ซึ่งการลงทุนทองคำในประเทศประเทศไทยอยู่ในลักษณะเทรดดิ้ง หรือการซื้อมาขายไป ทำให้ราคาทองคำที่ขยับขึ้นอาจเห็นผู้ส่งออกทองคำเร่งส่งออกในช่วงนี้ เป็นที่มาของความต้องการค่าเงินบาทที่มีเพิ่มมากขึ้นผลักดันให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นมาได้ โดยประเมินในช่วงนี้จนถึงปลายปี 2567 ค่าเงินบาทจะอยู่ในโทนแข็งค่าจนเห็นระดับแตะ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐหรือไม่นั้น ตอนนี้มองว่าตลาดรับรู้ข่าวการลดดอกเบี้ยของสหรัฐไปมากแล้ว หากจะมีการปรับลดอีกก็มีการลดลงที่ 0.50% อย่างที่รับรู้ไป แต่ดอกเบี้ยสหรัฐจะยังอยู่ในระดับที่เหนือกว่าดอกเบี้ยในไทยอยู่ดี รวมถึงมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีการลดดอกเบี้ยลงในช่วงปีนี้ 1 ครั้งก็เป็นได้
นายอมรเทพกล่าวด้วยว่า เมื่อภาพรวมมองว่าดอกเบี้ยไทยยังไม่ต่ำกว่าสหรัฐ รวมถึงยังสามารถลดดอกเบี้ยได้อยู่ และตลาดรับรู้ข่าวไปเยอะแล้วในการลดดอกเบี้ยของสหรัฐ จึงมองว่าทิศทางค่าเงินบาทคงไม่ได้แข็งค่ายาวนาน อาจปรับตัวขึ้นไปทดสอบระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก่อนจะอ่อนค่าเด้งตัวขึ้นอยู่ในช่วง 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ เพราะนักลงทุนอาจผิดหวังเนื่องจากสหรัฐไม่ได้จำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ต่อเนื่องในอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังแข็งแรง รวมถึงระดับเงินเฟ้อที่แม้มีการปรับลดลงแล้วแต่ก็ยังลดลงช้า และความเสี่ยงที่มีอยู่ในตลาดโลก อาทิ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2568 รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังมีภาวะสงครามเกิดขึ้นอยู่ด้วย ทำให้นักลงทุนจะถือครองดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ดอลลาร์และแข็งบาทอ่อนลงได้
“ในเรื่องการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ไม่ได้มองว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องรักษาระดับค่าเงินบาทให้อยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเท่านั้น ปล่อยให้ยืดหยุ่นก็เหมาะสม เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคก็ไม่ได้ทำให้เราเสียความสามารถในการแข่งขัน หากวิ่งอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ว่าหากค่าเงินอื่นอ่อนค่ากว่าไทยก็ยังเสียเปรียบในการแข่งขันอยู่ดี แต่ต้องยอมรับว่าการแปลงค่าเงินออกมาเป็นค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐก็อาจได้รับอัตราที่ลดลง ซึ่งกลุ่มที่เดือดร้อนน่าจะเป็นกลุ่มการส่งออกในระดับล่างที่รายได้ยังไม่สามารถเติบโตได้ดีนัก ทางออกคือต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น” นายอมรเทพกล่าว