ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนธันวาคม 2567 จัดทำโดยสมาคมโรงแรมไทย (THA) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าแนวโน้มสดใสแต่อาจสะดุดเพราะเคส “ซิงซิง”
โดย เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการที่พักแรมมองธุรกิจโรงแรมปรับดีขึ้น สะท้อนจากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อน และเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นในโรงแรมทุกระดับดาว และเกือบทุกภูมิภาค
เดือนธันวาคม อัตราเข้าพักอยู่ที่ 76% ปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เดือนมกราคม คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย 73% เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นในทุกระดับดาว
หากพิจารณาเป็นรายพื้นที่ พบว่าทุกภูมิภาคมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดือนก่อน และเมื่อพิจารณาเป็นภาพรวมปี 2567 พบว่า ธุรกิจโรงแรมปรับดีขึ้น สะท้อนจากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นในทุกระดับดาว และเกือบทุกภูมิภาค (ยกเว้นภาคเหนือ จากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4)
ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40 ล้านคน สอดคล้องกับประมาณการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดือนธันวาคม 2567 ที่โรงแรมมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับภาพรวมปี 2567 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักอย่างภาคกลางและภาคใต้
กลุ่มลูกค้าต่างชาติหลักในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน เอเชียและตะวันออกกลาง (ไม่รวมจีนและมาเลเซีย) และยุโรปตะวันตก ซึ่งเข้าพักโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปเป็นสำคัญ
ด้านราคาห้องพัก โรงแรมทั้งระดับ 4 ดาวขึ้นไป และไม่เกิน 3 ดาว ปรับราคาห้องพักสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราการปรับเพิ่มราคามีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากเร่งขึ้นไปมากหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 หมดลงช่วงแรก
ด้านการจ้างงานเดือนธันวาคม 2567 มีสัดส่วนโรงแรมที่เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานลดลงจากเดือนก่อน ทั้งในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และไม่เกิน 3 ดาว ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่กระทบเพียงคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบกับความสามารถในการรองรับลูกค้ามาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ
โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการให้มี 1.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในระดับสากล รวมถึงพิจารณาให้มีมาตรการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่งอีกครั้งโดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-ตุลาคม ที่เป็นโลว์ซีซั่น
2.มาตรการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโกคและพลังงาน ลดภาษีโรงเรือน และเพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษีอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามระดับรายได้ของกิจการ
3.มาตรการด้านแรงงาน สนับสนุนการเพิ่มทักษะแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านการให้บริการและการสื่อสาร รวมถึงต้องการให้ภาครัฐช่วยจัดหาและอบรมแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น อาทิ พนักงานทำความสะอาด ช่างบำรุงรักษา หรือพนักงานต้อนรับ เข้าสู่ธุรกิจโรงแรมมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องการให้ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการการจ้างแรงงานต่างชาติ ทั้งด้านความเร็วในการพิจารณาเอกสารจ้างงาน และเพิ่มสัญชาติ 4.มาตรการด้านการเงิน เช่น มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับปรับปรุงที่พักแรม และ 5.มาตรการอื่นๆ เช่น จัดเก็บภาษีกับธุรกิจต่างสัญชาติ อาทิ ธุรกิจ OTA สิทธิประโยชน์สำหรับโรงแรมที่ได้รับการรองรับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเมืองรอง
สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ 2568 เทียนประสิทธิ์ ระบุ ผู้ประกอบการมองว่า จะเป็นไปอย่างคึกคัก เกิดจากความร่วมมือของทางภาครัฐและเอกชนในการจัดงาน Amazing Thailand Countdown 2025 กิจกรรมแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568 ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกผ่านการแสดงดนตรี คอนเสิร์ต จากศิลปินที่มีชื่อเสียง และการแสดงพลุสุดยิ่งใหญ่อลังการ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Global Countdown Destination จุดหมายที่สำคัญในการเฉลิมฉลองการนับถอยหลังปีเก่าสู่ศักราชใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
รวมทั้งมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) และยกเว้นบัตร ตม.6 สำหรับด่านชายแดนทางบก การบินเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ที่เป็นปัจจัยช่วยส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 35 ล้านคนในปี 2568
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวไทยกำลังเจอโจทย์สำคัญประเดิมต้นทุนกับกรณี ซิงซิง (XingXing) นักแสดงชาวจีน ที่หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา แม้พบตัวอย่างปลอดภัยแล้ว
เทียนประสิทธิ์ ระบุว่า หากประเมินผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนนั้น มีผลแน่นอนในระยะยาว หากยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา โดยภาครัฐต้องเร่งจัดการกลุ่มอาชญากรที่แฝงตัวเข้าเมืองมาผ่านชายแดนต่างๆ หรือแม้แต่การเข้ามาผ่านเครื่องบินด้วย เพื่อป้องกันก่อนเกิดเหตุ ไม่ใช่เพียงติดตามหลังเหตุเกิดขึ้นและเร่งปิดคดีเท่านั้น
“ตลาดจีนเที่ยวไทยถือว่ามีความอ่อนไหวเรื่องความปลอดภัยมาก หากมีข่าวเชิงลบเกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้นในสื่อออนไลน์กระจายออกไปในวงกว้าง จะกระทบกับการเข้ามาเที่ยวไทยแน่นอน” เทียนประสิทธิ์ทิ้งท้าย