“ขนส่ง”ถอย”ขอใบขับขี่-เรียนขับรถ15 ชม.” แถลงเลื่อนไปอีกปี-หลังถูกโซเชียลถล่มยับ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม เวลา 15.30 น. ที่กระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการและโฆษกกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก จัดแถลงข่าวกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติรับทราบร่างเงื่อนไขกฎกระทรวง 2 ฉบับ ซึ่งผู้ที่ขอออกใบขับขี่ใหม่จะต้องเข้ารับการอบรมจากโรงเรียนสอนขับรถจำนวน 15 ชั่วโมง

นายจิรุตม์ เปิดเผยว่า เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องขอยืนยันว่ากฎกระทรวงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ คาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีจึงจะแล้วเสร็จ เพราะทางกรมการขนส่งทางบกยังต้องพิจารณารายละเอียดปลีกย่อย และเตรียมความพร้อม เช่น หลักเกณฑ์และกฎหมายทั้งของกรมการขนส่งทางบกและกฤษฎีกา การรับรองมาตรฐานโรงเรียนสอนขับรถ ระบบโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียนสอนขับรถ เช่น สนาม อาคาร ระบบตรวจสอบการเข้าเรียนโดยการถ่ายคลิปวีดีโอ ตรวจลายนิ้วมือ การเชื่อมโยงระบบระหว่างโรงเรียนสอนขับรถและกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น ดังนั้น ในขณะนี้การขอใบขับรถยังคงเป็นไปตามเดิม

ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนความปลอดภัยของกระทรวงคมนาคม สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจาก 3 ประเด็นคือ 1 สภาพถนน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะปรับปรุงถนนให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีการติดตั้งเครื่องหมายจราจร ดุจุดบอดของถนน 2.ความพร้อมของรถยนต์ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปตรวจความพร้อมและสภาพรถของรถสาธารณะในทุกเรื่อง แผนบำรุงรักษารถ 3.ผู้ขับขี่รถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพทางกระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปหาแนวทางให้ความรู้และดูแล ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปให้ความรู้ในสถานศึกษา และการทบทวนกระบวนการออกใบอนุญาตขับรถเป็นกระบวนการหนึ่งที่พัฒนาคนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งการอบรม 15 ชั่วโมงแบ่งเป็นอบรมทฤษฎี 5 ชั่วโมง และปฏิบัติ 10 ชั่วโมง นั้นเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนตามปฏิญญามอสโกที่ทั่วโลกได้ใช้กัน

นายกมล กล่าวว่า จากประเด็นเรื่องราคาค่าอบรมการขับรถเรียนกับโรงเรียนสอนขับรถยนต์เอกชนนั้น ปัจจุบันทางกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดอัตราเพดานสูงสุดที่ 6,000 บาท หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จริงทางกรมจะพิจารณาปรับลดราคาลง เพราะทางโรงเรียนจะมีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับโรงเรียนสอนขับรถที่เป็นของกรมการขนส่งทางบกเองค่าเรียนต่อครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 650 บาท เพราะต้นทุนค่าใช้อาคารสถานที่บางส่วนเป็นของรัฐค่าเรียนจึงถูกกว่า แต่เนื่องจากโรงเรียนของกรมการขนส่งทางบกมีจำนวนเพียง 4 แห่ง คือ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ กรุงเทพมหานคร(จตุจักร) ปทุมธานี(ลำลูกกา) และในอนาคตจะเปิดเพิ่มที่จังหวัดชลบุรีอีกหนึ่งแห่ง ทำให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่จะเข้ามาเรียน ซึ่งแต่ละปีจะมีประชาชนเข้ามาขอใบอนุญาตขับขี่ประมาณ 8-9 แสนคนต่อปี

Advertisement

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนโรงเรียนสอนขับรถของเอกชนที่ได้รับการรับรองและใบอนุญาตแล้วทั้งสิ้น 95 แห่ง และอยู่ในระหว่างยื่นขอเข้ามาเพิ่มอีก 53 แห่งรวมเป็น 148 แห่ง ยอมรับว่าแม้จะมีโรงเรียนที่พร้อมดำเนินการจำนวนมากถึง 90 แห่ง แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด เหลืออีก 18 จังหวัดที่ยังไม่มีโรงเรียนสอนขับรถเอกชน ดังนั้น ทางกรมการขนส่งทางบกมีแผนที่จะตั้งหน่วยงานของกรมเข้าไปดำเนินการเอง นอกจากนี้ ยังได้รับการติดต่อจากสถาบันการศึกษาที่มีบุคลากรและองค์ความรู้ติดต่อเข้ามาเพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางอบรมสอนขับรถด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image