รฟท.สร้างความมั่นคงทางรางไทย
ดันไอเดียผลิตรถไฟใช้เอง
ปี 2568 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปักธงหลากหลายภารกิจ ทั้งการสะสางปัญหาหนี้สินภายในองค์กร การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตลอดจนจัดการบุคลากรทั้ง รฟท. และเอสอาร์ที แอสเสท (SRTA) ให้มีประสิทธิภาพ
มีโอกาสพูดคุยกับ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ย้ำว่า ปีนี้ รฟท.จะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้เติบโตต่อเนื่อง พร้อมกับขยายขีดความสามารถการขนส่งทางรางของไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสิ่งที่ รฟท.มุ่งมั่นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จคือ พัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้เป็นการขนส่งหลักของประเทศ
ผู้ว่าฯ วีริศระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศตุรกี พบว่า ตุรกีมีโมเดลการสร้างรถไฟเองที่น่าสนใจ
โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทสัญชาติอิตาลีในการสร้างรถไฟร่วมกัน ที่ควรนำมาศึกษาเพื่อเป็นโมเดลในการสร้างรถไฟเองในประเทศไทย ซึ่งจะลดการนำเข้าและเกิดการใช้ทรัพยากรในประเทศมากขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของประเทศถูกลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รฟท.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เพื่อเร่งดำเนินการให้เกิดการผลิตรถไฟและหัวรถจักรขึ้นในประเทศไทย ทดแทนการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาการบริการขนส่งด้วยระบบรางของประเทศมีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน บริษัทที่ผลิตรถไฟในโลกยังมีจำนวนน้อย ส่งผลให้อำนาจการผลิตอยู่ในมือของผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดราคาที่ค่อนข้างสูง ทั้งส่วนประกอบและการบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน โดยปัจจุบันมีการล็อกระบบซอฟต์แวร์ ทำให้ผู้ซื้อต้องติดอยู่ในสัญญาเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าความจำเป็น
จากโมเดลของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลิตรถไฟใช้เองอย่างประเทศตุรกี พบว่าผลจากการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้การผลิตรถไฟมีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 20% และสามารถเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศจากเดิม 10% ขึ้นเป็น 75% ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในประเทศ หรือซัพพลายเชนที่เป็นพันธมิตรกับประเทศไทย ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอุตสาหกรรมของไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สทร.ภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดเป้าหมายในการผลิตรถไฟในประเทศให้ได้ 50 คัน ภายในปี 2570 เป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล DMU และเพิ่มเทคโนโลยีระบบไฮบริดเข้าไปด้วย ซึ่ง รฟท.พร้อมจะเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนอย่างเต็มที่
โดยก่อนหน้านี้ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 จะสามารถผลิตรถไฟต้นแบบออกมาเป็นคันแรกได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าจากต่างประเทศได้ประมาณ 20% จากนั้นต้นทุนจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะผลิตรถไฟใช้เองในประเทศนั้นต้องอาศัยความพร้อมด้านเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมด้วย
ขณะเดียวกัน เร็วๆ นี้ รฟท.จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในกรอบการพัฒนาและใช้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยตั้งเป้าใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟมักกะสันในการเริ่มผลิต และคาดหวังว่าจะสามารถผลิตตัวรถจักรได้ภายใน 2 ปี หลังจากลงนามร่วมกัน จากนั้นจะต่อยอดไปสู่ส่วนประกอบสำคัญอื่นๆ ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่กระทรวงได้ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปมาสู่ไฮบริดและไฟฟ้า ดังนั้นการผลิตรถไฟ ซึ่งเป็นระบบการคมนาคมขนส่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ด้วยเช่นกัน เราจึงต้องมุ่งมั่นพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ สิ่งที่จะทำให้การพัฒนาและต่อยอดด้านยานยนต์และระบบรางของไทยประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คือ การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพขึ้นมารองรับการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีให้เพียงพอ
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้เป็นการขนส่งหลักของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟท.แจงติดเรื่อง ‘พื้นที่’ เคาะขยายเวลาก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ช่วงสระบุรี-แก่งคอย อีก 201 วัน
การรถไฟฯ เสียใจสูญเสียจนท. แจงเครื่อง AED อยู่ตามสถานีรถไฟหลัก ผู้ว่าการสั่งจัดหาเพิ่ม
ภารกิจคมนาคมครึ่งหลังปี’68… ลุยปลดล็อกทุกเมกะโปรเจ็กต์!!
สุริยะ จับมือ มาเลเซีย ลงนามสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก เริ่มตอกเสาเข็มปลายปี 68