สนั่น อังอุบลกุล
ส่อง3ไฮไลต์ เอฟเฟ็กต์‘ศก.ไทย’
หมายเหตุ – นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย แสดงความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2568 บนปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยสุ่มเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก ที่หอการค้าไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม
หอการค้าไทยและสมาชิกสมาคมการค้า 176 สมาคม ครอบคลุม 15 กลุ่มธุรกิจ มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมองกรอบเศรษฐกิจไทยปี 2568 ขยายตัวระหว่าง 2.4-2.5% ขณะที่หลายสำนักก็มองเศรษฐกิจไทยว่ามีความท้าทายมาก ทั้งปัญหาภายในและทั่วโลก โดยเฉพาะกรณีทรัมป์ 2.0 จะมีอะไรออกมา ผมว่าไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้น แต่คนทั้งโลก รอคอยว่าในวันที่ 20 มกราคมนี้ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ไฮไลต์ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ภาคท่องเที่ยว ต้องเร่งแก้ไขดึงความเชื่อมั่นว่าการมาเที่ยวเมืองไทยนั้นปลอดภัย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยต่อปีสูงกว่าหลายประเทศ ปีก่อนประมาณ 6-7 ล้านคน ปีนี้ตั้งไว้ 9 ล้านคน ซึ่งกรณีซิงซิง (XingXing) นักแสดงชาวจีนที่หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ได้สร้างความกังวลต่อการมาเที่ยวไทย ทั้งที่เมืองไทยปลอดภัย ด้านจิตวิทยาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้นักท่องเที่ยวลังเลมาเที่ยวไทย หากไม่รีบแก้ไขจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องจูงใจดึงคนอินเดียเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ก็จะช่วยทดแทนได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งจากการที่ได้พบปะผู้ประกอบการก็กังวลว่านักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในช่วงเทศกาลตรุษจีนอาจได้รับผลกระทบจากกรณีซิงซิง ทราบว่ามียอดจองล่วงหน้ายกเลิกแล้ว 10-20%
2.ภาคส่งออก ปี 2567 การส่งออกไทยถือว่าขยายตัวได้ดีเติบโตได้ 4-5% ส่วนปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ถือเป็นตัวเลขไม่ขี้เหร่ หากสามารถกระตุ้นการลงทุนจากทั่วโลกเข้าลงทุนเพิ่มในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) และมีโปรดักต์หรือมาตรการจูงใจเสริมให้มากขึ้น เชื่อว่าตัวเลขส่งออกในอนาคตจะขยายตัวได้ดีขึ้น
3.สถานการณ์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ 0.8-1.2% ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ ต้องให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไปต่อ โดยเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรก 2568 อาจยังมีโมเมนตัมโตต่อเนื่องจากปลายปี 2567 เพราะหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก่อนถูกสหรัฐปรับขึ้นภาษี ทำให้การส่งออกช่วงครึ่งปีแรกยังโตดี แต่เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ยังน่าเป็นห่วงมาก หลังจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐเริ่มส่งผล ขณะที่กระสุนกระตุ้นของรัฐบาลถูกมองว่าหมดลงแล้ว ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งหารายได้เพิ่มเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ
คงต้องตามดูว่ารัฐบาลจะหารายได้เพิ่มวิธีไหน หน่วยงานที่ดูแลนโยบายด้านการเงินและการคลัง ควรประสานการทำงานร่วมกันในการหาเม็ดเงินเพื่อมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทางออกด้วยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากจำเป็นต้องปรับขึ้นควรค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ไม่เห็นด้วย หากจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแรง เพราะจะส่งผลกระทบต่อรายได้ประชาชน และอาจทำให้เศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวได้
ช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ภาคเอกชนยังมีความกังวลใน 2 ประเด็นคือ เม็ดเงินที่รัฐบาลจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มากนัก ภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวลงได้ ดังนั้น ต้องเร่งหารายได้เพิ่ม รวมทั้งในส่วนของมาตรการในประเทศจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคูณสอง หรือคนละครึ่ง กลับมาใช้เพื่อดึงเงินจากกระเป๋าของผู้ที่มีกำลังซื้อให้ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้ เชื่อว่าเป็นมาตรการรัฐที่ควรออกมาใช้อีกรอบ อย่างอีซี่ อี-รีซีท เป็นสิ่งที่ดี โดยหน่วยงานด้านการเงินการคลังต้องไปหารือว่าจะทำอย่างไร อย่าต่างคนต่างทำว่าจะหาตัวเงินอย่างไรกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือหารายได้จากที่ใดมาเติม เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบ ไม่อย่างนั้นเหมือนไม่มีกระสุนจะยิง ช่วงครึ่งปีหลัง 2568 เป็นเรื่องที่เรากังวลมาก
สำหรับเสถียรภาพทางการเมือง หลังมีกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ในเดือนเมษายนนี้ การปรับคณะรัฐมนตรีถือเป็นเรื่องปกติของรัฐบาล ไม่เป็นสิ่งที่สร้างความกังวล แต่ขอให้รัฐบาลมีเสถียรภาพสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ และเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องสำคัญมาก โชคดีที่ประเทศไทยที่ผ่านมาแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่นโยบายของประเทศเราก็ยังคงเส้นคงวา ต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นการปกครองประเทศ เนื่องจากเขายังรู้สึกว่าไทยต้องการและต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ
ตอนนี้รัฐบาลทำงานหนักมากโดยเฉพาะต้องหางบประมาณเพิ่มเติมอย่างไร เป็นสิ่งท้าทายรัฐบาลของเรา ว่ารายได้ที่จะเพิ่มเข้ามา รายจ่ายแน่นอนอยู่แล้ว แต่รายรับเอามาจากที่ใด ทางออกดูว่ารัฐบาลจะขึ้นภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพบว่าจะขึ้นแวต ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะทำได้แค่ไหน จาก 7-15% ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ออกมาปฏิเสธทันที แต่จะมีโอกาสเพิ่มแวตจาก 7% เป็น 8% หรือเปล่า รัฐบาลต้องไปศึกษาว่าเหมาะสมกับเวลาอย่างไรบ้าง หากขึ้นภาษีแล้วประชาชนไม่มีรายได้เพิ่ม คงทำให้เศรษฐกิจจากดีขึ้นจะชะลอตัวลงได้
ในส่วนความกังวลเรื่องทุนต่างชาติและสินค้าด้อยคุณภาพและราคาต่ำทะลักเข้าไทย โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีนนั้น สินค้าที่ทะลักไม่ใช่แค่จีนอย่างเดียว บางประเทศทำสินค้าราคาถูก ตกมาตรฐาน มี 2 เคส เป็นสิ่งที่หอการค้าไทย ได้ชูประเด็นนี้กับสภาอุตสาหกรรม เช่น เก็บแวตภาษีสินค้าออนไลน์เกิน 1,500 บาท และรัฐบาลออกมาเป็นกฎหมาย ซึ่งจีนก็ยอมรับ อยู่ที่ไทยเรา ไหวทันหรือเปล่า ทำอย่างไรให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตป้อนทั่วโลก มีทั้งของถูก ของดีด้วย บางอย่างรัฐบาลอุดหนุน เนื่องจากต้องการให้ผู้ประกอบการในประเทศผลิต แม้ล้นก็ต้องผลิต และหาช่องทางระบาย ซึ่งในอาเซียนเป็นช่องทางระบายที่เร็วที่สุด โดยเฉพาะไทย ดังนั้น รัฐบาลต้องดึงความร่วมมือและเอาจริงเอาจัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้เกิด สินค้าที่ผิดนั้นต้องเข้มงวดตั้งแต่ศุลกากร ทางรัฐไทยก็ต้องเจรจากับรัฐจีนด้วย เพื่อให้จีนควบคุมตั้งแต่ต้นทาง และส่งออกจากจีนก่อนไปประเทศอื่น อีกส่วนต้องดูว่าสินค้าใดสู้เขาไม่ได้จริงๆ จะปกป้องและรักษาสินค้านั้น อาจต้องใช้การตั้งกำแพงภาษี (เซอร์ชาร์จ) เพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่กีดกัน เป็นเรื่องแฟร์เทรด เป็นเรื่องที่เรากำลังศึกษาและหอการค้าเองกำลังดู มีการเสนอให้กับภาครัฐ หอการค้าไทย อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางที่เป็นมาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อเตรียมเสนอให้กับรัฐบาลใช้เป็นแนวทางในการรับมือกับการดูแลและปกป้องการค้าระหว่างประเทศของไทย คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อาทิ ศึกษากรณีเดียวกันในอินโดนีเซีย รวมถึงสถานการณ์ในจีนด้วย
ส่วนสินค้าออนไลน์ก็เก็บภาษี การเก็บภาษีต้องควบ ซึ่งทางจีนเขาตอบรับอยู่แล้ว ที่เขามาลงทุน และรัฐต่อรัฐต้องเจรจาในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย
กับจีนตอนนี้คงต้องเร่ง 3 เรื่อง คือ 1.เร่งสร้างความเชื่อมั่นมาเที่ยวไทย ต้องทำงานเชิงรุก 2.ทุเรียน ต้องปรับปรุงสารและพิสูจน์ให้เห็นว่าปลอดภัย อย่างช่วงโควิด ไม่ให้ทุเรียนเข้า ทางหอการค้ากับกระทรวงการต่างประเทศก็ไปคุย จนส่งออกได้ ปีหนึ่งเราส่งได้เป็นแสนล้านบาทต่อปี 3.เรื่องห้ามส่งออกน้ำเชื่อม จะรีบเคลียร์ให้เร็วที่สุด เชื่อว่าจีนเขาช่วยเราอยู่แล้ว
ส่วนทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี น่าจะดีกว่า เพราะทรัมป์ไม่อยากให้เกิดสงครามทางทหาร จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวนอย่างหนัก แต่ที่ทรัมป์มาเพื่อปกป้องเศรษฐกิจต้องอเมริกามาก่อน ต้องไปดูว่าประเทศใดได้ดุลการค้าโดยไทยได้ดุลการค้าเป็นอันดับที่ 14 อย่างไรตามภาคเอกชนก็กำลังเตรียมการรับมือและไปเจรจาอยู่แล้ว ที่เราส่งสินค้าไปสหรัฐ ได้ดุลส่วนใหญ่ผลิตโดยผู้ประกอบการอเมริกันอยู่แล้ว ไทยมีการลงทุนในสหรัฐมากพอควร ไม่ได้สร้างความกังวลมากไป