‘เงินฝาก’ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่มีสถาบันการเงิน หรือธนาคารเป็นผู้ให้บริการและดูแลบัญชีเงินฝาก ถ้าฝากได้ตามเงื่อนไข ทั้งจำนวนและเวลา จะได้รับดอกเบี้ยสูง
ภาครัฐจัดตั้ง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หน้าที่ตรงตัวคือ คุ้มครองเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากและประชาชนรู้สึกมั่นใจและอุ่นใจในการฝากเงินกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง หลังจากที่เกิดวิกฤตปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบการคุ้มครองเงินฝาก
ปัจจุบัน สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้กำหนดจำนวนเงินคุ้มครองไว้ วงเงินคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) ซึ่งหมายความว่า หากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากในสถาบันการเงินดังกล่าวจะได้รับเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) คืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใต้วงเงินคุ้มครองที่กำหนด โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน
สำหรับวงเงินที่ได้รับความคุ้มครองจะแตกต่างตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ โดยวงเงินคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทย 1 ล้านบาท ถือว่าครอบคลุมเงินฝากทั้งจำนวนของผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98% ของผู้ฝากทั้งระบบ
“มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์” ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมข้อมูลครึ่งแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน 2567) มีจำนวนผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งสิ้น 97.1 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 2.3 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 2.48% คิดเป็นสัดส่วน 98.15% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ
เหตุผลที่จำนวนผู้ฝากเพิ่มขึ้น มาจากสถาบันการเงินบางแห่งมีการขยายฐานลูกค้า โดยมีการเปิดบัญชีเงินฝากในลักษณะที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์พิเศษ เช่น บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่ต้องมีการเปิดบัญชีเงินบาทควบคู่ไปด้วย
ขณะที่ จำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ในครึ่งแรกของปี 2567 รวมทั้งสิ้น 16.19 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 จำนวน 9.3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.58% แต่เงินฝากเกินกว่าครึ่งเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่มีวงเงินมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นยอดที่เพิ่มกว่า 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนสูงและเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเงินฝากโดยเฉพาะเงินฝากของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นสูงเนื่องจากอยู่ระหว่างรอการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี
ขณะที่เงินฝากในระดับน้อยกว่า 1 ล้านบาท กลับหดตัวลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยลดลง 6.27 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 2.3% ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของเงินฝากกลุ่มบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เนื่องจากผู้ฝากมีทางเลือกลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น พันธบัตรออมทรัพย์กระทรวงการคลัง ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก รวมไปถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้กลุ่มฐานรากส่วนใหญ่ต้องใช้เงินในการชำระหนี้สิน ทำให้ภาพรวมการเติบโตของจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 สามารถขยายตัวได้เล็กน้อย
อย่างไรก็ดี หากจำแนกตามจำนวนรายผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองในแต่ละระดับ พบว่า จำนวนผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ 9.52 ล้านราย ขยายตัว 2.52% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ฝากเงินมากกว่า 1-5 ล้านบาท 1.44 ล้านคน หดตัว 0.13% ผู้ฝากเงินมากกว่า 5-10 ล้านบาท 1.8 แสนราย ขยายตัว 2.81% และจำนวนผู้ฝากเงินมากกว่า 10 ล้านบาท 1.69 แสนรายขยายตัว 1.74%
ส่วนจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในแต่ละระดับเงินฝาก พบว่า จำนวนผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมวงเงิน 2.66 ล้านล้านบาท หดตัว 2.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้ฝากเงินมากกว่า 1-5 ล้านบาท รวมวงเงิน 2.87 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.48% ผู้ฝากมากกว่า 5-10 ล้านบาท รวมมูลค่า 1.22 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.97% และผู้ฝากเงินมากกว่า 10 ล้านบาท รวมมูลค่า 9.42 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.15%
ล่าสุด สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้จับมือกับวิธิตากรุ๊ป เพื่อการขยายองค์ความรู้การคุ้มครองเงินฝากและทักษะทางการเงินผ่านสื่อที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่บกพร่องทางการมองเห็นและการได้ยิน เพื่อทำให้ทุกคนรู้ถึงข้อมูลที่เป็นสิทธิประโยชน์สำคัญสำหรับผู้ฝาก ภายใต้หนังสือ “Twin Book”ปังปอนด์จอมป่วน “มนต์วิเศษปกป้องเงินออม”
โดยศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผู้ทำหน้าที่ผลิตหนังสือ Twin Book นี้ขึ้น โดยศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอดเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอักษรเบรลที่ได้มาตรฐานเหมาะแก่การอ่านสำหรับผู้พิการทางสายตา
อีกทั้งยังต่อยอดในการผลิตเนื้อหาเสียงพากย์หนังสือ Twin Book ให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยได้นักพากย์จิตอาสาเข้าร่วมในโครงการ และความร่วมมือจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ในการผลิตภาษามือ จึงทำให้หนังสือ Twin Book โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากเล่มนี้มีความครบถ้วนครอบคลุมในทุกมิติ
นอกจากนี้ สคฝ.ยังผลิตคลิปวิดีโอการ์ตูนสั้นอีก 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 เผยวิถีเศรษฐีปังปอนด์ และตอนที่ 2 เผยเคล็ดวิชาที่คนอยากรวยต้องรู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้เพลิดเพลินกับเนื้อหาที่ส่งเสริม
พร้อมกระตุ้นวินัยทางการเงินให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง