เบียร์ในอุษาคเนย์ (1)

คำนำ

ในปัจจุบันนี้ การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศในโลก หลายๆ ประเทศเลือกจับคู่กลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ นั่นคือ มีการจัดตั้งเป็นเขตการค้าเสรีมีการลดภาษีนำเข้าและยกเลิกมาตรการกีดกันให้กับสินค้าและ/หรือบริการตามที่ตกลงร่วมกันไว้ เพื่อให้สินค้าและ/หรือบริการเหล่านั้นมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างประเทศผู้นำเข้าและประเทศผู้ส่งออกสะดวกขึ้น

ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area-AFTA) ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายหลายมิติ

เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตลาดการค้าและบริการของภาคเอกชนแล้ว ยังส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐด้วย

โดยความตกลงดังกล่าวจะขยายขอบเขตของผู้เล่น (player) และองค์กร (organization) ที่เป็นของคนไทยและมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะรวมถึงผู้บริโภคต่างชาติ (foreign consumer) กลุ่มทุนข้ามชาติ (multi national Corperation MNCS) และรัฐบาลของประเทศอื่นๆ (Foreign government) ในภูมิภาคด้วย

Advertisement

ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับสินค้าและบริการทั้งหมดที่อยู่ในความตกลง อันรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มทุนข้ามชาติด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลต่างชาติ ผู้ดื่มทั้งที่เป็นคนในประเทศและต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีมากนัก ส่วนใหญ่ยังเป็นการศึกษาเรื่อง ภาษีสรรพสามิต ภาษีการค้า ซึ่งให้ภาพแบบหนึ่งของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งๆ ที่ปริมาณการผลิต ปริมาณการดื่มของสินค้าประเภทนี้ในอาเซียนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันจะเติบโตมากยิ่งขึ้นเมื่อภูมิภาคนี้เป็นประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์นับตั้งแต่ปลายปี 2558

ในเวลาเดียวกัน ยิ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ไม่ธรรมดา อันหมายถึง มีต้นทุนการผลิตและผลทางสังคมมาก โดยเฉพาะผลทางศีลธรรม ศาสนา ความเชื่อและประเพณี สุขภาพอนามัย

ดังนั้น บทความนี้จึงนำส่วนหนึ่งของผลงานวิจัย เรื่องอุตสาหกรรมเบียร์ โดยศึกษาทั้งแง่มุมทางด้านภาษี แง่มุมของนโยบายของรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาเลเซีย สหภาพเมียนมา สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย มาศึกษา

ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ดำเนินการโดยผู้เขียนและคณะซึ่งเป็นนักวิจัยในสังกัดของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาสุรา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เบียร์ในอุษาคเนย์ ลักษณะเด่น

1) ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีงานศึกษาเกี่ยวกับอาเซียนและประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงความสำคัญของอาเซียนที่มีต่อไทยในด้านการค้าที่มีอยู่ประมาณ 25% ของ GDP ไทย อีกทั้งจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเมื่ออาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

แต่การศึกษาโดยตรงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อไทยแทบไม่มีเลย ทั้งๆ ที่บริษัทวิจัยทางการตลาดพบว่า ฟิลิปปินส์และไทยเป็น 2 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นประเทศที่ติดอันดับการบริโภคแอลกอฮอล์ในอันดับต้นของโลกคือ อันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ

ยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหลังปี 2015 อัตราภาษีศุลกากรของสินค้าเกือบทั้งหมดเท่ากับ 0 แต่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอในอีกแง่มุมหนึ่งว่า ภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยังคงอยู่ และแต่ละประเทศอาเซียนมีภาษีสรรพสามิตไม่เท่ากัน อันหมายความว่า โอกาสการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลภาษีศุลกากร ทั้งนี้ มีภาษีสรรพสามิตและเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

2) อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ในอาเซียนที่มีโอกาสกระทบต่อไทยสูงเนื่องจากตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกชี้นำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนไม่มาก ที่มีกำลังทุนมหาศาลในการทำตลาดที่แยบยลอย่างเข้มข้น เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความชอบในสินค้าและผลักดันการเติบโตในตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) ทั่วโลก รวมทั้งตลาดอาเซียนด้วย เช่นเดียวกับการรักษายอดขายในประเทศของตนเอง

บริษัทเหล่านี้พยายามส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

งานวิจัยนี้ค้บพบว่า บรรษัทข้ามชาติ (Multi national corporation) ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกคือ คาร์ลสเบอร์ก (เดนมาร์ก) และไฮเนเก้น (เนเธอร์แลนด์) ซึ่งครองตลาดเบียร์ทั่วอาเซียนอยู่แล้ว ลงทุนและขยายการผลิตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาและสหภาพเมียนมา นอกจากผลิตเบียร์ยี่ห้อของตนขายใน 3 ตลาดดังกล่าวแล้ว เบียร์ทั้ง 3 ตลาดได้เข้ามาขายในตลาดไทยด้วยเหตุผลชายแดนติดกัน ด้วยตลาดในจังหวัดชายแดนของไทยขยายตัว เท่ากับว่า บรรษัทข้ามชาติยิ่งผลิตและขายเบียร์ในตลาดไทยเพิ่มมากขึ้น

ในเวลาเดียวกัน บริษัทผลิตเบียร์ San Mikel ของฟิลิปปินส์ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเบียร์ขายในไทย เพราะเห็นโอกาสทางด้านธุรกิจในอุตสาหกรรมแอกอฮอล์ในไทย

อาจกล่าวได้ว่า หลังปี 2558 เบียร์ ทุนข้ามชาติและทุนในชาติได้ผนวกกำลังและประสานประโยชน์ตลาดเบียร์ในอุษาคเนย์ มีการอาศัยกฎแห่งถิ่นกำเนิด (rule of origin) มาช่วยในเรื่องกำแพงภาษี อาศัยความใกล้เคียง (proximility) ทางภูมิศาสตร์

เช่น การตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเบียร์ในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย เพื่อการส่งออกและลดค่าขนส่ง (transport cost) สินค้า

อาศัยประเด็นเรื่อง ชาตินิยม (Nationalism) อัตลักษณ์ของชาติ (national identity) การโฆษณาและการตลาดเพื่อเข้าถึงนักดื่มหน้าใหม่ทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน มีความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงเป็นเมือง (urbanization) และชีวิตของคนรุ่นใหม่ (Young Generation)

เบียร์เป็นสินค้าที่ไม่ธรรมดาจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image