พณ.กระตุ้นผู้ส่งออกน้องใหม่ ใช้สิทธิประโยชน์การค้า‘เอฟทีเอ’

ส่งออก

ขณะที่ รัฐบาลแพทองธาร และ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสำคัญในการเร่งเจรจา เขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ซึ่งในปี 2568 นี้ และเร่งเดินหน้าผลักดัน FTA กับประเทศสำคัญโดยสหภาพยุโรป (EU) 27 ประเทศ รวมถึงอิสราเอล ภูฏาน ยูเออี เกาหลีใต้ แคนาดา และอังกฤษ จากต้นปีนี้ มีการลงนาม FTA ไทย-เอฟต้า ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และลิกเตนสไตน์

โดยแต่ละความร่วมมือหลังเปิดเสรีแล้ว มุ่งหวังให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้ศึกษาไว้ ว่าทุกการเปิดเสรีการค้าจะช่วยผลักดันจีดีพีต่อปีให้เพิ่มได้อีกอย่างต่ำ 0.7-1.0% ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้การเปิดเสรีการค้าได้ประโยน์สูงสุด คือ การผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า

ตัวเลขล่าสุดของการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าผ่าน FTA ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้ความตกลง FTA รวม 76,275.47 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 83.62% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 0.73% ซึ่งเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 โดยเป็นการส่งออกไปอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 28,772.55 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 78.08% อันดับสองเป็นการใช้สิทธิภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 20,871.26 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ 90.01% อันดับสามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 6,335.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ 84.03% อันดับสี่ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 5,636.45 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ 58.27% อันดับห้า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 4,987.16 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ 64.28%

โดยคาดการณ์ตัวเลขการใช้สิทธิ FTA ทั้งปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 0.7-0.8% ใกล้เคียงแง่มูลค่า เนื่องจากการส่งออกไปจีน ซึ่งมีการใช้สิทธิภายใต้FTA เป็นอันดับสองหดตัวลง

จากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวโดยกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิลดลง อาทิ ทุเรียนสด ยางสังเคราะห์ สตาร์ช จากมันสำปะหลัง และพอลิเมอร์ของเอทิลีน

ADVERTISMENT

สำหรับ FTA ที่น่าจับตามองมากที่สุดในปี 2568 คือ ไทย-ศรีลังกา ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทยที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 แม้ว่าศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือของโลก เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ดังนั้น จะมีส่วนช่วยในการขยายตลาดการส่งออกและผลักดันมูลค่าการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน

ในส่วน FTA จำนวน 14 ฉบับของไทยที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นที่แน่นอนว่าในปี 2568 FTA ที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เป็น FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุดมาโดยตลอด โดย 11 เดือนแรก 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 4.53% และสินค้าที่น่าสนใจเนื่องจากมีมูลค่าการใช้สิทธิโตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี คือ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิที่ 660.02 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนโต 105.27% และเป็นการส่งออกไปยังทุกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกไปยังอินโดนีเซียมากสุด ยิ่งไปกว่านั้น ความตกลงฉบับนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น คาดว่าหากสามารถเจรจาได้เสร็จตามเป้าในปี 2568 และน่าจะเริ่มใช้เดือนมีนาคมนี้ จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้สิทธิที่มากอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ความตกลงที่มีมูลค่าการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 อีกฉบับที่น่าสนใจ คือ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ที่ 11 เดือนแรก 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 3,449.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.96% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แบ่งเป็นการใช้สิทธิ เพื่อส่งออกไปยังออสเตรเลีย 3,285.53 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิสูง 5 อันดับแรกเป็นสินค้ายานยนต์ สำหรับการส่งออกไปนิวซีแลนด์ 163.70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าใช้สิทธิสูง อาทิ แผ่นอะลูมิเนียมเจือ กากเหลือจากการผลิตสตาร์ช เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน อีกประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ฉบับอัพเกรด จะมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาสสอง 2568 ซึ่งความตกลงฉบับอัพเกรดนี้ได้ปรับปรุงกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการค้าในปัจจุบัน เพิ่มรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-certification) ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และปรับปรุงเกณฑ์ถิ่นกำเนิดเฉพาะ รายสินค้า 253 รายการ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับกระบวนการผลิตจริงมากขึ้น ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเตรียมการรองรับการบังคับใช้ดังกล่าว

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า แม้ปี 2568 คาดการณ์ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่มีความเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน หรือความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ กรมการค้าต่างประเทศขอเน้นย้ำว่า FTA ทั้ง 14 ฉบับกับ 18 ประเทศคู่ค้า และล่าสุดฉบับที่ 15 กับศรีลังกา ที่รัฐบาลได้มุ่งมั่นเจรจาเพื่อขยายตลาดในการส่งออก จะเป็นทางรอดและตัวช่วยสำคัญของธุรกิจไทยในการกระจายความเสี่ยงในการส่งออกไปยังตลาดที่ผู้ส่งออกไทยจะมีแต้มต่อด้านภาษีและลดผลกระทบที่อาจเกิดจากความไม่แน่นอนต่างๆ ดังนั้น กรมเดินหน้าจัดสัมมนาและทำ Workshop เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะดึงรายใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิ ปีนี้กำหนดเจาะใน 10 จังหวัด คือ ระยอง สงขลา นครพนม พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ลำพูน หนองคาย และชลบุรี

พร้อมกับวางเป้าหมายจะผลักดันใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เพิ่มขึ้นอีก 2% ทั้งสัดส่วนการใช้สิทธิให้แตะ 85% และมูลค่าเพิ่มจากการใช้สิทธิเพิ่มเป็น 2% จากที่ผ่านมาไม่ถึง 1%