เป็นที่ทราบกันดีว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีไทย ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
อ้างอิงตัวเลขประมาณการกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ
ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีบทบาทในการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่เอสเอ็มอีไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีช่องว่างของการได้เปรียบและเสียเปรียบในการแข่งขันกับบริษัทรายอื่นๆ สร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการกระจุกตัวของอำนาจทางเศรษฐกิจ
จากสถานการณ์ดังกล่าว นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าเซฟเอสเอ็มอีไทยเป็นการเร่งด่วน
นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่า เริ่มต้นปีงบประมาณ 2568 นายเอกนัฏได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าเซฟเอสเอ็มอีไทยเป็นการเร่งด่วน
ทั้งมาตรการปกป้องจากความถาโถมของคลื่นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ และการนำเข้าของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ที่มาตรการ กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องยังไม่ครอบคลุมและสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ทำให้เอสเอ็มอีไทยไทยเผชิญหน้ากับหลายสถานการณ์
เรื่องแรก ความไม่เท่าเทียมทางธุรกิจภายในประเทศ ที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เอสเอ็มอีไทยไทยยังประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ ความแตกต่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เอสเอ็มอีไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำกว่า และกฎระเบียบที่ซับซ้อนยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีไทย
เรื่องที่สอง การแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทำให้เกิดการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติที่ได้รับและเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนที่มากกว่า เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการยกเว้นภาษีนำเข้า ต่างจากธุรกิจในไทยที่เสียภาษีเต็มรูปแบบ ทำให้เอสเอ็มอีไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน อีกทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทข้ามชาติมายังเอสเอ็มอีไทยยังมีอยู่น้อย
และ เรื่องที่สาม การรุกตลาดของสินค้านำเข้าราคาถูก สินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศที่มีปริมาณการผลิตที่สูงกว่ามาก รุกผ่านแนวเขตปลอดอากร (Free Zone) รวมถึงการค้าออนไลน์จากต่างประเทศที่มีช่องว่างของการจัดเก็บภาษี ทำให้เอสเอ็มอีไทยยากที่จะแข่งขันด้านราคาได้ และสินค้านำเข้าบางชนิดอาจมีคุณภาพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าหากพิจารณาให้ด้านราคาเป็นสำคัญ
“การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีไทยเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเซฟให้เอสเอ็มอีไทย สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายพลาวุธระบุ
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาและสร้างความเท่าเทียม นายพลาวุธระบุว่า 1.ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รัฐบาลควรสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอีไทยในอัตราดอกเบี้ยและกลไกการค้ำประกันที่มีความเหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมผ่านช่องทางการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการระดมทุนผ่านตลาดทุนและการลงทุนของกองทุนร่วมเสี่ยง หรือกองทุนของภาคเอกชน
2.ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานระดับกระทรวงและกรมที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ การขับเคลื่อนกลไกของภาครัฐผ่าน DIPROM และสถาบันเครือข่าย
3.ปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายและสิทธิประโยชน์ให้มีความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงและสามารถแข่งขันได้อย่างเหมาะสมโดยเฉพาะการตรวจบังคับด้านมาตรฐานสินค้นและการให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมด้านกฎระเบียบและภาษีระหว่างร้านค้าที่มีหน้าร้านในไทย ผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยู่ในไทยและผู้ประกอบการออนไลน์ต่างประเทศ
4.ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เอสเอ็มอีไทย
5.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสร้างแบรนด์ของตนเอง และ 6.ส่งเสริมการตลาด สนับสนุนการตลาด การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการส่งออกผลิตภัณฑ์ของ SMEs อย่างครบวงจร
นายพลาวุธระบุด้วยว่า ถึงแม้ว่าการลงทุนจากต่างชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเป็นสุขก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมสอดคล้องกับนโยบาย 4 มิติของกระทรวงอุตสาหกรรม
ในขณะเดียวกันเอสเอ็มอีไทยซึ่งเป็นธุรกิจส่วนใหญ่และมีบทบาทสำคัญภายในประเทศก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกัน ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันจึงยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเติบโตของเอสเอ็มอีไทย
“การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐที่ต้องมีนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี และภาคเอกชนที่ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” นายพลาวุธทิ้งท้าย