มุมมองซีอีโอ-เอสเอ็มอี 2568 ปีแห่งความหวัง-โอกาส

ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 “งูเล็ก” จะเผชิญกับความท้าทายมากหรือน้อยกว่าปี “งูใหญ่” 2567 ที่ผ่านไป

ขณะที่ผู้นำรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2568 ระบุ “ขอให้ 2568 เป็นปีแห่งโอกาส ความหวัง และความฝันของคนไทย….”

ซึ่งโดยปกติเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี จะเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นเร็วสุดนั้น มีความคิดเห็นอย่างไร ในประเด็น “โอกาส ความหวัง และความเชื่อมั่นของประเทศ ปี 2568”

ADVERTISMENT

พสุ ลิปตพัลลภ
กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PROUD

ความเชื่อมั่นประเทศไทย เรื่องที่ยังเชื่อมั่นได้ เป็นเรื่องการท่องเที่ยว ที่อีกหมวกหนึ่ง พราวก็อยู่ในหมวดของการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งเห็นว่ามีการเติบโตแบบชัดเจน ประเทศไทยนั้นมองว่าปี 2567 จีดีพีโตจบที่ 2.7% แต่จีดีพีภูเก็ตน่าจะโต 8-9% หากประเมินในภาพจริง เป็นโกสต์เอ็นจินที่ยังไงก็ดี แม้ช่วงโควิดมีปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภูเก็ต จากนี้ประเทศไทยก็ยังมีเรื่องดีๆ ในเรื่องการท่องเที่ยว อาทิ ไวท์โลตัส ซีซั่น 3 ธรรมชาติยังดีอยู่ อย่างน้อยทำธุรกิจที่เป็นแวลูแอด เป็นไฮแวลูทัวริสต์ โรงแรม 5 ดาว พราวเรียลเอสเตท เป็นอสังหาฯที่มีไฮมาร์จินสูง อย่างน้อยเราก็อยู่ถูกส่วน ไฮแวลูเราทำได้นะ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น หากมีคอนเทนต์ดีๆ มีเรื่องน่าสนใจมานำเสนอบวกกับมูลค่าเพิ่มในแต่ละเรื่อง

ADVERTISMENT

สิ่งที่ทำได้ดีมากเป็นเรื่อง ESG (Environment, Social และ Governance) ไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วดี แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ อาทิ กำจัดขยะ ที่พอทำแล้วทำให้รู้สึกดีมากขึ้น ทั้งคนทำและคนรอบข้าง การนำคนแถวบนของโลกมาผูกกับโครงการต่างๆ โดยเฉพาะกับชุมชน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าหากดำเนินสิ่งเหล่านี้แล้ว ความเป็น ESG จะส่งผลดีต่อชุมชนอย่างไร เรื่องเหล่านี้ในอนาคตจะถูกกำกับด้วยกฎหมาย เพื่อให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เราจะมีที่ที่เราทำโครงการเหล่านี้แล้วสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้น อาทิ อนุรักษ์เต่าทะเล เก็บขยะเพื่อให้สาหร่ายทะเลในประเทศไทยขึ้นและเติบโตได้ดีมากขึ้น เพราะสาหร่ายทะเลจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีมากๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ประเทศไทยสามารถทำได้ดี และมีโอกาสทำได้มากขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเห็นการดำเนินการต่างๆ ของไทย จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าการท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวแบบมีมูลค่า ไม่ได้ขายอะไรก็ไม่รู้เหมือนที่ผ่านมา

อีกเรื่องเป็นเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปี 2568 ไม่แน่ใจว่าจะโชว์ตัวออกมามากน้อยเท่าใด แต่มั่นใจว่าในระยะยาว ประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แม้กระแสในตอนนี้จะมีข่าวการหั่นราคาของรถไฟฟ้าลง เพราะโอเวอร์ซัพพลายต่างๆ แต่หากเรายังอยากปักธงเรื่องนี้ต่อ หลังจากทำเครื่องยนต์แบบสันดาป ซัพพลายเชน ฐานการผลิตที่ทำให้ระยอง นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยยังเติบโตได้ หากเราต้องการจะไปต่อจากเวฟเดิมนั้น เวฟใหม่เป็นจีน ที่นำเรื่องรถอีวีได้ดีมาก เฟสแรกมีแล้ว คือ นำชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบขาย เฟสถัดไป ต้องผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย เพื่อให้ได้สิทธิในด้านภาษีต่อไป เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงมากขึ้น แม้การขยับอาจช้า แต่อย่างน้อยก็มาถูกทาง เพราะอย่างดาต้าเซ็นเตอร์ ที่รัฐบาลพูดถึงเยอะขึ้น แต่เรายังต้องแข่งกับหลายคนที่แอดวานซ์ไปแล้ว ไม่เหมือนเรื่องการผลิตรถยนต์ที่เรามีพื้นฐานทำไว้ได้ดีแล้ว ขอแค่เราดูแลผู้ประกอบการที่ยังวนเวียนอยู่กับเครื่องยนต์สันดาป ว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถข้ามไปฝั่งรถอีวีได้ดีมากน้อยเท่าใด ซึ่งมองว่าคงต้องมีความเจ็บปวดบ้าง แต่สุดท้ายเราจำเป็นต้องทำ

มองว่าจุดขายของประเทศไทยมีความชัดเจน อย่างอินโดนีเซีย ทำในการขุดแร่ธาตุเพื่อขายส่วนมาเลเซียทำเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ให้โดดเด่น สิงคโปร์ก็ไปไกลแบบไม่ต้องพูดถึงแล้ว ทำให้ส่วนของประเทศ อย่างน้อยหากเราทำให้อีวีขึ้นมาเป็นพระเอกได้ในการวางรากฐานให้ชัดเจน ช่วยเหลือผู้ประกอบการในไทย อาทิ ญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ทำเครื่องยนต์อีวี แต่เนื่องจากอยู่ในประเทศไทยมานาน เราจะมีมาตรการช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไร เพื่อช่วยให้ปรับตัวได้ในประเทศ ขณะเดียวกันกับจีน ต้องหาวิธีดูแลผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ได้เป็นการเลือกข้างขนาดนั้น แต่ต้องช่วยให้เดินหน้าไปควบคู่กันได้ เป็นการสนับสนุนคนใหม่ และช่วยเหลือคนเก่าด้วย แม้ปี 2568 จะยังมีเทรนด์ข่าวการหั่นราคาของรถอีวีต่อเนื่อง แต่ในระยะกลางเป็นต้นไปจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นแน่นอน ทุกคนจะหันเหมาทางนี้ เพราะอีวีจีนมีขนาดใหญ่

โอกาสในเรื่องธุรกิจสีเขียว จึงมีเยอะมาก อีกเรื่องเป็นการทำเกษตรอย่างยั่งยืน อาทิ การปลูกข้าวโลว์คาร์บอน ตอบโจทย์คาร์บอนเครดิตตามเป้าหมาย เพราะเรามีชาวไร่ชาวนา พื้นที่ในการทำนาเยอะมาก แค่เราอันล็อกให้ได้ในการปลูกอย่างไรให้ใช้น้ำน้อยลงสามารถรักษาหน้าดินได้ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ซึ่งเราจะสามารถตอบโจทย์คาร์บอนเครดิต และการช่วยชาวนาให้มีต้นทุนลดลง รวมถึงพัฒนาไฮแวลูในภาคการเกษตรได้แล้ว

ความคาดหวังว่าจะทำอะไรให้ได้ดีขึ้น มองว่าไม่ต้องทำอะไรให้อัจฉริยะ หรือไฮเทคมากๆ ขอแค่ดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย โดยมองจากมุมของอสังหาริมทรัพย์ ที่เห็นชัดเจนมากโดยเฉพาะอีไอเอที่ผ่านการอนุมัติออกมาแล้ว แต่ถูกเพิกถอนภายหลัง ที่ดินออกโฉนดไปแล้วถูกถอนกลับมา หรือที่ดินบางอันสั่งให้ออกโฉนดไปแล้วจะถอนกลับมาก็ทำไม่ได้ ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เราเจอเยอะมาก อาทิ ในภูเก็ตที่อยากพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในภาพรวม เมื่อไปตรวจสอบเอกสารสิทธิพบว่าเอกสารหาย มีเอกสารอีกชุดหนึ่งสำรองไว้ แต่ตัวหนังสือเขียนไม่ชัด กระดาษขาด หรือพนักงานหาแหล่งจัดเก็บไว้ไม่เจอแล้ว คำถามคือทำไมเราถึงไม่ใช้การจัดเก็บแบบบล็อกเชน ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้หมดปัญหาการทับซ้อนพื้นที่ ปัญหาโฉนดปลอม สิทธิสัญญาการเช่าเป็นของใครแบบนี้ โดยเฉพาะการอนุมัติอีไอเอ ที่ออกมาชัดเจนแล้ว มีการก่อสร้างจนขายออกหมดแล้วแต่ต้องรื้อคืน ซึ่งมีผู้พักเป็นชาวต่างชาติ แถมผู้พัฒนาโครงการก็เป็นชาวต่างชาติ ถามว่าคนเหล่านี้จะมองประเทศไทยอย่างไร หากสามารถจัดการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายได้ ชีวิตจะง่ายขึ้นอีกเยอะมากซึ่งจริงๆ แล้วมองว่า มันไม่ควรมีอะไรยากมากขนาดนั้น

