คิดเห็นแชร์ : สกลนคร สู่การสะกดก้าวใหม่ของคำว่าการเรียนรู้และนวัตกรรมเพื่อชุมชน

คิดเห็นแชร์ : สกลนคร สู่การสะกดก้าวใหม่ของคำว่าการเรียนรู้และนวัตกรรมเพื่อชุมชน

“สกลนคร” ไม่ใช่แค่เมืองแห่งธรรมชาติ และวัฒนธรรม แต่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นและความ
หลากหลาย

เฉกเช่นที่ อำเภอเต่างอย ไม่ได้มีดีแค่บทเพลงที่ไพเราะ แต่ยังมีพื้นที่การเรียนรู้ในมิติใหม่ของการพัฒนาและสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนท้องถิ่นผ่านกิจกรรมที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ ที่เรียกว่า Tech Camp ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมาผมและทีม OKMD ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการ Tech Camp ได้เห็นถึงการผสมผสานของนวัตกรรมด้านการศึกษา เกษตรกรรม และเทคโนโลยี ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ จาก Gen Z ในการคิดค้นนวัตกรรมเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ถึงการพัฒนากำลังคนได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการเตรียมเยาวชนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruptive technology โครงการ Tech Camp ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ ได้สัมผัสและลงมือทำจริง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เปิดโอกาสทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์และการลงมือทำ ซึ่งกิจกรรม Tech Camp ตั้งอยู่ ณ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านนางอย-โพนปาโหล และโรงเรียนใกล้เคียงในพื้นที่ เช่น โรงเรียนบ้านกวนบุ่น และโรงเรียนบ้านนางอย ผมก็เลยจะมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่ากิจกรรม Tech Camp สาระดีๆ มีอะไรบ้าง

1.Horticulture Space Make “seeding house” การผสานระหว่างเกษตรกรรมและจินตนาการเด็ก

ADVERTISMENT

ภายใต้คำถามสำคัญ ทำอย่างไรให้เกษตรกรรมกลายเป็นเรื่องสนุกและทันสมัยสำหรับเด็ก? กิจกรรมถูกออกแบบขึ้นโดยใช้แนวคิดของ “seeding house” ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงโรงเรือนสำหรับการเพาะต้นกล้า แต่เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตเกษตรกรรมดั้งเดิมเข้ากับวิถีชีวิตและความสนใจของเด็กยุคใหม่ เด็กๆ ในชุมชนได้รับบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างพื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่การออกแบบ การประกอบ ไปจนถึงการตกแต่ง

ช่วงต้นปี 2567 น้องๆ นักศึกษาจาก มจธ. ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ด้านพืชสวนจากประเทศญี่ปุ่นและชุมชนท้องถิ่นบ้านนางอย-โพนปลาโหล ภายใต้การดูแลของ ศาสตราจารย์ มิชิโกะ ทาคากากิ (Prof. MICHIKO TAKAGAKI) จากมหาวิทยาลัยชิบะ (Chiba University) ได้นำแนวคิดแบบผสมผสานความรู้ด้านพืชสวนเข้ากับทักษะการออกแบบ

เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร (Seeding House) ทำให้ต้นแบบโรงเรือนเพาะเมล็ดถูกพัฒนาขึ้นอย่างมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในการออกแบบและบริหารธุรกิจเกษตรของตนเอง โดยใช้โรงเรือนนี้เป็นที่รองรับกิจกรรมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

กิจกรรม Seeding House มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น ทักษะด้านการเป็น Makerspace ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นด้วยตนเอง การคิดวางแผน และการแก้ปัญหา เด็กยังได้เรียนรู้การดัดแปลงพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่า เช่น การใช้โรงเรือนนี้ในการจำหน่ายต้นกล้า โดยทดลองไลฟ์สดขายต้นกล้าออนไลน์ ซึ่งช่วยเสริมทักษะด้านการตลาดและการสื่อสารในโลกดิจิทัล การทำให้เกษตรกรรมกลายเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจ ช่วยให้เด็กๆ มีมุมมองที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับอาชีพและวัฒนธรรมการเกษตรแบบดั้งเดิม

