สทนช. เตรียมรับมือฝนภาคกลาง-น้ำทะเลหนุน ลดระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
วันที่ 9 ตุลาคม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรุงเทพมหานคร เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายสุรสีห์ กล่าวผลการประชุม ว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดว่าในระยะนี้ปริมาณฝนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะลดลง โดยมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึง กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงวันที่ 12 – 14 ตุลาคม ประกอบกับ จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 13 – 24 ตุลาคม และมวลน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ จึงต้องหาแนวทางในการลดปริมาณน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบนที่จะไหลมายังเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการระบาย 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที โดยกรมชลประทานจะพิจารณาระบายน้ำเพิ่มเติมไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ลงสู่คลองชัยนาท – ป่าสัก
พร้อมทั้งจะผันน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำให้เกษตรกรใช้สำหรับเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันในการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับปัจจุบัน คือ +16.5 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ในระดับ +17.3 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมทั้งจะมีการทยอยปรับลดอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ โดยในวันพรุ่งนี้ 10 ตุลาคม จะเริ่มปรับลดลงในอัตรา 50 – 100 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุดตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ จากแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ในระยะนี้และช่วงหลังจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ สทนช. เตรียมพิจารณาตั้งศูนย์ส่วนหน้าในภาคใต้เพื่อดำเนินงานเชิงรุก ทั้งคาดการณ์สถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ โดยได้มีการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในฤดูฝนที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากในระยะที่ยังไม่ได้ฝนตกหนักมากนัก โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 9 – 12 ตุลาคม สทนช. ได้ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง บริเวณ จ.ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมกันนี้ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยรายอำเภอ ล่วงหน้า 3 วัน จากปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ได้แก่
- จ.พังงา อ.ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง เมืองพังงา คุระบุรี
- จ.ยะลา อ.กาบัง ยะหา เบตง ธารโต
- จ.สงขลา อ.สะเดา คลองหอยโข่ง นาทวี สะบ้าย้อย
- จ.สุราษฎร์ธานี อ.เวียงสระ
- จ.ตรัง อ.เมืองตรัง ห้วยยอด นาโยง วังวิเศษ
- จ.สตูล อ.ควนกาหลง
- จ.กระบี่ อ.เมืองกระบี่ คลองท่อม
ซึ่ง สทนช. ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำปิง ปัจจุบันที่ จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำบริเวณสถานี P.1 สะพานนวรัฐ ได้ลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้ว โดยมวลน้ำได้ไหลไปยัง อ.สารภี และไหลไปสู่ จ.ลำพูน บริเวณ อ.เมืองลำพูน ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำสูงแต่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วันนี้ และในส่วนของจังหวัดอื่น ๆ ที่ยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สทนช. ได้ร่วมประเมินติดตามคาดการณ์การเกิดพายุที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้ – 20 ตุลาคม ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย