คลี่ผลงานอนุมัติ ‘ใบรง.4’ ทะลุ3.2แสนล้าน จับตาปี’68 ‘เพิ่มแต้มต่อ-แบล๊กลิสต์’
แม้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังอ่อนแรง สะท้อนจากจีดีพีโลกคาดการณ์ระดับ 3.2% ขณะที่ประเทศจีดีพีคาดอยู่ระดับ 2.6%
แต่ภาพรวมการลงทุนไทยปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยมาจากกระแสการย้ายฐานผลิต ทำให้ไทยคือตัวเลือกสำคัญจากความพร้อมทั้งทำเลที่ตั้ง และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล่าสุดการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังทำให้บางฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจทำให้การลงทุนปี 2568 คึกคักยิ่งขึ้น
ส่องตัวเลขลงทุนล่าสุดจากหน่วยงานหลักอย่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุ ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี
สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอ ได้ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ จำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักงานอีอีซี รายงานผลการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ช่วง 10 เดือนของปีนี้ ของนักลงทุนต่างชาติ 251 ราย เพิ่มขึ้น 128% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146%
ด้าน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุ ปีงบประมาณ 2567 กนอ.สามารถสร้างยอดขาย/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสูงถึง 6,200 ไร่ ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนศักยภาพการลงทุนไทยที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก
ล่าสุดสำรวจตัวเลขจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ถึงผลการอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 ทั้งตั้งใหม่และขยายโรงงาน ช่วง 10 เดือนของปีนี้คึกคักไม่แพ้กัน
โดย พรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้ข้อมูลว่า ผลการอนุมัติใบอนุญาต รง.4 ทั้งตั้งใหม่และขยายโรงงาน ข้อมูลล่าสุดช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 คือ มกราคม-ตุลาคม พบว่า จำนวนโรงงานขอรับใบอนุญาตและขยายโรงงาน อยู่ที่ 2,294 โรงงาน เพิ่มขึ้น 27 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้น 1.19% เมื่อเทียบกับปีก่อน
เงินลงทุนจากการตั้งและขยายโรงงาน 321,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,607 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.76% ส่งผลให้เกิดการจ้างงานใหม่จากการตั้งและขยายโรงงาน 93,747 คน เพิ่มขึ้น 12,693 ตำแหน่ง หรือเพิ่มขึ้น 15.66%
ธุรกิจตั้งใหม่ 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ขณะที่ธุรกิจขยายกิจการ 5 อันดับแรก คือ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์จากพืช และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
พรยศระบุด้วยว่า ประเมินการอนุมัติ รง.4 ช่วงสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง จากตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 10 เดือนของปีนี้ สอดคล้องกับตัวเลขการลงทุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่สะท้อนว่าการลงทุนไทยเติบโต อานิสงส์หลักจากการย้ายฐานผลิต ส่วนจะมูลค่าเท่าไหร่ต้องติดตามอีกครั้ง
สำหรับผลการได้ผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่อาจเป็นโอกาสลงทุนไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรอ.เร่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับกลุ่มไม่ดี ไม่ให้กระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
เกาะติดแนวทางบังคับใช้กฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าปี 2568 จะมีความน่าสนใจอย่างมาก หลัง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกโรงงานที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และเอาผิดโรงงานที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างถึงที่สุด
พรยศ ระบุถึงนโยบายดังกล่าวว่า กรอ. เดินหน้าปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดขั้นตอนให้สั้นลง ลดระยะเวลา และออกใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่ดี โดย กรอ.ได้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในการออกใบอนุญาต รง.4 และการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมบางประเภท
เช่น โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการหลอมหล่อตะกรัน หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ซึ่งเป็นโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาเอกสารประกอบการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบรัดกุม มีความปลอดภัย เป็นไปตามหลักวิชาการทุกกระบวนการ
ขณะเดียวกันได้ยกระดับปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตโรงงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการจัดทำบัญชี แบล๊กลิสต์ ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดี จะนำไปสู่การปฏิรูปยกระดับการพิจารณาตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
“ผมจะไม่ยอมให้โรงงานไม่ดี ลักลอบประกอบกิจการโรงงาน เพื่อดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยการทำงานทั้งหมดจะอยู่ภายใต้กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบกำกับอย่างโปร่งใส ตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน” พรยศเน้นย้ำ