2.Toy Make สร้างสรรค์รถไฟฟ้าบังคับวิทยุผ่านนวัตกรรม

ที่โรงเรียนบ้านกวนบุ่น เด็กๆ ได้ลองเรียนรู้ทักษะเชิงเทคนิคการแปลงของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ธรรมดา เช่น

การประกอบชิ้นส่วนรถ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ขับเคลื่อน ให้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงทักษะด้านสังคม เช่น การแก้ปัญหา และการสื่อสารผ่านกิจกรรมการศึกษาและการเล่นในรูปแบบที่สนุกสนาน ด้วยการใช้เครื่องมือที่ออกแบบโดยทีมพี่ๆ จาก FabLab Bangkok (Fabrication Laboratory Bangkok) นำมาให้เรียนรู้ที่มีทั้งความสนุกพร้อมสาระในเวลาเดียวกัน

กิจกรรมนี้เด็กๆ มีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผน การประดิษฐ์รถบังคับจากกลไกที่ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแขนและมือ ซึ่งใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและส่งสัญญาณไปยังตัวรถเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและหยุดได้ตามคำสั่งที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย เทคนิคนี้ทำให้รถบังคับธรรมดากลายเป็นรถบังคับที่มีความล้ำสมัยและสามารถเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ไปจนถึงการได้ทดลองขับเคลื่อนรถบังคับนี้ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพเด็กๆ ในพื้นที่ชนบทผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบ STEAM (Science, Technology, Engineering, Arts, and Mathematics) เพื่อส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์

3.Creative Playground Make “นางอย คอมเพล็กซ์”

การสร้างพื้นที่เล่นอิสระแบบ “ปลายเปิด” (Open-ended Play) ซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว แต่เปิดโอกาสให้เด็กๆ

ใช้จินตนาการสร้างสิ่งที่พวกเขาต้องการเอง ภายใต้แนวคิด “นางอย คอมเพล็กซ์ ขายของดีที่นางอย” กิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการออกแบบพื้นที่เล่น แต่ยังเชื่อมโยงการเล่นกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างง่ายผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน ณ โรงเรียนบ้านนางอย

พื้นที่เล่นที่สร้างขึ้นไม่เพียงแต่เป็นสนามเด็กเล่นหรือพื้นที่กิจกรรมทั่วไป แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ สามารถเล่นและเรียนรู้ได้ตามจินตนาการของตัวเอง ไม่มีกรอบหรือข้อจำกัดใดๆ ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าการเล่นต้องเป็นไปตามกฎที่กำหนด ทำให้เด็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงหรือออกแบบวิธีการเล่นใหม่ๆ ได้ตามความต้องการและไอเดียที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

การเล่นในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา แต่ยังช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การสื่อสารกับเพื่อนๆ รวมถึงการจัดการและวางแผนในการเล่นที่ให้ผลสำเร็จในที่สุด กิจกรรมนี้ เด็กๆ มีการนำวัสดุและอุปกรณ์ที่มีในโรงเรียนและจากสิ่งของเหลือใช้ในชุมชน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่พวกเขาคิดและจินตนาการขึ้นเอง

อีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญของ Creative Playground Make คือการสอดแทรกภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น ในกิจกรรมนี้ เด็กๆ ไม่เพียงแต่ได้เล่นสนุกและปลดปล่อยจินตนาการ แต่ยังได้เรียนรู้คำศัพท์และประโยคภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการเล่น โดยใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง เช่น การแนะนำตัวสินค้า การทำธุรกิจจำลอง

หรือการนำเสนอต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่อง

กิจกรรม Tech Camp นี้ผมต้องขอบคุณทีมงานเข้มแข็งจาก CIS (Center of Innovation for Society), FabLab Bangkok (Fabrication Laboratory Bangkok) และ Dips (The Design Innovation Practice School) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่เป็นตัวอย่างของการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้แบบลงมือทำ วิถีชุมชน และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงทำให้กิจกรรมนี้มีคุณค่า ไม่เพียงแต่ต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วม แต่ยังรวมถึงชุมชนที่ได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ หรือการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ จึงพร้อมสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป