ส่องกลยุทธ์ ‘Triple P’ เอ็กโก กรุ๊ป ปี’68-70… มุ่งเติบโตยั่งยืน

Triple P

ในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสมดุลด้านการเติบโตทางธุรกิจและผลประกอบการ รวมทั้งการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน คือ ความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานในปัจจุบัน

ดังนั้น เราจึงเห็นการปรับตัว และความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโกกรุ๊ป ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในแวดวงพลังงานไทย ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายแรกของประเทศ จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องมากว่า 32 ปี เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่ประกาศความพร้อมในการเติบโตให้สอดรับกับยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมาโดยตลอด

ล่าสุดเอ็กโก กรุ๊ป ประกาศกลยุทธ์ “Triple P” สำหรับการดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี ต่อจากนี้

ADVERTISMENT

นั่นคือ ปี 2568-2570 โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างยั่งยืน การบรรลุเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป ให้ข้อมูลถึงกลยุทธ์ “Triple P” ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ดังนี้

ADVERTISMENT

1.Profitability and Performance Energizing เพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อดูแลอัตราส่วนหนี้สินและรักษาอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ถือหุ้น ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

2.Power and Energy-related Focus เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักและรากฐานความแข็งแกร่งของเอ็กโก กรุ๊ป ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผ่านการลงทุนทั้งรูปแบบการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และโครงการหรือการลงทุนที่เริ่มต้นจากศูนย์ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนาใดๆ มาก่อน (Greenfield) ตลอดจนแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยต่อยอดการลงทุนในประเทศที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว8 ประเทศ

3.Portfolio and People Management บริหารจัดการพอร์ตการลงทุนและทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นสร้างความเป็นเลิศในกระบวนการดำเนินงาน (Operational Excellence) ให้ความสำคัญกับการบริหารสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์เพื่อนำรายได้ไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ที่จะสร้างการเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว (Asset Recycling) พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระดับสากล ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในกระบวนการต่างๆ เพื่อรองรับโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต

เมื่อลองสำรวจพอร์ตโฟลิโอของเอ็กโก กรุ๊ป ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) พบว่า บริษัทได้ขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องไปใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

สำหรับธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท มีโรงไฟฟ้าอยู่กว่า 40 แห่ง กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้นกว่า 7,000 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) มีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 1,463 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด

ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่

ด้านธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง เอ็กโก กรุ๊ป มีทั้งธุรกิจเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำที่สำคัญ ได้แก่ บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค “CDI” ในอินโดนีเซีย ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “TPN” และโครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง “ERIE”

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจ Customer Solutions and Starup ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำ อาทิ บริษัท เอ็กโกเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด “ESCO” ให้บริการงานเดินเครื่อง บำรุงรักษา และวิศวกรรม แก่โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “Innopower” และบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน “Peer Power” เป็นต้น

โดยทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 ของเอ็กโก กรุ๊ป จะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยต่อยอดใน 8 ประเทศที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว ด้วยการตั้งงบลงทุน 30,000 ล้านบาท

เอ็กโก กรุ๊ป ยังยืนยันถึงโอกาสการเติบโตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทรุกลงทุนมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานของสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ก็ยังมีโอกาสการลงทุนอีกมหาศาล และได้รับแรงสนับสนุนจากเทรนด์การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก

จิราพร ยังเชื่อมั่นว่า กลยุทธ์ “Triple P” จะตอบโจทย์การเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างโอกาสทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการบรรลุเป้าหมายเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ทั้ง 3 ระยะ

ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2583 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2593 จะบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image