กรุงศรี-ทีทีบี คว้ากำไรปี’67 รวมกว่า 5 หมื่นล. ลดลงจากปีก่อน เหตุสินเชื่อชะลอตัว
กรุงศรีประกาศผลกำไรสุทธิปี 2567 จำนวน 29.70 พันล้านบาท หนุนลูกค้าฟื้นตัวอย่างยั่งยืน พร้อมกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงที่รอบคอบระมัดระวัง ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิที่ 5,112 ล้านบาท ในไตรมาส 4 รวมเป็นกำไรสุทธิ 21,031 ล้านบาท สำหรับรอบ 12 เดือน ปี 2567 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงบริหารจัดการได้ดี สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับต่ำที่ 2.59% พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปี 2568 มุ่งสานต่อพันธกิจเพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น และร่วมสนับสนุนแนวทางการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมและการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 21 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทีเอ็มบีธนชาตได้จ้งผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ถึงผลประกอบการปี 2567
กรุงศรีกำไรสุทธิกว่า 2.9หมื่นล.
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทในเครือ มีกำไรสุทธิจำนวน 2.97 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.8% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง ภายใต้บริบทสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทาย
กรุงศรียังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแรงส่งที่จำกัดและไม่ทั่วถึง กอปรกับปัญหาด้านเสถียรภาพโครงสร้างเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ศักยภาพการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ในภาพรวมถูกลดทอนลง โดยภารกิจหลักของธนาคารยังคงเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SME และกลุ่มลูกค้ารายย่อย ผ่านทั้งมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินระยะสั้น และการส่งมอบนวัตกรรมสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Krungsri SME Transition Loan) เพื่อให้ลูกค้าสามารถฟื้นตัวในด้านธุรกิจและสถานะทางการเงิน ตลอดจนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้บริบทที่ยั่งยืน
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2567
• กำไรสุทธิในปี 2567 จำนวน 29,700 ล้านบาท ลดลง 9.8% หรือ 3,229 ล้านบาท จากปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวังของกรุงศรี
• เงินให้สินเชื่อรวม ลดลง 6.0% หรือจำนวน 121,335 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 สะท้อนการปรับลดลงของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค กอปรกับการดำเนินการตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของกรุงศรี
• เงินรับฝาก ลดลง 0.9% หรือจำนวน 17,372 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 ตามนโยบายการบริหารสภาพคล่องอย่างเหมาะสมรัดกุม
• แม้ว่าอุปสงค์ต่อเงินให้สินเชื่อจะอ่อนตัวลง อย่างไรก็ดี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังคงเพิ่มขึ้นมาที่ 4.28% จาก 3.91% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศที่ควบรวมในปี 2566 ที่เป็นการรับรู้รายได้ทั้งปี
• รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 14.7% หรือ 5,827 ล้านบาท จากปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิทั้งส่วนที่มาจากบริษัทลูกในต่างประเทศและธุรกิจในประเทศ กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน และหนี้สูญ
รับคืน
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ 44.4% เทียบกับ 44.5% ในปี 2566
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.23% เทียบกับ 2.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 245 เบสิสพอยท์ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 123.2%
• อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 19.38% เทียบกับ 18.24%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566
นายเคนอิจิ กล่าวว่า ท่ามกลางอุปสงค์ต่อสินเชื่อที่ยังคงเปราะบาง กรุงศรีในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ ยังคงให้การสนับสนุนด้านบริการที่ปรึกษา รวมถึงการเปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินด้านความยั่งยืน และเป็นผู้นำในตลาดพันธบัตรด้านความยั่งยืนในปี 2567 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 18.9%
นายเคนอิจิ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.9% เมื่อเทียบกับ 2.7% ในปี 2567 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐที่กลับมาขยายตัวตามปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งแรกของปี 2568 ขณะที่การลงทุนจะเติบโตได้ในระดับที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจได้แก่ผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่กำลังปรับทิศทาง รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ กอปรกับยังคงมีความท้าทายของปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.90 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.82 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.62 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 317.63 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 19.38% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 15.11%
ทีเอ็มบีธนชาตกำไรสุทธิ 2.1 หมื่นล้านบาท
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ทีทีบี แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2567 โดยธนาคารและบริษัทย่อยยังคงมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายและมีกำไรสุทธิที่ 5,112 ล้านบาท ในไตรมาส 4 รวม 12 เดือน ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 21,031 ล้านบาท หนุนโดยการควบคุมต้นทุนใน 3 ส่วนหลัก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการดำเนินงาน และต้นทุนความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย ขณะที่สภาพคล่องและฐานะเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ
“โดยในปี 2567 ผลการดำเนินงานโดยรวมถือเป็นไปตามเป้าหมายสำหรับการบริหารต้นทุน ธนาคารในความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การบริหารต้นทุนทางการเงินผ่านการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารเน้นย้ำการมีวินัยด้านค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลและเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ ในโมบายแอปพลิเคชัน เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการให้บริการมีแนวโน้มลดลง และท้ายสุด คือ การควบคุมต้นทุนความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ เน้นย้ำการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพและเน้นกลุ่มที่ธนาคารมีความชำนาญและเข้าใจความเสี่ยงเป็นอย่างดี พร้อมกันนั้นก็แก้ปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก โดยในปี 2567 มีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการรวบหนี้แล้วกว่า 37,000 ราย เพิ่มขึ้นจากระดับ 17,000 ราย ณ สิ้นปี 2566 เทียบเท่ากับว่าธนาคารสามารถช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยไปได้กว่า 2,100 ล้านบาท”
จากการดำเนินการดังกล่าว สถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์จึงมีเสถียรภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลง 5% จากปีก่อนหน้าและอัตราส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.59% จาก 2.62% ในปี 2566 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ลดลง 11% จากปีก่อน ถือเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปี 2567 ทั้งนี้ แม้ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ จะลดลง แต่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพฯ ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 151%
สำหรับผลการดำเนินงานรายการหลัก ๆ ในไตรมาส 4 และ 12 เดือน ปี 2567 มีดังนี้
สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2567 อยู่ที่ 1,241 พันล้านบาท ชะลอลง 1.0% และ 6.6% จากไตรมาส 3 (QoQ) และสิ้นปี 2566 (YTD) ตามลำดับ สอดคล้องกับแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ โดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามแผนการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถแลกเงิน (+6% YTD) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (+12% YTD) สินเชื่อบุคคล (+10% YTD) และบัตรเครดิต (+7% YTD) ทั้งนี้ การลดลงของสินเชื่อรวมมีสาเหตุหลักจากการชำระคืนหนี้ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะตลาดรถยนต์ที่ยังคงหดตัว รวมถึงการบริหารหนี้เสียเชิงรุกผ่านการขายและตัดหนี้สูญ ซึ่งทำให้ยอดหนี้เสียลดลง 5% YTD
ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,329 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% QoQ ตามการขยายตัวของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ แต่ชะลอลง 4.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในกลุ่มเงินฝากต้นทุนสูง ซึ่งเป็นไปตามแผนบริหารสภาพคล่องและเพื่อให้สมดุลกับแนวโน้มการเติบโตสินเชื่อใหม่ ขณะที่เงินฝากจากลูกค้ารายย่อยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแผน เช่น เงินฝาก ttb all free ทั้งนี้ ด้านสภาพคล่องยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ซึ่งอยู่ที่ 93%
ในด้านรายได้ ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 17,133 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,496 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2567 รวม 12 เดือน ปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 69,399 ล้านบาท ลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2566 (YoY) สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 29,571 ล้านบาท ลดลง 4.9% YoY ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในปี 2567 อยู่ที่ 42.6% ลดลงจาก 43.6% ในปีก่อนหน้า เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย
ด้านค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ มีจำนวน 4,690 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2567 รวม 12 เดือน ปี 2567 ดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 19,852 ล้านบาท ลดลง 10.6% YoY หลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2567 ที่ 5,112 ล้านบาท และ 21,031 ล้านบาท ตามลำดับ
ท้ายสุดด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2567 อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) อยู่ที่ 19.3% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) อยู่ที่ 16.9% ยังคงสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% สำหรับ CAR และ 9.5% สำหรับ Tier 1
นายปิติกล่าวว่า สำหรับปี 2568 นี้ ทีทีบีจะยังคงมุ่งมั่นและเน้นย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบภายใต้กรอบ B+ESG เพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพสามารถสร้างประโยชน์ต่อสู่ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งสานต่อพันธกิจมุ่งมั่นให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น (Financial Well-being) พร้อมทั้งเดินหน้าสนับสนุนแนวทางการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน