‘ธุรกิจสีเขียว’ เครื่องมือกีดกันทางการค้าตัวใหม่

‘ธุรกิจสีเขียว’
เครื่องมือกีดกันทางการค้าตัวใหม่

ปี2568 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน จากนโยบาย อเมริกาต้องมาก่อน (America First) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ รวมถึง มิติด้านการเงิน ทิศทางดอกเบี้ยขาลง มิติทางสังคมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิต และภาคการบริโภค ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและการบริโภค ซึ่ง “เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” จะเป็นมิติใหม่ต่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกจากนี้ รวมถึงไทย

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

“ดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจสีเขียว เป็นทิศทางที่ทุกภาคธุรกิจต้องทำ เพราะสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันกระทบกับการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น และปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามีส่วนสนับสนุนให้การผลิต สามารถนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่ “ธุรกิจสีเขียว” เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น “เศรษฐกิจสีเขียว”

ตลาดสีเขียวกว่าแสนล้าน

ADVERTISMENT

จากการรายงานสำรวจผู้บริโภคปี 2567 โดย PwC บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการและการลงทุนระดับโลก พบว่า ผู้บริโภคทั่วโลก พร้อมจ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ (Green Products) แม้ต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปถึง 9.7% ส่วนผู้บริโภคชาวไทย พร้อมจ่ายในราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปถึง 12% แม้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดย 58% เลือกจะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ราคาสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในกระบวนการปกติ ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีบริหารความเสี่ยงระดับโลก อย่าง Swiss Re Institute ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก กระทบโดยตรงต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง รวมถึงไทย ในกรณีดีที่สุดคืออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส GDP ไทยมีแนวโน้มลดลง 4.9% กรณีเลวร้ายที่สุด คือ อุณหภูมิโลกเพิ่ม 3.2 องศาเซลเซียส GDP ไทยอาจลงถึง 43.6%

ดังนั้น การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2558 (COP21) ที่กรุงปารีส ประเทศสมาชิกรวม 197 ประเทศ รวมทั้งไทย ร่วมลงนามในสัตยาบัน เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อชะลอให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5% ในปี 2593 ขณะที่รัฐบาลไทยกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว โดยกำหนดให้ไทยมีค่าความเป็น กลางในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2593 และเป็นศูนย์ปี 2608

ADVERTISMENT

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาลไทยได้ร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำเรื่องของการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นแนวทางในการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับตัว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากจ่ายภาษีมาก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยเสียภาษีน้อย ซึ่งร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นประชาชน คาดนำมาใช้ปี 2568-2569 และก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับ International Finance Corporation (IFC) และ Climate Bonds Initiative (CBI) จัดทำ Thailand Taxonomy หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเศรษฐกิจสีเขียวในภาคสมัครใจ โดยนำกลไกทางการเงินเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) หุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) ที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ เพื่อให้กับภาคธุรกิจนำไปใช้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2566 โดยในระยะแรกเริ่มต้นที่ภาคธุรกิจพลังงานและการขนส่ง และปี 2568 จะขยายไปสู่ภาคการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และการจัดการของเสีย

รายงานล่าสุดของสมาคมธนาคารไทย พบว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินไทยปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว เฉพาะปี 2566 มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท สมาคมตราสารหนี้แห่งประเทศไทย รายงานว่า มีการออกตราสารสีเขียวงครึ่งแรกปีนี้ 137,777 ล้านบาท

เครื่องมือกีดกันทางการค้าตัวใหม่

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องเผชิญ และทุกคนต้องมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ในแง่ของภาคธุรกิจในอดีตการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจมีต้นทุนที่สูง เพราะเทคโนโลยีไม่เอื้ออำนวย แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีได้มีการพัฒนาไปไกลมาก ในหลายอุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีที่ถูกลง และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้สูงขึ้นไปพร้อมๆ กับนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงนโยบายของสถาบันการเงินที่สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสำหรับการปรับปรุงกระบวนการการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องของภาษี จึงเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งดำเนินการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก

ต่อไปการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตทั้ง ห่วงโซ่อุปทาน จะกลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าตัวใหม่ ที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ที่ใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กับทุกประเทศที่ส่งสินค้าเข้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว แต่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และจะเริ่มจัดเก็บภาษีปี 2569 ล่าสุด สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย เตรียมนำ CBAM มาใช้ เช่นกัน จากแนวโน้มดังกล่าว การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีแผนที่ชัดเจนในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจไทย จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำทันที ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันในตลาดโลก

อสังหาฯขับเคลื่อนสู่ศก.สีเขียว

สำหรับภาคอสังหาฯหนึ่งในธุรกิจเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบของ Thailand Taxonomy ปี 2568 นั้น ปัจจุบันเทคโนโลยี และนวัตกรรมหลายอย่างในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เอื้อให้ภาคอสังหาฯสามารถปรับเปลี่ยนสู่การเป็น อสังหาฯสีเขียว (Green Developer) ได้ เพราะปัจจุบัน มีเทคโนโลยีสำหรับการออกแบบและก่อสร้าง อย่าง Building Information Modeling (BIM) เป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการออกแบบและคำนวณวัสดุก่อสร้างที่ใช้ ในแต่ละโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดการใช้วัสดุก่อสร้างเกินความจำเป็น และลดปริมาณขยะที่เกิดจากการก่อสร้างได้ การประยุกต์ใช้ระบบการออกแบบแบบโมดูลาร์ และเทคโนโลยี 3-D Printing ทำให้คำนวณปริมาณวัสดุได้แม่นยำ ลดใช้วัสดุก่อสร้าง ส่งผลให้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างหลายแห่งพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดารณี ระบุว่า แอล.พี.เอ็นฯ เห็นความสำคัญมาตลอด 35 ปี จึงให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบ ถึงการก่อสร้าง ภายใต้แนวคิด Net Zero Waste ปัจจุบันบริษัทกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ก่อนที่กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีผลบังคับใช้ โดย แอล.พี.เอ็นฯมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เฉลี่ยปีละ 2.5% โดยปี 2566 เป็นปีฐาน และปี 2566 แอล.พี.เอ็นฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,292 ตันคาร์บอน (tCO2e) และปี 2567 ประมาณจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,259.7 ตันคาร์บอน (tCo2e) หรือลดลง 2.5% ตามแผนเป็น Net Zero ปี 2608

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image