รบ.เปิดเกมรุก รีดสารพัดภาษีเข้าคลัง ปฏิเสธถังแตก! แค่อุดรูรั่ว

สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ขอให้คนไทยเสียสละ ถ้าต้องการให้รัฐช่วย ต้องเสียสละช่วยจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ขณะนี้

มีอัตราจัดเก็บ 7% จากเพดาน 10% หากเพิ่มแวต 1% เป็น 8% จะทำให้ประเทศมีรายได้ถึง 1 แสนล้าน

โยนหินขึ้นแวตสะเทือนทุกวงการ

ไม่ทันข้ามวันเกิดกระแสตีกลับคำพูดนายกฯมากมาย ทั้งรัฐบาลถังแตก ขึ้นภาษีเพื่อเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำ ขึ้นภาษีซ้ำเติมประชาชน เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในแง่ลบมากกว่าแง่บวก แม้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า แวตไม่ขึ้น และคลังเตรียมเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อต่ออายุแวต 7% ไปอีก 1 ปี ก็ไม่มีใครเชื่อ

วันต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาพูดเรื่องแวตอีกครั้งว่า เป็นแค่การเปรียบเปรยให้เห็นถึงรายได้รายจ่ายของรัฐบาลว่าขณะนี้รายจ่ายมีมาก และมีการเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือตลอดเวลา ในขณะที่รายได้หรือเงินในกระเป๋ามีอยู่อย่างจำกัด จึงคงช่วยไม่ได้ตามที่ขอมาทั้งหมด

แวตถือเป็นภาษีใหญ่สุดที่เก็บในไทย ในปีงบประมาณ 2559 มียอดจัดเก็บกว่า 7 แสนล้านบาท แวตเกี่ยวข้องกับสินค้า และบริการเกือบทุกประเภทในไทย ดังนั้นการขึ้นแวตจึงถือว่าเป็นเรื่องสั่นสะเทือนคนทุกวงการ ตั้งแต่นายห้างใหญ่จนถึงประชาชนคนจน รวมถึงสร้างความสะเทือนต่ออนาคตของรัฐบาล จึงทำให้คนในรัฐบาลออกมาพูดย้ำแล้วย้ำอีกหลายรอบในหลายวันว่าไม่ขึ้นแน่นอน

Advertisement

ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ไทยนำแวตมาใช้ มีการปรับขึ้นแวตเพียงช่วงสั้นๆ เพียงปีกว่าๆ ตามข้อเสนอกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อปี 2440 ขึ้นไปเก็บเต็มเพดาน 10% จากเคยเก็บ 7% หลังจากนั้นในปี 2542 ลดมาเก็บ 7% เท่าเดิม ตลอดระยะเวลา 18 ปี

ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าที่จะขึ้นแวตอีกเลย เพราะแตะเรื่องนี้เมื่อไหร่ ถูกโจมตีทันที

สั่งกรมภาษีทำแผนรีดรายได้

ช่วงเวลาที่นายกฯโยนหินถามทางขอขึ้นแวต เหมาะเจาะพอดีกับที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งให้ 3 กรมภาษี คือ สรรพากร ศุลกากร และสรรพสามิต จัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี แผนที่สร้างความฮือฮาเปิดเผยมาจากกรมสรรพากร คือ การไปเก็บภาษีจากร้านค้ากลางคืน เช่น ผับ บาร์ อาบอบนวด เพราะพบว่าร้านค้ากลางคืนยังไม่มาเสียภาษีอีกมาก เช่น ร้านขายโจ๊กเจ้าดังมียอดขายปีละกว่า 30 ล้านบาท คนขายรวยขนาดขับบีเอ็มไปขายโจ๊ก แต่การเสียภาษียังไม่ถูกต้องนัก

