ชาญศิลป์ เผย ความสำเร็จฝ่าวิกฤตการณ์ บินไทยให้กลับมาคู่ฟ้า เชื่อวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ

เสวนา ชาญศิลป์ เผย ความสำเร็จฝ่าวิกฤตการณ์ บินไทยให้กลับมาคู่ฟ้า เชื่อวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 13.00 น. ณ อาคารมนุษยนาควิทยาทาน วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา Book Launch: พลิกฟ้า ฝ่าวิกฤต การบินไทย เปิดเรื่องราวภารกิจสำคัญ ที่ไม่กล้าฝัน ของ ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ ภายใต้การพลิกฟ้าด้วยสองฝ่ามือ ผสานพลังศรัทธา สู่ปาฏิหาริย์ นำพาเครื่องบินขึ้นสู่นภาอย่างภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่ง

บรรยากาศเวลา 12.00 น. ผู้บริหารองค์กรหน่วยงานพันธมิตร นักวิชาการ และประชาชนเดินทางมาร่วมงานเปิดตัวหนังสือ ‘พลิกฟ้า ฝ่าวิกฤต การบินไทย’ กันอย่างคับคั่ง อาทิ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), น.ส.ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

พร้อมด้วย นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กองบรรณาธิการมติชน, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข รองกรรมการผู้จัดการระบบสื่อออนไลน์ในเครือมติชน และบรรณาธิการ กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ, นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน รองกรรมการผู้จัดการระบบสื่อออนไลน์ในเครือมติชนและบรรณาธิการ กอง บก.ข่าวสด

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC, นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ​ที่ปรึกษาพิเศษ​ ​Nation Group, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน, นายกษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์อิสระ, นายธวัชชัย ตั้งศิริวานิช นักวิชาการอิสระ และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรชื่อดัง

ADVERTISMENT

จากนั้น เมื่อเวลา 13.30-15.30 น. เริ่มกิจกรรมเสวนา โดย ‘นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ กรรมการและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการอิสระการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และผู้เขียนหนังสือเรื่อง พลิกฟ้า ฝ่าวิกฤต การบินไทย ในหัวข้อ เปิดมุมมอง แชร์แนวคิด การบริหารธุรกิจในช่วงที่สายการบินแห่งชาติต้องบินฝ่าวิกฤตแบบพลิกฟ้า และพลิกวิกฤต กลายเป็นโอกาสใหม่ของ ‘การบินไทย’ ดำเนินรายการโดย นายธีรัตถ์ รัตนเสวี

นายชาญศิลป์กล่าวว่า การฟื้นฟูการบินไทยขึ้นมาได้ถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องจดจำ และหลายท่านจากหลายภาคส่วน รวมทั้งบุคลากรการบินไทยก็ได้ช่วยเหลือกันและก้าวผ่านเวลายากลำบากด้วยกันมา ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เรายากลำบากนั้น ทางเราก็ได้รับความเมตตาจากทางเครือมติชน ที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารให้กับประชาชนให้เข้าใจมาโดยตลอด

นายชาญศิลป์กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกที่จะจัดงานแถลงเปิดตัวหนังสือที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารนั้น หากย้อนไปเมื่อตอนช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 การบินไทยสามารถบินได้แค่สำหรับขนส่งสินค้า (cargo) และการขนส่งสินค้าก็น้อยกว่า 50% ดังนั้น ตนจึงมองว่าต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจโดยตัดสินใจมาที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และมีโอกาสได้สักการะพระไพรีพินาศ และพระเจดีย์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ก็รู้สึกว่าเป็นการสร้างพลังใจให้มีกำลังใจ

นายชาญศิลป์เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาฟื้นฟูการบินไทยนั้น ตนรู้จักกับบุคลากรฝ่ายบริหารในการบินไทยอยู่แล้ว อย่าง นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และไม่รู้ว่าบุญนำพาหรือเพราะเหตุใด โดยเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ตนไดัรับโทรศัพท์จากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและเป็นรุ่นพี่ตนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทาบทามตนเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย ขณะนั้นตนมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก แต่เนื่องจากขณะนั้นตนยังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งการบินไทยเองก็มีบุญคุณกับทาง ปตท.ที่ได้ช่วยเหลือในการเลือกใช้น้ำมันสำหรับเครื่องบิน รวมถึงตนมองว่าไม่มีใครจะตกลำบากตลอดไปหรอก เชื่อว่าในวันที่วิกฤตก็จะต้องมีโอกาสฟื้นขึ้นมาได้เสมอ

