มาตรการรัฐดันเชื่อมั่นอุตฯธ.ค.พุ่งสูงสุดรอบ9 เดือน-แนะรัฐหามาตรการยั่งยืนช่วยยาง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2558 ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ความเชื่อมั่นดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ระดับ 87.5 จากเดือนพฤศจิกายน 2558 ระดับ 85.8 และความเชื่อมั่นเดือนธันวาคม ยังถือว่าสูงสุดในรอบ 9 เดือน หลังจากเดือนมีนาคม 2558 ดัชนีเคยขึ้นไปถึง 87.7 สาเหตุหลักมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คือ การจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายผ่านการลดภาษี และกิจกรรมของเอกชนอย่างการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงต่อเนื่อง จนส่งผลดีต่อต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการ
นายสุพันธุ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามคือ ความเชื่อมั่นอนาคต หรือความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งอยู่ระดับ 102.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายนซึ่งอยู่ระดับ 104.4 เพราะผู้ประกอบการกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่อาจลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งการใช้จ่ายช่วงปลายปี 2558 โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะชะลอตัว คือ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องประดับ นอกจากนี้ผลจากปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ความกังวลต่อภัยการก่อการร้ายในหลายประเทศ รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ที่แม้ไม่กระทบไทยโดยตรง แต่ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นเบอร์ต้นของโลก ทำให้ไทยโดยกระทบทางอ้อม ทั้งนี้เชื่อว่าด้วยการปกครองของจีนจะทำให้สามารถปรับมาดีขึ้นได้
นายสุพันธุ์กล่าวว่า สำหรับความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม รายขนาด รายภูมิภาค และตามสัดส่วนการส่งออกนั้น พบว่า มีทิศทางเดียวกันกับดัชนีรวม โดยความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ดีขึ้นเป็นระดับ 79.7 จาก 78.2 และความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนลดลงเหลือระดับ 99.2 จากระดับ 101.3 อุตสาหกรรมขนาดกลาง ความเชื่อมั่นดีขึ้นเป็น 95.6 เพิ่มขึ้นจาก 84.1 ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนลดลงเหลือระดับ 100.6 จาก 104.5 และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ความเชื่อมั่นดีขึ้นเป็น 95.6 จาก 94.2 ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนระดับ 108.6 เพิ่มขึ้นจาก 106.8 ด้านความเชื่อมั่นตามสัดส่วนการขาย พบว่า กลุ่มที่เน้นขายในประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 85.4 จาก 84.9 ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ระดับ 102.3 จาก 103.6 และกลุ่มที่เน้นส่งออก ระดับ 98 เพิ่มขึ้นจาก 90.6 ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ระดับ 104.7 จาก 108
นายสุพันธุ์กล่าวว่า ส่วนความเชื่อมั่นรายภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ ระดับ 88.4 เพิ่มขึ้นจาก 87.8 อุตสาหกรรมที่โดดเด่น คือ เซรามิก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือน ระดับ 101.4 ลดลงจาก 107.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหรือ หรืออีสาน ระดับ 85 จาก 77.4 อุตสาหกรรที่โดดเด่น คือ ปูนซิเมนต์ แกรนิตและหินอ่อน หัตถอุตสาหกรรม ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือน ระดับ 95.2 ลดลงจาก 107.4 ภาคใต้ ระดับ 85 เพิ่มขึ้นจาก 83.3 อุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ น้ำมันปาล์ม ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น โรงเลื่อยและโรงอบไม้ แต่ภาคใต้ก็มีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางที่ลดลง จากราคายางที่ตกต่ำ แต่ภาพรวมของทุกอุตสาหกรรมยังถือว่าระดับดี ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนระดับ 100.5 ลดลงจาก 102.1 ภาคตะวันออก ระดับ 88.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86 ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนระดับ 103.5 ลดลงจาก 106.5 และภาคกลาง ระดับ 88.7 เพิ่มขึ้นจาก 88.5 อุตสาหกรรมที่โดดเด่น คือ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนดีขึ้นเพียงภาคเดียว ระดับ 105.9 จาก 104.7
“ผลสำรวจผู้ประกอบการชี้ชัดว่า ต้องการให้รัฐบาลดูแลปัญหาราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ เพื่อสร้างกำลังซื้อให้ภาคเกษตร ซึ่งมาตรการรับซื้อโดยตรงที่ออกมาเบื้องต้นทำให้ราคายางพาราในท้องตลาดปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นมาตรการระยะสั้นที่ดี แต่ไม่ควรใช้บ่อย เพราะการใช้สนับสนุนให้เกษตรกรมีเทคโนโลยี ลดต้นทุนจะดีในระยะยาวมากกว่า นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย”นายสุพันธุ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image