ทองคำทั่วโลกพุ่งแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ ไทยบริโภคมากสุดในอาเซียน
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 จากสภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) ได้เผยว่า ความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง โดยพุ่งสูงขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นปริมาณ 14.5 ตัน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ขณะเดียวกันปริมาณความต้องการทั่วโลกก็ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีปริมาณความต้องการทองคำทั้งหมด [1] จากทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 1,313 ตัน นับเป็นปริมาณความต้องการโดยรวมของไตรมาสที่ 3 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และนับเป็นมูลค่าของความต้องการทองคำรวมสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการลงทุนที่แข็งแกร่งท่ามกลางสภาวะราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์
ด้านความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 364 ตัน เนื่องจากทิศทางความต้องการในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำได้เปลี่ยนไป ซึ่งโดยส่วนหลักแล้วเกิดขึ้นจากนักลงทุนฝั่งตะวันตก กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำขึ้นจำนวนรวม 95 ตัน ซึ่งถือเป็นไตรมาสแรกที่มีทิศทางเป็นบวกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เป็นต้นมา
แม้ว่าความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกได้ลดลง 9% แต่ความต้องการของประเทศไทยกลับสวนกับทิศทางในระดับโลกและเติบโตเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนอยู่ที่ 12.1 ตันสำหรับในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และนับเป็นประเทศที่มีความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกในปีนี้ยังคงอยู่ที่ระดับ 859 ตัน ซึ่งถือว่ายังคงเป็นระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีซึ่งอยู่ที่ปริมาณ 774 ตัน
นายเซาไก ฟาน หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ความต้องการทองคำผู้บริโภคในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการประกาศเริ่มโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่รอคอยกันมานาน ซึ่งได้รวมการแจกเงินรูปแบบของเงินสดที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น รัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำในไตรมาสที่ 4 ได้
นายเซาไกกล่าวว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นได้กระตุ้นความต้องการทองคำของนักลงทุนในประเทศในกลุ่มอาเซียนในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา โดยทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างก็มีการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยซึ่งความต้องการทองคำผู้บริโภคยังคงมีการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกันถึงสองไตรมาส ในส่วนของธนาคารกลาง ได้มีการซื้อทองคำชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามระดับความต้องการยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ปริมาณ 186 ตัน โดยยอดความต้องการทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีจนถึงปัจจุบันรวมกันอยู่ที่ระดับ 694 ตัน สอดคล้องกับระดับปริมาณในช่วงเดียวกันของปี 2565
ราคาทองคำยังคงพุ่งสูงต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสนี้ โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,474 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อระดับความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลก และทำให้การบริโภคทองคำเครื่องประดับลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าหากพิจารณาในแง่ของปริมาณทองคำ แต่หากมองในเชิงมูลค่ากลับพบว่ามีการเติบโต 13% สิ่งนี้อาจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัฒฑ์ทองคำในปริมาณที่น้อยลง
นอกจากนี้ ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีได้เติบโต 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเนื่องจากการเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ยังคงสนับสนุนความต้องการทองคำอย่างต่อเนื่อง
ด้านอุปทานทองคำในไตรมาสนี้มีปริมาณรวมทั้งหมดสูงขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากการเติบโตของการผลิตทองคำเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น 6% และปริมาณการรีไซเคิลทองคำที่สูงขึ้น 11% [2]
นายหลุยส์ สตรีท นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ไตรมาสที่ 3 มีการลงทุนและกิจกรรมการซื้อขายนอกตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งได้ช่วยหนุนความต้องการทองคำทั่วโลกและผลักดันผลประกอบการของราคาทองคำ แม้ว่าราคาที่สูงขึ้นนี้ได้ทำให้ความต้องการในตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ลดลง แต่การลดภาษีนำเข้าในอินเดียก็ได้ทำให้ความต้องการทองคำเครื่องประดับรวมถึงทองคำแท่งและเหรียญทองคำยังคงอยู่ในระดับสูงได้อย่างน่าทึ่ง ท่ามกลางสภาวะราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์
“ปัจจัยของความกลัวว่าจะพลาดโอกาส ในหมู่นักลงทุนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้ปริมาณความต้องการทองคำสูงขึ้นในไตรมาสนี้ นักลงทุนได้แสดงความสนใจซื้อทองคำ เนื่องจากแนวโน้มด้านราคาและสนับสนุนด้วยแนวโน้มของการลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้มองบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐ และความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง
ในอนาคตข้างหน้า เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงในกระแสการลงทุนทองคำยังคงเป็นแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งสิ่งนี้อาจช่วยรักษาปริมาณความต้องการทองคำและระดับราคาให้อยู่ในระดับสูง แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นราคาทองคำพุ่งทำสถิติใหม่มาแล้วมากกว่า 30 ครั้ง ในปี 2567 ซึ่งสภาวะนี้จะยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ดี โอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราจะจับตามองเพราะอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทิศทางของทองคำได้” นายหลุยส์ระบุ