นายสมชัยกล่าวว่า ขณะนี้แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีส่งมาถึงมือแล้ว แต่ยังต้องปรับแก้นิดหน่อย โดยยืนยันว่าการเพิ่มประสิทธิภาพไม่ใช่เพราะรัฐบาลถังแตก แต่เป็นปรับการทำงานของ 3 กรมภาษีใหม่ ให้ไปดูว่าอะไรที่ยังเป็นช่องโหว่ มีรอยรั่วในการเก็บภาษี จะเพิ่มเติมตรงไหนได้บ้าง โดยเตรียมนำแผนดังกล่าวมาใช้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ (เมษายน-กันยายน 2560)

นายสมชัยยืนยันว่า แผนเพิ่มประสิทธิภาพภาษี ไม่มีขึ้นแวต ไม่เพิ่มอัตราภาษีเดิม และไม่มีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ โดยยังใช้แนวทางการจัดเก็บภาษีเดิม อัตราเดิม แต่ปรับวิธีการทำงานใหม่ เช่น นำไอทีเข้ามาช่วย ทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษีเพื่อให้เข้ามาในระบบภาษีให้มากขึ้น ตรงไหนขาด ตรงไหนมีรอยโหว่ ก็ให้ไปอุดไว้

รีดภาษีหลุดเป้าต่อเนื่อง3ปี

การสั่งเพิ่มประสิทธิภาพกรมภาษีน่าจะเชื่อมโยงกับตัวเลขการจัดเก็บภาษี 3 ปีงบประมาณที่ผ่านมา พบว่าต่ำกว่าเป้าหมายทุกปี ในปีงบ 2557 ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.64 แสนล้านบาท ปีงบ 2558 ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.25 แสนล้านบาท ในปีงบ 2559 ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.24 แสนล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนแรกปีงบ 2560 (ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560) กรมภาษีจัดรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีหลุดเป้าเกิดจากประเมินภาษีไว้สูงเกินจริง เช่น ภาษีปิโตรเลียมจัดเก็บต่ำมาก เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำกว่าที่คาดการณ์ จากเคยสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บางปีลดต่ำ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังไม่โตเท่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 4% แต่ในช่วงที่ผ่านมาโตเฉลี่ย 1-2% เท่านั้น แม้ภาษีจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ถ้าดูจัดเก็บจริงเทียบพบว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบทุกปี ในปีงบ 2558 การจัดเก็บของกรมภาษีสูงกว่าเป้า 5.3 หมื่นล้าน ในปีงบ 2559 สูงกว่าเป้า 1.03 แสนล้านบาท

นายกฤษฎายอมรับว่า การจัดเก็บรายได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีรายการพิเศษ เช่น รายได้จากการประมูล 4 จี รายได้จากการประมูลทีวีดิจิทัล การนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจ กองทุนนอกงบประมาณที่สูงขึ้น ทำให้การจัดรายได้ในภาพรวมไม่ต่ำเป้าเท่ากับการจัดเก็บของกรมภาษี

การจัดเก็บกรมภาษียังไม่ได้สร้างปัญหาช่วงที่ผ่านมา เพราะการเบิกจ่ายยังทำไม่ได้เต็มที่ ภาพรวมการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ในปีนี้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายตั้งเป้าหมายไม่น้อยกว่า 96% ของงบประมาณรายจ่ายรวม ประกอบกับปีนี้ไม่ได้มีรายการพิเศษรายได้มาเสริม ทำให้กระทรวงการคลังต้องหันมาดูการจัดเก็บภาษี

อย่างน้อยแผนที่เสนอมาต้องทำให้การจัดเก็บรายได้กรมภาษีปีนี้เท่ากับเป้าหมายที่วางไว้

เปิดแผนเพิ่มประสิทธิภาพรายกรม

เมื่อถามไปยังกรมภาษีถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพที่ส่งไปยังมือปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ผลการจัดเก็บภาษีของกรม 4 เดือนแรกปีงบต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 2,000 ล้านบาท มั่นใจว่าแผนของกรมจะช่วยเพิ่มการจัดเก็บรายได้ 5-10% จากเป้าหมายภาพรวม 5.5 แสนล้านบาท โดยมี 2 ส่วน คือ 1.สินค้าทั่วไปต้องเข้มงวดการจัดเก็บ เพื่อป้องกันการรั่วไหล 2.บริการ เช่น การจัดเก็บสนามม้า สนามกอล์ฟ และสถานบริการ กรมจับมือกับกรมสรรพากรในการสุ่มตรวจ

นายสมชายยืนยันว่า กรมสรรพสามิตไม่ได้เสนอให้ขึ้นภาษี หรือเก็บภาษีตัวใหม่ เพราะการเก็บภาษีใหม่ๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล โดยภาษีที่อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น ภาษีด้านสิ่งแวดล้อม ภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานสูง

ด้าน นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า แผนเพิ่มประสิทธิภาพของกรมจะเน้นในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง เช่น กลุ่มร้านกลางคืน ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ กลุ่มอาบอบนวด กลุ่มธุรกิจร้านค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ซึ่งในเดือนมีนาคม กรมได้ติดตั้งโปรแกรม เพื่อดูว่าร้านค้าแห่งใดมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก จะส่งเจ้าหน้าที่ไปขอซื้อสินค้า ในลักษณะเดียวกับร้านค้ากลางคืนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสั่งอาหาร หลังจากนั้นดูว่ามีการออกใบเสร็จและใบกำกับภาษีอย่างไรบ้าง โดยภาษีจัดเก็บมีทั้งแวต ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล

นายประสงค์กล่าวว่า ในระยะแรกที่เข้าไปจัดเก็บภาษี คงไม่ต้องถึงขนาดไปนับขวดนับชาม แต่จะเข้าไปแนะนำถึงการเสียภาษีที่ถูกต้อง ก่อนหน้านี้กรมเคยดำเนินการกลุ่มร้านค้าทองคำ โดยเข้าไปแนะนำให้เปลี่ยนการเสียภาษีในลักษณะบุคคลธรรมดามาเป็นภาษีแบบนิติบุคคล จากร้านค้าทอง 7 พันแห่ง เปลี่ยนมาเป็นนิติบุคคลแล้วกว่า 5 พันแห่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การเก็บแวตจากร้านทองเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากที่เคยเก็บอยู่เดือนละ 2.8 ล้านบาท เพิ่มเป็น 28 ล้านบาท

นายประสงค์ยืนยันว่า แผนของกรมสรรพากรคงไม่เน้นเพิ่มรายได้ แต่จะทำให้การจัดเก็บในปีงบ 2560 เป็นไปตามเป้าหมาย 1.867 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกปีงบ 2560 (ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560) ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 6,000 ล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรม จะเน้นเรื่องการสำแดงภาษีนำเข้า กรมจะเข้มงวดมากขึ้น นำไอทีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมในช่วง 4 เดือนแรกปีงบต่ำกว่าเป้าหมาย 6 พันล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้า จัดเก็บภาษีไม่ได้ เพราะมีการใช้สิทธิลดภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรีจำนวนมาก โดยเฉพาะรถยนต์นำเข้าตามกรอบการค้าในปีนี้จำนวนมาก ทั้งนี้กรมพยายามจัดเก็บในปีงบนี้ตามแผนที่วางไว้ 1.25 แสนล้านบาท

อีก 6 เดือนที่เหลือปีงบประมาณ คงต้องลุ้นกันอย่างระทึก ดูจากการจัดเก็บ 3 กรมภาษียังหลุดเป้า แม้ผู้บริการกระทรวงการคลังประสานเสียงว่าไม่ขึ้นภาษี ยังไม่เสนอการเก็บภาษีใหม่ๆ แต่วางใจไม่ได้ นั่นเพราะเรื่องภาษีถือเป็นความลับ หากขึ้นจะประกาศทันที ตรงข้ามกับลด จะป่าวประกาศให้รู้ก่อนล่วงหน้า!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image