ส่อง 14 สินค้าตัวท็อป พณ.กางทิศทางส่งออกไตรมาสสุดท้ายปี 67 ส่วนใหญ่ยันบวกได้ต่อ
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปจาก 14 กลุ่มสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุไตรมาส 4 /2567 ยังมีความกังวลต่อปัจจัยภายนอกที่มองว่าอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกใน 3 เดือนสุดท้ายของปี ได้แก่
กลุ่ม 1. ข้าว ผู้ส่งออกระบุยังไม่ชัดเจน เนื่องจากราคาข้าวมีความผันผวนสูงจากปัจจัยอินเดียกลับมาส่งออกข้าว โดยลดภาษีข้าวหัก ข้าวเปลือก ข้าวนึ่ง 10% และอนุญาตให้ส่งออกข้าวขาวโดยไม่คิดภาษี คาดมีผลกระทบระยะสั้น 1-2 เดือนต่อราคาข้าวไทย รวมถึงประเทศผู้นำเข้ามีแนวโน้มนำเข้าลดลง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เพราะมีสต๊อกข้าวค่อนข้างมาก และต้องติดตามปริมาณข้าวในไทยจากผลกระทบแล้งสู่ท่วม แต่ยังคาดการณ์ส่งออกไตรมาสสุดท้ายรวมประมาณ 1.5 ล้านตัน จาก 8 เดือนแรกส่งออก 6.5 ล้านตัน ขยายตัว24.06% หรือคิดเป็น 79.27% ของเป้าส่งออกปี 2567 ที่ 8.2 ล้านตัน และมีมูลค่า 4,264.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (152,556.17 ล้านบาท) ขยายตัว 44.09%
กลุ่ม 2. มันสำปะหลัง คาดว่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้าย แนวโน้มหดตัวลดลงกว่าช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ เนื่องจากปัญหาโรคใบด่างและการขาดแคลนท่อนพันธุ์ รวมถึงการใช้วัตถุดิบทดแทนมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ในปี 2567 หดตัว จากคาดการณ์ปริมาณส่งออกทั้งปีที่ 7.60 ล้านตัน หรือลบ 12.13% จาก 8 เดือนแรกส่งออก ปริมาณ 4.65 ล้านตัน หดตัว 30.32% คิดเป็น 61.16% ของเป้าทั้งปีที่ 2.3 ล้านตัน และมูลค่า 2,232 ล้านเหรียญสหรัฐ (79,606.60 ล้านบาท) หดตัว 14.85%
กลุ่ม 3. ผลไม้ คาดการณ์มูลค่าส่งออกไตรมาสสุดท้ายของปี 650 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงที่ผลผลิตตามฤดูกาลได้ออกสู่ตลาดเกือบหมดแล้ว แต่คาดว่าจะมีผลไม้นอกฤดูบางส่วนออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป้าส่งออกสินค้าผลไม้สดปี 2567 บวก 0.5% มูลค่า 5,285 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออก 8 เดือนแรก ผลไม้สดมีมูลค่า 4,534.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (154,530.94 ล้านบาท) ขยายตัว 24.31% เมื่อหรือเท่ากับ 83.53% ของเป้าทั้งปี
กลุ่ม 4. ปศุสัตว์ (ไก่) ไตรมาสสุดท้ายประมาณส่งออก ประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (45,000 ล้านบาท) โดยช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ญี่ปุ่นกลับมานำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากบราซิล อาจส่งผลต่อตัวเลขส่งออกไก่ไปญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเล็กน้อย โดยส่งออก 8 เดือนมีมูลค่า 2,818.74 ล้านเหรียญสหรัฐ (101,015.62 ล้านบาท) ขยายตัว 4.59% หรือเท่ากับ 63.41% ของเป้าส่งออกไก่ ทั้งปี มูลค่า 4,551 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 4.24%) หรือ 159,297 ล้านบาท ปริมาณ 1,154,329 ตัน บวก 1%
กลุ่ม 5. อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ช่วง 3 เดือนสุดท้ายประมาณ 1,099.20 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 6.05% โดยมีเป้าหมายทั้งปี 4,001.66 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 5% จากช่วง 8 เดือนแรกมีมูลค่า 2,902.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (104,009.37 ล้านบาท) เพิ่ม 10.39%
สำหรับสินค้าส่งออกในภาคอุตสาหกรรม พบว่า
กลุ่ม 6. อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบคือ ต้นทุนด้านราคา และการแข่งขัน คาดไตรมาสสุดท้ายบวก 12.60% เป้าหมายทั้งปี 50,906.94 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 10 % จาก 8 เดือนแรก 33,961.30 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 14.30%
กลุ่ม 7. เครื่องใช้ไฟฟ้า 3 เดือนส่งท้ายคาดบวก 5.60% เป้าหมายทั้งปี 29,372.77 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 2.50% ช่วง 8 เดือนแรกส่งออก 19,461.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 1.52%
กลุ่ม 8. ยานยนต์ คาดไตรมาสสี่ลบ 1% เป้าทั้งปี เป้าหมาย 27,081.04 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 3% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ สถานการณ์ในตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อจำนวนเที่ยวเรือขนส่งลดลง และเศรษฐกิจของออสเตรเลียตลาดส่งออกหลักที่ชะลอตัว โดย 8 เดือนแรกส่งได้ 16,202 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 8.90%
กลุ่ม 9. ชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ 3 เดือนสุดท้ายบวก 1% ปัจจัยกระทบจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อจำนวนเที่ยวเรือขนส่งลดลงและเงินบาทแข็งค่า เป้าหมาย 16,465.87 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 3% จาก 8 เดือนแรกส่งออก 10,194.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ3.08%
กลุ่ม 10. วัสดุก่อสร้าง คาดติดลบ 1% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบคือ ค่าเงินบาทแข็งค่า เป้าหมายทั้งปี 10,532.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 5.00% จาก 8 เดือนแรก 7,991.76 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 9.93%
กลุ่ม 11. ยางพารา คาดบวก 5% เป้าทั้งปี จากความต้องการวัตถุดิบเพื่อไปผลิตเป็นยางรถยนต์ค่อนข้างสูง กอปรกับราคาที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน เป้าหมาย 4,013.42 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 10 % จาก 8 เดือนแรก 3,232.94 ล้านเหรียฐสหรัฐ บวก 38.09%
กลุ่ม 12. ผลิตภัณฑ์ยาง คาดลบ 5% เป้าทั้งปี 12,839.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ลบ 3% จาก 8 เดือนแรก 8,981.27 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 0.42%
กลุ่ม 13. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ คาดบวก 1.5% เป้าหมาย เป้าหมาย 9,230.59 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 5% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบคือค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอุปสรรคด้านการขนส่ง ช่วง 8 เดือนแรก ส่งได้ 6,532.33 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 13.55%
กลุ่ม 14. อาหารสัตว์เลี้ยง คาดบวก 3% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบคือ ราคาวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าขนส่งและค่าเงินบาทที่ผันผวน เป้าทั้งปี 2,538.41 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 3% จาก 8 เดือนแรกส่งได้ 1,997.97 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 26.35%