ผู้เขียน | วิณัฐฏาภรณ์ ศิริโสม |
---|
ขณะนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ ค่าเงินบาทแข็งค่าทะลุแนวระดับ 33.00 และ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนที่ 32.36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา
เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดยเงินหยวนได้รับอานิสงส์จากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน และมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่ไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่
สวนทางบรรยากาศของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนแอ ท่ามกลางกระแสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระยะข้างหน้า
จนสร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วน เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว 2 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่ปัจจุบันเติบโตแบบอ่อนแรงไม่ถึง 3%
เสียงสะท้อนปัญหาบาทแข็ง จึงพุ่งตรงไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หน้าด่านผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล โดยต้องการให้ ธปท.ใช้ทุกเครื่องมือดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินหน้าเกินตาประเทศเพื่อนบ้านมากไปกว่านี้
โดยภาคเอกชน อย่างหอการค้าไทยก็มองว่าระดับที่ต่ำกว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ
หากยังปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในโซนแข็งค่าต่อไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เหลืออยู่เพียง 2 ตัวอาจดับลงไป ย้ำภาพฝันร้ายในช่วงโควิดระบาดเมื่อปี 2563
ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจครั้งนั้นยังสร้างบาดแผลให้คนไทยบางส่วนอยู่