ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
สร้างเซอร์ไพรส์ไม่น้อย หลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดวันที่ 16 ตุลาคม 2567 มีมติ 5:2 ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที หลังตลาดรอมานานกว่า 4 ปี ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ วันที่ทุกคนรอคอย
มีเสียงจากภาคธุรกิจขานรับกันถ้วนหน้า ถึงแม้จะแค่ “หนึ่งสลึง” แต่ถือว่าช่วยลดภาระหนี้ ต้นทุนการเงิน เพิ่มสภาพคล่องได้ไม่มากก็น้อย
ขณะเดียวกันยังสะท้อนกลับ อยากให้ “กนง.” นัดวันที่ 18 ธันวาคมนี้ กดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เป็นครั้งที่สอง รับกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของ “รัฐบาลแพทองธาร” เตรียมทำคลอดส่งท้ายปี 2567 ด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยในวันนี้ “แค่ลดดอกเบี้ย คงไม่พอ” บูสต์เศรษฐกิจไทย ท่ามกลางมรสุมรุมเร้า แต่ก็ถือว่ามาถูกทาง ถูกเวลา
⦁‘ลดดอก-แจกเงิน’ช่วยได้ชั่วคราว
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ในปีนี้คาด กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 1 ครั้ง และลดอีก 1-2 ครั้งหลังกลางปี 2568 สู่ระดับ 1.75% หากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ซึ่งการลดอกเบี้ยไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่ช่วยลดภาระผู้เป็นหนี้ ลดต้นทุนธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะได้ประโยชน์ รวมถึงการรีไฟแนนซ์หนี้บ้าน เพราะทำให้งวดผ่อนบ้านลดลง
การที่ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้นโยบายการเงินเข้มข้นมากเกินไป และเป็นการผ่อนคลายการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มองว่าแบงก์ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเหมือนเดิมและมีความระวังมากขึ้นไปอีกจนกว่าเศรษฐกิจจะดี เพราะกังวลจะมีหนี้เสียเพิ่ม โดยเฉพาะบ้านและรถยนต์ ขณะที่หนี้ครัวเรือนเริ่มลดลง แต่เป็นการลดลงจากการที่แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้
“ภาพเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2567 จะได้ผลบวกระยะสั้นจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งใช้วงเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.7% ของจีดีพี จะทำให้จีดีพีไตรมาส 4 ดูดีเติบโตเกิน 4% เทียบกับปี 2566 ที่ฐานค่อนข้างต่ำ โดยคาดการณ์จีดีพีปีนี้จะเติบโตที่ 2.8% ถ้ามีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกันออกมาเพิ่มน่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการแจกเงินก้อนที่สองจะใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปี 2568 น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้ประมาณ 3% ในปี 2568” พิพัฒน์กล่าว
⦁‘หนี้เสีย’ยังไหลต่อ 1.2 ล้านล้าน
ด้าน สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) สะท้อนว่า กนง.ลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยให้หนี้เสีย (NPL) ลดลง เพราะคนที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว ยังไงก็ไม่มีเงินจ่ายหนี้ แต่ดีต่อผู้เป็นหนี้และกำลังมีปัญหาอยู่ ถ้าดอกเบี้ยลดอาจทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีโปรโมชั่นจูงใจให้เขาอยากกลับมาเป็นหนี้ดีหรือไม่ เพราะการปรับโครงสร้างหนี้เหมือนยื่นขอกู้ใหม่ ต้องดูสถานะการเงิน รายได้ ความสามารถการชำระหนี้ และแบงก์ยังเข้มงวดการปล่อยกู้ด้วย
“กนง.ลดดอกเบี้ย เพื่อผ่อนคลายลดความกังวลกับตลาดในการปล่อยสินเชื่อ หลังสินเชื่อปล่อยใหม่โตต่ำต้องดูหลังดอกเบี้ยลดแล้ว ยอดรีเจ็กต์เรตจะลดลงหรือไม่ ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวชี้วัด เพราะดอกเบี้ยกับมาตรฐานสินเชื่อ คนละเรื่องกัน” สุรพลกล่าว
“สุรพล” ฉายภาพรวมสินเชื่อผู้บริโภคทั้งระบบ ณ เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 13.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% เทียบกับปี 2566 โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 3.2% สินเชื่อรถยนต์ลดลง 4.6% สินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 0.3% สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 2.3% ขณะที่หนี้เสียค้างชำระเกิน 90 วัน มีกว่า 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% เป็นหนี้เสียบ้านกว่า 230,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% รถยนต์กว่า 259,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.6% บัตรเครดิตกว่า 69,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% สินเชื่อบุคคลกว่า 284,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9%
ส่วนหนี้ค้างชำระ 31-90 วัน หรือหนี้ที่กำลังจะเสีย (SM) อยู่ที่กว่า 641,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เป็นหนี้บ้านกว่า 187,199 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% รถยนต์กว่า 187,386 ล้านบาท ลดลง 12.9% หนี้บัตรเครดิตกว่า 10,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% หนี้สินเชื่อบุคคลกว่า 135,808 ล้านบาท ลดลง 1.1%
“หนี้เสียยังไหลต่อ คาดไตรมาส 3 นี้ แตะ 1.2 ล้านล้านบาท เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก คนยังมีรายได้ไม่เพียงพอ บางส่วนรายได้ยังไม่กลับมาเท่าระดับก่อนโควิดและยอดหนี้ที่กล่าวมานี้ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย ต้องรอดูตัวเลขเดือนกันยายนนี้อีกครั้ง” สุรพลกล่าว
⦁‘นายแบงก์’มองต้องลดเป็นซีรีส์
ฝั่งนายแบงก์ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แชร์มุมมองดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาเป็นซีรีส์ ทำให้คนผ่อนไม่ได้ กู้ไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง ขณะที่การลดดอกเบี้ย ทำให้หนี้ครัวเรือนลดลง แต่ไม่ได้ลงในทันที และการลดดอกเบี้ยเพื่อให้ได้ผล ต้องลดเป็นซีรีส์
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาใหญ่ไม่สามารถใช้มาตรการเดียวแก้ไขได้ ต้องใช้หลายมาตรการใส่เข้าไป รวมถึงต้องทำต่อเนื่องและต้องใช้เวลา เพื่อให้ปรับลดลงจากกว่า 90% เหลือ 75-80% ของจีดีพี นอกจากนี้ เวลาแก้ต้องดูว่าหนี้ครัวเรือนมาจากไหนด้วย
“ต้องยอมรับการมาของโควิด ทำให้หนี้ครัวเรือนบานปลาย เพราะคนไม่มีเงินก็ต้องกู้ประทังชีวิต การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับภาพใหญ่ ต้องเอาหนี้หารด้วยจีดีพี ถ้าจีดีพีโต รายได้โต หนี้จะลงด้วยสภาพแต่อาจจะลงไม่กระจายตัว เพราะมีบางกลุ่ม เช่น คนจนฐานราก ไม่มีรายได้เพิ่ม แต่หนี้เท่าเดิม ก็ต้องแก้ด้วยเพิ่มรายได้ ปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์หนี้ ดึงออกจากหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ ที่ผ่านมามีคนมารีไฟแนนซ์กับออมสินเยอะ เพราะดอกเบี้ยถูก” วิทัยกล่าว
⦁สกัดบาทแข็ง-พยุงส่งออก-อสังหาฯ
ขณะที่เสียงจากภาคเอกชน ทาง วิศิษฏ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ระบุเห็นด้วยที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเป็นจังหวะที่หลายประเทศในโลกเริ่มลดแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ในการลดต้นทุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีหลังจากนี้จะได้เห็นแบงก์พาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงให้กับรายเล็กรายย่อย หลังที่ผ่านมาต้นทุนการเงินสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ประกอบกับเจอภาวะเงินบาทแข็งค่าเร็ว
การลดอกเบี้ยจะช่วยปรับสมดุลค่าเงินบาท ไม่ทำให้แข็งค่าขึ้นไปมากกว่านี้ แต่ทำให้เงินบาทอ่อนตัวลงได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทยอย่างเดียว ต้องดูแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วย เพราะปัจจุบันทั่วโลกยังใช้อัตราเงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยมีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างแน่นอน
สอดคล้อง สุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่มองว่าการลดดอกเบี้ยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในแง่ของเศรษฐกิจ ทำให้เงินบาทที่แข็งอ่อนค่าลง มีผลต่อรายได้การส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้อานิสงส์บ้าง เพราะคนที่มีกำลังซื้อจะตัดสินใจเร็วขึ้น เมื่อเห็นดอกเบี้ยถูกลง ลดภาระคนที่ผ่อนบ้านที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวลงได้ โดยดอกเบี้ยลด 0.25% ประหยัดได้ล้านละ 208 บาทต่อเดือน หรือ 2,500 บาทต่อปี ถ้าบ้าน 5 ล้านบาท ประหยัดได้ 12,500 บาทต่อปี ขณะที่ผู้ประกอบการประหยัดดอกเบี้ยได้ล้านละ 2,500 บาทต่อปี แต่ความสัมพันธ์ของดอกเบี้ยนโยบาย กับดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์ ไม่ได้แปรผันตรงในทันที อาจจะปรับลงในอนาคต หรือลดน้อยกว่า 0.25% ก็เป็นไปได้
“ดอกเบี้ยเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง ถ้าแบงก์ไม่ปล่อยกู้ โดยเฉพาะแบงก์พาณิชย์ที่ไม่ปล่อยกู้ให้รายย่อยเลย ดอกเบี้ยถูกก็ไม่มีประโยชน์ และอยากขอพูดซ้ำว่าแบงก์ชาติต้องผ่อนคลายมาตรการ LTV ได้แล้ว ดึงคนที่มีกำลังซื้อ มาซื้อบ้านหลังหลังที่ 2 จะลงทุนหรืออยู่เองก็ได้ เพราะปัจจุบันตลาดอสังหาฯถือว่าตกท้องช้างหรือถึงจุดต่ำสุดแล้ว ดูจากรีเจ็กต์เรตยังสูง 40-45% โดยเฉพาะกลุ่มต่ำ 3 ล้านบาท หนักสุด 65%” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรกล่าวย้ำ
⦁ลดต้นทุนการเงิน-เติมสภาพคล่อง
ด้าน อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเคยลดลงต่ำสุด ระดับ 0.5% เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด โดยคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% จนถึงสิงหาคม 2565 และค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2.50% เมื่อเดือนกันยายน 2566 ถือว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้รวมถึงมาตรการอื่นๆ ของ ธปท.ที่ผ่อนคลายในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งผู้ประกอบการ ภาคครัวเรือน มีส่วนสำคัญร่วมกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ที่ประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงโควิดที่ผ่านมา แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงคราม เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจล่าช้า ไม่แข็งแรง รวมถึงยังเป็นการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียม หรือแบบเคเชฟ
ทำให้ที่ผ่านมามีมุมมองจากรัฐบาลที่ต้องการดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการทางการคลัง รวมถึงภาคเอกชนและภาคครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรลดลง เพื่อช่วยการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แก้ปัญหาภาระหนี้ และสภาพคล่องทางการเงิน จน กนง.มีมติวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลต่อการลดดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจลดลง ส่งผลดีในการแก้ปัญหาภาระหนี้ ทั้งผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนด้วย
ส่วนการออมที่ลดลงจะกระตุ้นการลงทุน การปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้า รายได้ และอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลง เป็นผลดีต่อการส่งออก การท่องเที่ยว ที่ยังเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวแปรทางเศรษฐกิจ ยังคงมีอีกหลายปัจจัย ทั้งภายนอกและภายในประเทศ แม้ลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยมาตรการทางการคลังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการเงินส่งผลได้เร็วกว่าการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนด้านต่างๆ
⦁วัดใจ‘ธปท.-กนง.’หั่นอีกรอบสิ้นปี
สำหรับภาคอสังหาฯ “อิสระ” ระบุว่า ลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย การแก้ปัญหาภาระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อผู้ประกอบการทุกประเภท ที่มีอสังหาฯเป็นทรัพย์หลักประกัน โดยเฉพาะภาคอสังหาฯที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่านธนาคารของรัฐ ครอบคลุมถึงบ้านมือสอง ส่งผลดีต่อการจำหน่ายทรัพย์หลักประกันของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันด้วย
โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ธปท.ได้ดูแลความมั่นคงด้านภาคการเงิน เงินสำรองระหว่างประเทศ และมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าทั้ง ธปท.และ กนง.ซึ่งจะประชุมวันที่ 18 ธันวาคมนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของปี 2567 จะใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาล
เป็นมุมมองของภาคการเงิน ภาคธุรกิจ ต่อการปรับลดดอกเบี้ยไทย ต้องลุ้นวันที่ 18 ธันวาคมนี้ จะมีเซอร์ไพรส์ก๊อกสองออกมาตามเสียงเรียกร้องหรือไม่!!