‘บิ๊กฉัตร’ลงประจวบฯตรวจสอบหนอนหัวดำในมะพร้าวระบาด-ส่ออาจรุนแรงขึ้นเหตุเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดเผยในระหว่างลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหนอนหัวดำในมะพร้าวที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า จากพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ 1,240,874 ไร่ ใน 55 จังหวัด พบการระบาดของหนอนหัวดำ 28 จังหวัด พื้นที่รวม 78,954 ไร่ หรือคิดเป็นเพียง 6% ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ โดยจำแนกการระบาดตามความรุนแรง ได้แก่ ระบาดมาก 55,077 ไร่ คิดเป็น 4% ระบาดน้อย 23,877 ไร่ คิดเป็น 2% ไม่พบการระบาด 1,161,920 ไร่ 94% พื้นที่ระบาดมาก 5 อันดับ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 62,410 ไร่ สุราษฎร์ธานี 5,536 ไร่ ชลบุรี 4,024 ไร่ สมุทรสาคร 2,669 ไร่ ฉะเชิงเทรา 953 ไร่ โดย จ.ประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ปลูก 457,285 ไร่ พบการระบาดของหนอนหัวดำทุกอำเภอ ใน 8 อำเภอ รวมพื้นที่ 62,410 ไร่ หรือประมาณ 14% จำแนกการระบาดตามความรุนแรง แบ่งเป็นระบาดมาก 48,189 ไร่ คิดเป็น 11% ระบาดน้อย 14,221 ไร่ คิดเป็น 3% ไม่พบการระบาด 394,875 ไร่ คิดเป็น 86%

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ขณะที่แนวโน้มสถานการณ์การระบาด จากยังคงพบการทำลายของหนอนหัวดำ และคาดว่าการระบาดจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของหนอนหัวดำ ประกอบกับการขาดการดูแลสวนมะพร้าว ทำให้กลายเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ของหนอนหัวดำ เกษตรกรบางส่วนใช้สารเคมีไม่ถูกต้องตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว จะต้องเร่งตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายและนำมาเผา พ่นด้วยเชื้อบีที ปล่อยแตนเบียน พ่นสารเคมีทางใบ ฉีดสารเคมีเข้าต้นเฝ้าระวัง/สำรวจ ส่วนมาตรการสนับสนุนมาตรการการป้องกันไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ในพื้นที่เดิม ต้องมีการสำรวจและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มาตรการการควบคุมการขนย้ายผลมะพร้าว เพื่อป้องกันการระบาดข้ามพื้นที่ มาตรการกักกันมะพร้าวบริเวณด่านตรวจพืชและจุดผ่านแดน มาตรการปลูกทดแทนสวนมะพร้าวที่มีอายุมาก ดังนั้น การยับยั้งการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่ต้องสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น ในการดูแล ควบคุมและจัดการศัตรูพืช โดยทำอย่างต่อเนื่อง

“หนอนหัวดำเป็นแมลงต่างถิ่นที่ติดมากับพันธุ์ปาล์มที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่สามารถขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำในพื้นที่ของตนเอง ทำให้เกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ดังนั้นวิธีการดำเนินงานควบคุมการระบาดในปัจจุบัน นอกจากการถ่ายทอดความรู้ และให้แนะนำเรื่องการป้องกันและกำจัดศัตรูมะพร้าวแก่เกษตรกร ตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายและนำมาเผา พ่นด้วยเชื้อบีที ปล่อยแตนเบียน พ่นสารเคมีทางใบ ฉีดสารเคมีเข้าต้นแล้ว กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการเฝ้าระวัง/สำรวจ ปล่อยแตนเบียนภายใต้การดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) โดยได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตร งบพัฒนาจังหวัด งบองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร emamectin benzoate สำหรับมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image