การพูดถึงไฟแนนเชียลฮับ ที่มองว่าข้อดี คือ จะมีการปรับแก้ข้อกฎหมายเก่า และเพิ่มกฎหมายใหม่ในการดูแล ซึ่งก็ควรทำ สะท้อนถึงเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเหมือนกันหมด

ทรัพย์อิงสิทธิ ที่รัฐบาลบอกว่าจะทำเรื่องนี้ หากจะทำก็ดี เพราะต่างชาติจะสามารถถือครองที่ดินได้นานขึ้น สามารถนำทรัพย์อิงสิทธิเหล่านี้มาใช้กู้สถาบันการเงินเป็นเรื่องเป็นราวได้มากขึ้น เพราะขณะนี้ต่างชาติไม่สามารถนำอสังหาฯมากู้ธนาคารได้ หรือกู้ได้ก็จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แพง สัดส่วนต่ำ ทำให้หากมีการทำทรัพย์อิงสิทธิได้ จะเป็นการเพิ่มโพเทนเชียล ที่อาจไม่ได้มีเงินเยอะมาก แต่สามารถกู้ได้เช่นกันโดยทรัพย์อิงสิทธิ หากต่างชาติจะออกจากประเทศไทยต้องขายคืนที่ดินให้กรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์จะมีต้นทุนที่ดินที่ถูกลง สามารถทำอะไรได้เยอะขึ้น อาทิ สามารถสร้างที่อยู่อาศัยในราคาที่ถูกลงได้ พัฒนาอสังหาฯใจกลางเมือง แต่เปิดกว้างให้กลุ่มคนระดับกลางลงล่างเข้าอยู่อาศัยได้ ถือเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทุกอย่างจะถูกปลดล็อกจากการบังคับใช้กฎหมาย หรือการแก้กฎหมาย ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

บ้านเพื่อคนไทย ที่รัฐบาลมีแนวคิดในการดำเนินการ สุดท้ายจะกลับมาเป็นเรื่องของกฎหมายอีกครั้ง เพราะไทยเจอปัญหาเรื่องเมืองโตกระจุก ผังเมืองไม่ได้แก้ไขให้เหมาะสมกับปัจจุบัน โซนนิ่งไม่ได้แก้ไขเพื่อรองรับการเติบโตของอนาคต ทำให้การเติบโตของเมืองไม่ได้กว้างอย่างที่ควร ทุกคนจึงต้องเดินทางจากไกลๆ หรือรอบเมือง เพื่อเข้ามาในเมืองในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องค่าครองชีพ และการเดินทางในระยะไกลๆ หากโครงการที่เกิดขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ก็ถือว่าดี หรืออาจต้องทำโมเดลเหมือนประเทศจีนในช่วง 20 ปีก่อน เป็นการสร้างเมืองใหม่กระจายไปในหลายๆ แห่งเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น

เผือกร้อนปี 2568 มองเป็นเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเราอยู่ภูเก็ต จะเจอเรื่องอะไรแบบนี้เยอะมาก เพราะลูกค้าเบอร์หนึ่งของเราเป็นรัสเซีย เบอร์สองเป็นอิสราเอล เบอร์สามเป็นตะวันออกกลาง ภูเก็ตจะมีฐานลูกค้าที่น่าสนใจแบบนี้ หากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายที่ บรรยากาศของคน อย่างรัสเซียที่ถูกแซงก์ชั่นเยอะ เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่จีดีพีก็สูงกว่าประเทศไทยอยู่ดี ในระดับ 5-6% ทำให้คนยังมีเงินใช้อยู่ แต่หากมีการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้น หรือรัสเซียระดมคนกลับไปเกณฑ์ทหาร หากไม่กลับจะผิดกฎหมาย นักท่องเที่ยวก็จะหายไป ในส่วนของอิสราเอลก็มีเข้ามาเที่ยวไทยกันเยอะ แต่ต้องยอมรับว่าบางทีอาจมีเรื่องของผู้ไม่หวังดี เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบริเวณศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ ที่เป็นการก่อการร้ายข้ามชาติซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมรับว่าอาจมีผู้ไม่หวังดี ที่หากเห็นชาวอิสราเอลมาเยอะแล้วมองว่าประเทศไทยมีความหละหลวมหรือไม่ในด้านการรักษาความปลอดภัย ต้องการทำสัญลักษณ์อะไรสักอย่างในการทำลายคนอิสราเอล หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแบบย่ำแย่ไปเลย แม้ความเสี่ยงน้อย แต่หากเกิดขึ้นจะกระทบยาวไปเลย

อีกเรื่องเป็นการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ วันนี้มองว่ามาตรการที่ออกมามีความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้สูงให้ถูกจุดมากขึ้น ซึ่งมองว่ามันดี เพราะในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมา มีกองทุนจากต่างชาติเข้ามาหารือด้วย และพูดมาว่า ช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พวกคุณนั่งอยู่เฉยๆ ทำให้การเติบโตของไทยที่อยู่เท่าเดิม แต่เรามีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้การเข็นเศรษฐกิจ ผ่านการดันการใช้จ่ายมากขึ้นมันยาก จึงไม่แปลกที่มีโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทออกมาเพื่อให้คนใช้เงิน แต่สิ่งสำคัญที่ตอนนี้มีมาตรการออกมาหลายอย่างที่ทำได้ค่อนข้างดีอย่างการแก้หนี้ อย่างล่าสุดอสังหาฯ 4 แสนกว่าล้านบาท ในการพักหนี้ส่วนของดอกเบี้ย นำไปจ่ายเงินต้น ซึ่งส่วนนี้มองว่าแก้ไขถูกจุดแล้ว ในกลุ่มบ้านที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 3 ล้านบาท เพื่อทำให้คนเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) กลับมาเป็นคนปกติได้ง่ายมากขึ้น อาทิ เดิมมีคนติดเครดิตบูโรด้วยเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านไป 7 ปีแล้วยังติดเครดิตบูโรอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้กฎหมายควบคู่ด้วย ว่าจะสามารถช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ออกมาเป็นคนปกติได้อย่างไร

สุดท้ายเป็นเรื่องการต่างประเทศ ที่เราต้องแอ๊กทีฟมากกว่านี้ เพราะประเมินจากรัฐบาลที่พยายามแอ๊กทีฟในต่างประเทศมากขึ้น หลังจากการเมืองโลกดูรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้อีกต่อไปแล้ว เราต้องมามองว่าจะสามารถวางตัวประเทศไทยไว้แบบใด เพื่อให้สามารถอยู่ได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายมากในช่วงต่อจากนี้

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายสวยงาม ทรัพยากรมนุษย์ที่มีจุดเด่นของความเป็นมิตร แหล่งทรัพยากรอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารคมนาคมขนส่งที่ดี หากแต่นโยบายรัฐบาลที่ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รอบด้าน รัดกุม เร่งด่วนโดยสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อขยายอัตราการเติบโตของ GDP และต้องเร่งอัตราการเติบโตของ GDP SME ร่วมด้วยทั้งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีสัดส่วนถึงร้อยละ 99.5 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ แต่มีสัดส่วน GDP SME เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น รายได้ต่อหัวประชากรต้องประเมินการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยรวยกระจุกจนกระจาย มั่งคั่งเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และสิ่งที่เป็นเป้าหมาย คือ ลดปัญหาความยากจนยั่งยืน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จำนวน 14.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของประชากรทั้งประเทศ ต้องเปลี่ยนเป็น “บัตรเพิ่มขีดความสามารถแห่งรัฐ” สร้างทักษะ เพิ่มสมรรถนะ ยกระดับขีดความสามารถ จับคู่งานสร้างสรรค์ สร้างอาชีพที่มีมูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และความยากจนที่ส่งต่อเป็นมรดกตกทอดจากปัญหาขาดโอกาสทางการศึกษา โอกาสการพัฒนาอาชีพ โอกาสการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ ปี 2568 กับความเชื่อมั่น เชื่อฝีมือรัฐบาลที่จะทำเรื่องต่างๆให้คืบหน้าเห็นผลลัพธ์ที่ดี ดังนี้

1.เศรษฐกิจนอกระบบ ทุนข้ามชาติยึดเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 47 ของเอสเอ็มอีขาดขีดความสามารถในการแข่งขันราคากับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ และร้อยละ 67 มีการปรับตัวทางธุรกิจ การแข่งขันท่ามกลางความเหลื่อมล้ำของทุนข้ามชาติรุกเศรษฐกิจไทย การปราบปรามธุรกิจลักลอบและไม่ลักลอบแบบรู้เห็นเป็นใจกับสินค้าเถื่อนทำลายเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ Supply Chain ในประเทศ ธุรกิจนอมินีต่างชาติรุกคืบ อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (รับเหมา-ซื้อที่ดินจัดสรร) ธุรกิจท่องเที่ยว (ศูนย์เหรียญ) ธุรกิจเกษตร (ล้ง-ซื้อสวน) ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น นอกจากนั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน แพลตฟอร์มต่างชาติครองเศรษฐกิจไทย เม็ดเงินไหลออกนอกระบบ ขบวนการร่วมทุจริตคอร์รัปชั่น ยังเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องพลิกเกมส์สู้เอาจริงเอาจัง “ปล่อยไว้จะทำลาย สร้างความอ่อนแอให้กับเศรษฐกิจไทยจนในที่สุดอาจสายเกินแก้” โดยเอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายในการสร้างบังคับใช้กฎหมาย ภาษีที่เข้มข้น และมาตรการส่งเสริมสร้างประชาสัมพันธ์ การสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงให้กับสินค้าและบริการไทย การสร้างความแตกต่างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเพิ่มมูลค่าและพัฒนาคุณภาพสินค้าไทย เพิ่มช่องทางตลาดให้เอสเอ็มอี พร้อมทั้งสนับสนุนแพลตฟอร์ม ซอฟแวร์ แอปพลิเคชั่นของผู้ประกอบการไทยด้วย เราต้อง “ดูแลปกป้องผู้ประกอบการในประเทศก่อน เหมือนที่ประเทศเขาปกป้องคนในชาติเขาอย่างเต็มที่แบบไม่เหนียมอาย”

2.สร้างคน สร้างชาติ ร้อยละ 42 ของแรงงานทั้งในและนอกระบบจบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า (15.6 ล้านคน) ร้อยละ 8 เอสเอ็มอีมีการลงทุนฝึกอบรมทักษะแรงงาน และประชากรไทยวัยแรงงานมีความต้องการในการพัฒนาทักษะ ขีดความสามารถถึงกว่า 5.3 ล้านคนต่อปี รวมทั้ง การปฏิรูประบบการศึกษาและการพัฒนากำลังคนก้าวข้ามความยากจน เพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ แรงงาน เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับขีดความสามารถ อีกทั้งการเตรียมความพร้อมประชากรสูงวัยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์กว่า 13.4 ล้านคน หรือ ประชากรไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยร้อยละ 82 ของประชากรไทยที่สูงวัยมีระดับการศึกษาเพียงประถมศึกษาหรือต่ำกว่า แผนยุทธศาสตร์ในการรองรับการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมสูงวัย การเตรียมความพร้อมประชากรก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยให้รองรับการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า อยากเห็น “Blockchain การพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยและการจับคู่งานแห่งชาติ” ซึ่งประเทศจีนทำมาตรการ “Little Giants” ประเทศสิงคโปร์ทำมาตรการ “FutureSkills” ประเทศอินโดนีเซียทำมาตรการ “Prakerja” ที่อุดหนุนระบบพัฒนากำลังคนและเอสเอ็มอี “ถึงเวลา Soft Power ไทยขยายไปสู่สากล ?” ค่าแรงขั้นต่ำก็จะไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยอีกต่อไป

3.แก้หนี้ ฟื้นฟูไปต่อไม่ย้อนกลับมา ร้อยละ 92 ของเอสเอ็มอีต้องการสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน ร้อยละ 70 ของเอสเอ็มอีไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ ร้อยละ 43 ของเอสเอ็มอีใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบรวมทั้งอีกร้อยละ 24 ใช้หนี้นอกระบบอย่างเดียว การเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำในระบบและการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย หนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องคำนึงถึงการแก้หนี้นอกระบบร่วมด้วย การมีมาตรการเข้ารับการฟื้นฟู ถอดบทเรียน บ่มเพาะสร้างวินัยทางการเงิน และออกแบบ SME Wallet (กระเป๋าเงินรายรับ-รายจ่าย supply chain) ให้เป็นกลไกในการจัด Credit scoring ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่ด้านการเงิน เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีที่เข้ารับการแก้หนี้ และเอสเอ็มอีทั่วไปยกระดับเข้าระบบ เข้าถึงมาตรการภาครัฐ มี Digital footprint ทางการเงิน ช่วยเหลือแหล่งทุนเพิ่มสภาพคล่องเงินหมุนเวียนในการประกอบกิจการแบบจ่ายตรงเวลาไม่มีดอกเบี้ย (ลักษณะวงเงินบัตรเครดิต) “หยุดหนี้เสีย ฟื้นฟูเข้าระบบ”

4.ESG สู่ความยั่งยืน ร้อยละ 75 เอสเอ็มอีทราบแนวคิด ESG แต่ยังไม่มีการปรับใช้กับธุรกิจ ร้อยละ 92 เอสเอ็มอีไม่ทราบเรื่อง CBAM ร้อยละ 5 เอสเอ็มอีมีแผนการปรับตัว ESG ร้อยละ 31 อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ร้อยละ 13 ไม่มีแผนปรับตัวเพราะขาดความพร้อม และหากมองกับดักของความพร้อมเอสเอ็มอีที่จะปรับตัว ESG พบว่าร้อยละ 60 ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ ร้อยละ 23 ขาดเงินทุนในการปรับเปลี่ยน ร้อยละ 9 ความพร้อมของบุคลากร เป็นต้น ซึ่งนับเป็นทั้งแรงกดดันและแรงผลักดันให้ไทยเติบโตด้วยการมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้คุณค่ากับสังคมอย่างรับผิดชอบ และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ซึ่งจะเป็นกระบวนการพื้นฐานในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรที่จะแข่งขันในระดับสากล และหากมองประเทศเกาหลีใต้ที่มีนโยบายแผน ESG for SME กลุ่มประเทศ EU มีแผนปฏิบัติการสีเขียวสำหรับ SMEs (Green Action Plan for SMEs; GAP) เราจะเตรียมความพร้อมรองรับ Climate Change กับกติกาสากลอย่างไรที่ชัดเจนและรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งความรุนแรงภัยพิบัติธรรมชาติส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การสูญเสียชีวิต โอกาสทางธุรกิจ การประกอบอาชีพ รายได้และภาระหนี้สินในวงกว้าง

5.AI กับ SMEs (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) ร้อยละ 17 เอสเอ็มอีมีการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ใน 2 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 62 ไม่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการติดต่อซัพพลายเออร์ ร้อยละ 87 เอสเอ็มอีใช้แรงงานเป็นหลักในการดำเนินงาน ร้อยละ 56 เอสเอ็มอียังไม่มีการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า ที่สำคัญรากฐานของการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้าถึงการใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยีและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มี 3 อุปสรรคหลัก คือ ขาดแหล่งทุนร้อยละ 30 ขาดความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยีร้อยละ 22 การประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ร้อยละ 18 การประยุกต์ใช้ AI หรือ ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่าง่ายเพื่อการบริหารจัดการฐานข้อมูล การวิเคราะห์ตลาดและการพัฒนาระบบอัจฉริยะ ระบบออโตเมชั่นเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการผลิต กระบวนการดำเนินงานของเอสเอ็มอีที่ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานจะเป็นส่วนสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพธุรกิจให้แข่งขันได้

“ฟื้นความเชื่อมั่น” กับการบริหารความเสี่ยงที่จะแสวงหาโอกาสจากทั้งสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการกีดกันทางการค้าจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สงครามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ต้องไม่ทำให้ซ้ำรอยเดิมและปัญหาภัยพิบัติขยายวงกว้างโดยไม่มีมาตรการรองรับเชิงรุกกับการป้องกันสร้างระบบเทคโนโลยีนวัตกรรมป้องกันอุทกภัย และการขาดแคลนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การขาดแคลนแหล่งน้ำ เป็นต้น ประเทศไทยเต็มไปด้วย “โอกาส” เปี่ยมไปด้วย “ความหวัง” ของประชาชนไทยที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงสร้าง “ความเชื่อมั่น” ในเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี เพื่อคุณภาพชีวิตปัจจุบันที่ดีขึ้นกว่าเดิมและส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป หากช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้างต้นอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image