รวมทั้งการบินไทยเป็นหน่วยงานสำคัญสำหรับประเทศไทย ทั้งมีผลต่อเศรษฐกิจไทย เรื่องการจ้างงาน การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม จากที่ตนได้อ่านประวัติของการบินไทยมาตั้งแต่ก่อตั้ง ตนมองว่าการบินไทยเคยยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ตนจึงอยากให้กลับมายิ่งใหญ่อย่างเดิม

“การตัดสินใจมาฟื้นฟูการบินไทยเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก แต่ผมเชื่อว่า นี่คือช่วงที่ต่ำสุดที่วันหนึ่งจะฟื้นขึ้นมาได้” นายชาญศิลป์กล่าว

นายชาญศิลป์กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการเข้ามาฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น ตนเข้ามาการบินไทยคนเดียว ไม่ได้มีผู้ติดตามมาด้วย และตนมาด้วยใจ ใจที่รักการบินไทย อีกทั้งตนมีความสามารถด้านการบริหารด้านพลังงาน และการทำงานมาอย่างเชี่ยวชาญ จึงเชื่อว่าตนจะมีความสามารถมาช่วยการบินไทยฝ่าวิกฤตซ้ำซ้อนไปได้ ซึ่งตนเองนั้นก็ต้องมีทัศนคติที่เป็น บวก ต้องเปิดใจและเข้าใจสถานการณ์ รวมถึงเข้าหาบุคลากรด้วยการให้เกียรติกัน ตนเจอเพชรหลายคนในการบินไทย ที่มีทั้งความสามารถและใจที่รักองค์กร จึงมั่นใจว่าที่การบินไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ได้ก็มาจากการช่วยเหลือจากทุกท่าน

นายชาญศิลป์เผยว่า หลังจากที่เข้ามาการบินไทยแล้วนั้น ตนใช้เวลาในการเร่งเรียนรู้งานจากบุคลากรที่ทำงานมานาน เรียนรู้ทั้งระบบและโครงสร้างองค์กร แม้กระทั่งจุดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าตนได้เข้าใจถึงความเป็น การบินไทยที่แท้จริง ซึ่งระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เรียกตนเข้าไปคุยว่าจะสามารถแก้ไขในเชิงพลิกเศรษฐกิจได้หรือไม่ ตนอาจจะมองว่ายาก แต่เชื่อว่าต้องทำให้ได้ โดยเริ่มจากการที่รวบรวมบุคลากรที่มีความชำนาญนำมาทำงานกันเป็นทีม และจะต้องทำให้พนักงานเข้าใจถึงสถานการณ์วิกฤตครั้งนั้น ซึ่งก็มีบุคลากรนั้นลาออกไป เกษียณไป และอาจจะต้องมีการลดจำนวนบุคลากร แต่ก็ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย และ เงินเดือนที่อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมาย และสิ่งที่สำคัญคนที่อยู่หรือไป คือ คนที่เสียสละในการออกวิกฤตครั้งนี้

นายชาญศิลป์กล่าวว่า การบินไทยเจอวิกฤตขาดทุนสะสมเป็นระยะเวลานาน โดยครั้งแรกเริ่มมาจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 จากนั้นวิกฤต 911 และจุดชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดทุนครั้งใหญ่คือการปิดสนามบิน 2551 และต่อมาการบินไทยก็เจอกับสภาวะที่ประเทศไทยนั้นไม่นิ่ง มีหนี้สูงถึง 3 แสนหมื่นล้าน ซึ่งพอเจอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ถือว่าเป็น วิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งสายการบินอื่นก็เจอ แต่ตนมองว่าการบินไทยจะถือว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เปรียบเสมือนการเข้าห้องผ่าตัดและห้องไอซียู เริ่มจากอะไรที่ขายได้ขายเพื่อเอาเงินสดกลับมา ตอนที่ตนมาบริหารแรกๆ การบินไทยมีเงินสดอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ตนจึงมองว่าการขายทรัพย์สินในบริษัทออกมาเป็นเงินก่อนแล้วถ้ากลับมามีเพียงพอค่อยลงทุนต่อยอดได้ ซึ่งการใช้วิธีนี้ทำให้ตอนนี้การบินไทยมีเงินสดถึง 8,000-9,000 ล้านบาท รวมไปถึงการสร้างรายได้ระยะสั้นอย่างเช่นการขายปาท่องโก๋ ซึ่งก็จะช่วยให้พนักงานมีกำลังใจ และเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยการบินไทยพอมีรายได้ในช่วงที่หยุดบิน

