ศูนย์วิจัยกรุงไทย ชี้ เส้น รฟฟ. สายสีส้มตะวันตก กระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย คาดแตะ 5 หมื่น ลบ. ต่อปี
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เวลา 10.33 น. ณ ห้องประชุม 1401 ชั้น 4 อาคารนานาเหนือ บมจ.ธนาคารกรุงไทย (สำนักงานใหญ่) ศูนย์วิจัย กรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) แถลงข่าว บทวิเคราะห์ โอกาสของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นายสุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย (Krungthai COMPASS) ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งมูลค่าของโครงการกว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.8% ต่อจีดีพี เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะมีส่วนช่วยส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาก่อสร้างราว 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า รวมถึงก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา (Crowding-in effect) โดยเฉพาะในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตามความต้องการอยู่อาศัยในบริเวณบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่มากขึ้น
นายสุปรีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านกำลังซื้อ โดนเห็นได้จากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศในช่วง 7 เดือนของปี 2567 ที่ติดลบ 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวแทบทุกกลุ่ม ทั้งในมิติของทำเล และมิติของประเภทที่อยู่อาศัย ดังนั้น ตลาดที่อยู่อาศัยจำเป็นจะต้องมีปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ตลาดสามารถเติบโตได้ในอนาคต โดยโครงการพัฒนารถไฟฟ้า เป็น 1 ในตัวขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะช่วยประคับประคองตลาดที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป
น.ส. สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย กรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) มี 3 จุดเด่นที่น่าสนใจ ได้แก่
1) ทำให้การเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง และกรุงเทพฯ ชั้นใน สะดวกขึ้น อีกทั้ง ยังมีสถานีที่เป็นจุดตัดกับโครงข่ายรถไฟฟ้าอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง ทำให้เหมาะสำหรับการต่อยอดสู่การเป็นฮับในการเดินทางและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้หลายรูปแบบ
2) ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกเพศทุกวัย โดยมีเส้นทางผ่านทั้งสถานที่ทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน ย่านธุรกิจ ย่านชุมชนเก่า ย่านที่อยู่อาศัย และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปยังย่านธุรกิจหลักใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเดินทางของคนในพื้นที่สูงขึ้นและทำให้พื้นที่โดยรอบมีศักยภาพมากขึ้น รวมถึง ราคาทำเลที่อยู่อาศัยเข้าถึงง่าย
3) เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ.2065
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย กรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) กล่าวว่า หากอ้างอิงกับตลาดทำเลที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบแนวรถไฟฟ้า คาดว่า ทำเลบริเวณรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญทำให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในทำเลบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีละ 5,450 ยูนิต มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6,800 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาท และจุดเด่นของ
อย่างไรก็ดี นายกณิศ กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรเลือกพัฒนาที่อยู่อาศัยใน ระดับราคาของบ้าน (segment) ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค (Product Champion) ในแต่ละทำเลย่อยของแนวรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เช่น หากเป็นทำเลตลิ่งชัน-ศิริราช ควรเลือกพัฒนาคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท หรือบ้านจัดสรรราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่ทำเลดินแดง-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ควรพิจารณาพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับกลางราคา 3-5 ล้านบาท และ 5-10 ล้านบาท แต่หากเป็นทำเลราชเทวี-ราชปรารภ ควรพิจารณาพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับบนที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไป
ทั้งนี้ นายกณิศ กล่าวว่า สำหรับในช่วงปี 2568 ที่ทางรัฐบาลจะต้องมีส่วนช่วยเข้ามากระตุ้นการซื้อขายของอสังหาริมทรัพย์ หรือ ไม่นั้น ตนมองว่า ขณะนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงพิจารณากันอยู่ ว่าทางรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการซื้ออสังหาฯ เพิ่มขึ้นไหม และ จากที่ติดตามข่าวสารมา สิ่งที่ทางภาคอสังหาฯเสนอรัฐบาลคือ การผ่อนเกณฑ์อัตราส่วนการให้สินเชื่อซื้อบ้านโดยเทียบกับมูลค่า (LTV) และ อีกมาตรการคือ การลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ นอกเหนือจาก 2 มาตรการนี้ ตนคาดว่ารัฐบาลก็ยังคงมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ อื่นๆอีก อาทิเช่น การกระตุ้นการซื้ออสังหาฯของชาวต่างชาติ รวมถึง การลดขนาดที่ดินขั้นต่ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางอ้อม ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงการซื้ออสังหาฯ ได้มากขึ้น