‘ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ยกระดับธุรกิจ-ลดเหลื่อมล้ำ ศก.ไทย

ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทย กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาด้านต่างๆ จนเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต การศึกษา ฯลฯ

ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคชนบทและมีอาชีพเกษตรกรรมซึ่งถือเป็นรากฐานของประเทศไทยต่างประสบปัญหาหลากหลายด้านในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

เช่น ปัญหาการขาดปัจจัยการผลิต ไร้ที่ดินทำกินเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ขาดความรู้ในการผลิต เมื่อมีผลผลิตล้นเกินก็เกิดปัญหาด้านการตลาด พืชผลราคาตกต่ำทำให้มีปัญหาหนี้สิน มีปัญหาในครัวเรือนและสังคมติดตามมา

เพื่อให้เอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจพื้นฐานสำคัญของประเทศ สามารถปรับตัวให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเทคโนโลยีการแปรรูปขั้นสูง และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบการผ่านกลไกของ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ไอทีซี (Industry Transformation Center : ITC)

ณัฐพล รังสิตพล

ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมมีการบูรณาการจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเครือข่าย และสถาบันการศึกษา และมีกลไกที่เป็นการบริการเครื่องจักรแปรรูปทางการเกษตร และบรรจุภัณฑ์ (Pilot Plant) แบบครบวงจร

Advertisement

เริ่มตั้งแต่การนำเอาแนวคิด หรืองานวิจัยมาผ่านกระบวนการออกแบบใหม่หรือต่อยอดให้เหมาะสมกับการผลิต การทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรม การทดสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการให้การสนับสนุนสินเชื่อหรือร่วมทุนจากธนาคารเครือข่ายภาครัฐ

เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพและมีความพร้อม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิต เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน

ทั้งนี้ การพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น พัฒนาและส่งเสริมสถานประกอบการให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีการแปรรูป และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในสถานประกอบการ

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทายาท และพนักงาน ใน 6 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมสมุนไพร เวชสำอาง

ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครสวรรค์ น่าน ลำพูน สุโขทัย ขอนแก่น นครราชสีมา หนองบัวลำภู ปัตตานี พังงา และสงขลา

ผ่านการดำเนินงานใน 2 กิจกรรม ดังนี้

1.การอบรมสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากร เพื่อยกระดับทักษะความรู้ เกิดความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านต่างๆ ให้มีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่มีความสอดคล้องต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายรายสาขาที่เกี่ยวข้องตามความต้องการของพื้นที่ อาทิ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม มีทักษะในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือแนวทางการวิจัย เทคนิคทางด้านวิศวกรรม กระบวนการวิเคราะห์/ทดสอบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การต่อยอดผลิตภัณฑ์

รวมทั้งการพัฒนากระบวนการ อาทิ การประยุกต์ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีดิจิทัล IOT หรือระบบอัตโนมัติอย่างง่าย (Low cost/Simple technology) เข้าไปช่วยสนับสนุนการพัฒนากระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงาน หรือวิธีการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาทักษะองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการด้านอื่นๆ ที่มีความสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีผู้เข้าอบรมกว่า 288 ราย จากเป้าหมาย 240 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 45,572,000 บาทต่อปี

2.การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีดิจิทัล IOT หรือระบบอัตโนมัติอย่างง่าย (Low cost/Simple technology) เข้าไปช่วย ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ตามแนวทางการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมภายใต้เครื่องมือต่างๆ อาทิ 5S Lean shindan Kaizen 5W-H LIPE TPM Karakuri Kaizen เพื่อให้สถานประกอบการมีผลิตภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น

เป็นพื้นฐานต่อการยกระดับและเพิ่มศักยภาพในกระบวนการและการดำเนินงานของสถานประกอบการ ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล หรือกิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการสู่การเตรียมความพร้อม การขอรับรองมาตรฐานสถานประกอบการหรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วม 24 กิจการ มีรายได้ทีเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 265,000,000 บาทต่อปี

กิจการที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็นเป็นกิจการประเภทต่างๆ อาทิ 1.อาหารแปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่ม ผักผลไม้แปรรูป แปรรูปรังนกแบบครบวงจร 2.เกษตรแปรรูป น้ำนมข้าวโพด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะแขว่น น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง แปรรูปโกโก้ 3.ยานยนต์และชิ้นส่วน จำหน่ายแบตเตอรี่ มอเตอร์ เพลาขับ อุปกรณ์รถไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ รถไฟฟ้า อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ อุปกรณ์แก๊สรถยนต์ จำหน่ายเครื่องจักร อะไหล่ และชิ้นส่วน

4.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนแอร์ปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตชิ้นส่วน+H13+H18 5.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พิมพ์ผ้าลายธรรมชาติ ผ้าบาติก ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 430 ล้านบาท

“ปลัดณัฐพล” ย้ำว่า ปัจจุบันศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือศูนย์ไอทีซี มีการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จ.ลำปาง และบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์สนับสนุนและพร้อมให้บริการอย่างครบวงจร รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้พัฒนาบุคลากร

“นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย” ปลัดณัฐพลทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image