“โควิดคือโอกาสอย่างยิ่งของการบินไทย เพราะคู่แข่งหยุดบินหมด ไม่กินตลาดเรา เลยมีเวลาเข้าไอซียูผ่าตัดจนฟื้น” นายชาญศิลป์กล่าว

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ตนและทีมงานได้มีการนำแผนฟื้นฟูของต่างประเทศมาศึกษาและนำมาปรับใช้ และนำบทเรียนเก่าๆ ของการบินไทยนำมาปรับปรุง โดยเจ้าหนี้ที่ตนต้องรับมือนั้นมีถึง 13,000 ราย และติดต่อยากมาก นัดลำบากมาก โทรไปไม่รับ ไม่อยากเจอ แต่ตนก็ทำใจเป็นปีแล้ว ด้วยหน้าที่ของสถาบันการเงินเขา เราเข้าใจเขา แต่ตนก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ทั้งสร้างความเชื่อมั่น รวมไปถึงการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความสบายใจ สิ่งที่ตนและผู้บริหารทำนั้นคือ การ ‘ทำตามแผนฟื้นฟูสม่ำเสมอ’ และช่วยกันทำแผนฟื้นฟูกับทางคณะผู้บริหาร และไปพบลูกหนี้ตามที่นัดไว้ โดยปัจจุบันหลังจากที่แผนฟื้นฟูเป็นไปตามคาด โดยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมาการบินไทยทำกำไรสูง 2 หมื่น 8 พันล้านบาท และพนักงานได้ขึ้นเงินเดือน รวมถึงได้เงินโบนัสอีกด้วย

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ตนไม่เคยคิดว่าจะมาจุดนี้ได้ ตนเองทำงานมาเรื่อยๆ แต่ตัวเองมีความสุขกับการทำ และตนโชคดีที่มีกัลยาณมิตรที่ดีที่ช่วยเหลือกันมาตลอด รวมทั้งพี่น้องสื่อมวลชน ที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ และหน่วยงานอย่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) รวมทั้งรัฐบาลและบุคลากรการบินไทยทุกท่านเห็นถึงความสำคัญของการบินไทย

ทั้งนี้ นายชาญศิลป์กล่าวว่า ก้าวต่อไปของการบินไทยหลังพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจถือว่าดีมาก เพราะการบริหารจัดการ หรือการจัดซื้อขายถือว่าทำเรื่องได้ง่ายขึ้น รวมถึงการทำโครงสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมา เช่น มีหน่วยงานใหม่ อาทิ การตั้งหน่วยงานดูแลฝ่ายดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพ และเป้าหมายสำคัญคือการที่สายการบินสามารถสร้างการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพได้ โดยตั้งเป้าให้เป็นสายการบินแห่งชาติระดับกลางถึงบนที่มีความปลอดภัยสูงสุด ทันสมัยและมีการบริการที่ดีและสร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสารต่อไปได้ดียิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าการบริการของประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆ

นายชาญศิลป์กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมาอยากขอบคุณทุกภาคส่วน รวมทั้งสื่อมวลชนที่ช่วยกันให้กำลังใจ และรวมถึงเจ้าหนี้ที่เข้าใจและให้โอกาส ซึ่งตนเชื่อเสมอว่าทุกวิกฤตมักมีทางสว่างรอเสมอ เหมือนกับการบินไทยที่ต้องยังอยู่บนฟ้าต่อไปให้ได้

“ฟ้ายังมีสีฟ้าอยู่ การบินไทยต้องบินให้ได้” นายชาญศิลป์กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับนักอ่านท่านใดที่สนใจหนังสือ “พลิกฟ้า ฝ่าวิกฤต การบินไทย” เขียนโดย ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’
🛒 สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่: https://www.matichonbook.com
(ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป)
.
และสามารถหาซื้อได้ที่:
📍 งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29
📔💭 บูธ J02 สำนักพิมพ์มติชน
📍 พบกันได้ง่ายๆ เพียงเข้าประตู Hall 6 🏃🏻💨 ติดกับบูธ B2S
📍 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7
📍 วันที่ 10-20 ตุลาคม 2567
📍 ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น.