บอร์ด รฟท. ไฟเขียวจัดหารถโดยสาร พร้อมอะไหล่ 182 คัน 1.05 หมื่นล้าน ติดแอร์ทั้งขบวน

ภาพโดย ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

บอร์ด รฟท. อนุมัติโครงการจัดหารถโดยสาร พร้อมอะไหล่ 182 คัน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ทดแทนรถเดิมที่ใช้งานมากว่า 50 ปี หวังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหารถโดยสารทดแทนขบวนรถด่วนพิเศษ และขบวนรถด่วน พร้อมอะไหล่ จำนวน 182 คัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,502,100,000.00 บาท (หนึ่งหมื่นห้าร้อยสองล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฯผลักดันโครงการดังกล่าว เพื่อนำมาทดแทนรถโดยสารเดิมที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 50 ปี ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งทางรางให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และการให้บริการ

โครงการจัดหารถโดยสารทดแทนรถด่วนพิเศษ และรถด่วน จำนวน 182 คัน พร้อมอะไหล่ สำหรับให้บริการขนส่งผู้โดยสารในขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วน 14 ขบวน (รวมขบวนสำรอง) เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสารทุกกลุ่ม ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย และแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2566-2570 (แผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย) ซึ่งจะเพิ่มบทบาทการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ตลอดจนการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ภาพโดย ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

จากสถิติก่อนและหลังการให้บริการของขบวนรถชุด 115 คัน ซึ่งเป็นขบวนรถโดยสารชุดล่าสุดที่การรถไฟฯจัดหาและนำมาให้บริการ เมื่อปี 2560 นั้น มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปี 2559 กว่า 7 แสนคน และในปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 1.84 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของผู้โดยสารในปัจจุบัน

ADVERTISMENT

สำหรับขบวนรถรถโดยสารชุด 182 คัน เป็นขบวนรถโดยสารปรับอากาศทั้งขบวน และมีการเพิ่มจำนวนรถโดยสารชนิดนอนปรับอากาศชั้น 1 จำนวน 2-3 คัน รวมถึงการเพิ่มชนิดรถโดยสารประเภทนั่งปรับอากาศ จำนวน 2-3 คัน มาให้บริการเป็นทางเลือกตามความต้องการของผู้ใช้บริการอีกด้วย ซึ่งจะรองรับจำนวนผู้ใช้บริการต่อตู้ได้เพิ่มขึ้น และสามารถเพิ่มความเร็วสูงสุดจากเดิม 90 กม./ชม. เป็น 120 กม./ชม. ทำให้ผู้ใช้บริการเดินทางถึงจุดหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้านความปลอดภัย มีการเพิ่มระบบ CCTV ภายในห้องโดยสาร และบันไดประตูปิด-เปิดอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังรองรับการให้บริการทั้งสถานีชานชาลาต่ำและชานชาลาสูง พร้อมลิฟต์ในการให้บริการสำหรับผู้พิการในกรณีสถานีมีชานชาลาต่ำอีกด้วย ที่สำคัญยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคันได้มากถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับขบวนรถเดิม

ADVERTISMENT
ภาพโดย ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

การรถไฟฯมีแผนการพ่วงขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วน ที่จะนำมาทดแทน จำนวน 12 ขบวน ประกอบด้วย

  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13/14 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่
  • ขบวนรถด่วนที่ 51/52 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่
  • ขบวนรถด่วนที่ 67/68 กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี
  • ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 37/38 กรุงเทพอภิวัฒน์-สุไหงโก-ลก
  • ขบวนรถด่วนที่ 83/84 กรุงเทพอภิวัฒน์-ตรัง
  • ขบวนรถด่วนที่ 85/86 กรุงเทพอภิวัฒน์-นครศรีธรรมราช
ภาพโดย ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

สำหรับขั้นตอนจากนี้จะนำเสนอรายงานต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการดังกล่าวการรถไฟฯจะประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอประกวดราคา และน่าจะพิจารณาผลการคัดเลือกได้ภายในปี 2569 คาดว่าจะสามารถรับรถงวดแรกได้ประมาณช่วงต้นปี 2571

สอดคล้องกับโครงการทางคู่ 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทาง 678 กิโลเมตร รวมถึงการซื้อรถจักรใหม่ 50 คัน และโครงการทางคู่ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,488 กิโลเมตร

ทั้งนี้ การรถไฟฯมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสิทธิภาพในการให้บริการโดยสารเชิงพาณิชย์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image