คลังลงนาม7แบงก์ติดตั้งเครื่องอีดีซี ลุยอีเพย์เมนต์ระยะ 2-จับแจกรางวัลเดือนละ 7 ล้านเริ่ม มิ.ย.นี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงให้บริการวางอุปกรณ์ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวางระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนชั่นแนล อีเพย์เมนต์) ว่าลงนามกับ 7 ธนาคาร เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) นั้นถือเป็นโครงการอีเพย์เมนต์ระยะ 2 หลังจากเริ่มระยะแรกในระบบพร้อมเพย์ โดยการติดตั้งเครื่องอีดีซี เริ่มในเดือนมีนาคมนี้ รวม 5.6 แสนเครื่อง แบ่งเป็นการติดตั้งในส่วนราชการ 1.8 หมื่นเครื่อง ที่เหลือติดตั้งตามร้านค้าทั่วไป โดยลดค่าธรรมเนียมในการรูดบัตรธนาคารเก็บจากร้านค้าเหลือเพียง 0.55% ถือว่าถูกที่สุดในโลก จากปกติในการรูดบัตรร้านค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร 1.5-2.5%

“เตรียมออกระเบียบเพื่อให้การจ่ายเงินรัฐต้องดำเนินการผ่านระบบอีเพย์เมนต์เท่านั้น ซึ่งการติดตั้งเครื่องสำหรับส่วนราชการแล้วเสร็จสิ้นปี คาดว่าเริ่มจ่ายเงินได้ในช่วงปลายปี ส่วนการรับเงินของส่วนราชการพยายามผ่านระบบอีเพย์เมนต์เช่นกัน เพื่อลดการทุจริต และรั่วไหลของเงิน โดยเฉพาะในส่วนของการจ่ายเบี้ยปรับต่างๆ ดำเนินการผ่านอีเพย์เมนต์ช่วงสิ้นปีเช่นกัน” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนกระตุ้นการใช้บัตรและชำระเงินด้วยเครื่องอีดีซี โดยจัดแคมเปญแจกรางวัล ให้ผู้ใช้และร้านค้ามีสิทธิลุ้นโชคจากการชำระเงินผ่านเครื่องอีดีซี และตู้เอทีเอ็ม เป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เป็นรางวัลมูลค่าเดือนละ 7 ล้านบาท รวมมูลค่ารางวัลเป็นเงิน 84 ล้านบาท รางวัลสูงสุดคือรับวงเงินเพื่อใช้จ่าย 1 ล้านบาท

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการคัดเลือกผู้มีสิทธิให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ชนะ 2 ราย คือกลุ่ม Consortium ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต และกลุ่มกิจการค้าร่วมโครงการอีเพย์เมนต์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ยื่นข้อเสนอสำคัญ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและร้านค้า เช่น ลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรเดบิตจาก 1.5-2.5% ของมูลค่าเงินที่ชำระ เป็นไม่เกิน 0.55% และไม่เก็บค่าเช่าและค่าติดตั้งอุปกรณ์ฯ โดยอาจเก็บค่ามัดจำเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย ซึ่งร้านค้าจะได้คืนเมื่อยกเลิกการใช้บริการ

Advertisement

นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือร้านค้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ โดยให้ร้านค้าสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการรับบัตร (MDR) ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ จะช่วยลดภาระของร้านค้าในการรับบัตรได้มาก ภายหลังพิธีลงนามตามข้อตกลงไปแล้ว ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย จะเริ่มทยอยวางอุปกรณ์ฯ ทันที โดยวางเป้าหมายแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image